สัตว์และพืชกว่า 1 ล้านสปีชีส์ตกอยู่ในความเสี่ยงของการสูญพันธุ์อันเป็นผลมาจากการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยละเลยธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ประเด็นการสูญพันธุ์ การตัดไม้ทำลายป่า หรือการทำประมงเกินขนาด ต่างเป็นความห่วงกังวลอยู่ในกระแสตามหน้าข่าวสารและการถกแถลงของสังคมที่มีมากขึ้น
Economist Intelligence Unit (EIU) ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเทรนด์การค้นหาใน Google เรื่องการสูญเสียธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และที่ปรากฏตามหน้าข่าว รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ ระหว่างปี 2559 – 2563 ใน 54 ประเทศ ครอบคลุม 80% ของประชากรโลก พบว่า เฉพาะ Google ช่องทางเดียว คิดเป็นการค้นหาในโลกเพิ่มขึ้น 16% ตั้งแต่ปี 2559 โดยเฉพาะจากฝากเอเชีย ที่มีการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 190% ในอินเดีย, 88% ในปากีสถาน, และ 53% ในอินโดนีเซีย
หากสำรวจกระแสความสนใจของผู้คนผ่านข้อความในทวิตเตอร์ ส่วนใหญ่พบว่าบทสนทนาว่าด้วยเรื่องการสูญเสียธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวิภาพ พุ่งทะยานสูงขึ้นในบรรดาประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) คิดเป็น 65% ตั้งแต่ปี 2559 : ที่ 38% ในภูมิภาคเอเชีย, 53% ในแถบแอฟริกาซับซาฮารา, 136% ระหว่างปี 2559 – 2562 ในภูมิภาคอเมริกาใต้ โดยสำหรับอินเดีย มีจำนวนทวีตเพิ่มขึ้นถึง 550% จาก 230,020 ทวีตในปี 2559 เป็น 1.5 ล้านทวีตในปี 2563
ขณะที่บทสนทนาเกี่ยวกับประเด็น ‘สินค้าที่ยั่งยืน’ มีเพิ่มสูงขึ้นถึง 71% ตั้งแต่ปี 2559 โดยที่ประเทศซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ก็มีความต้องการบริโภคสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืนไม่ต่างจากประเทศที่ร่ำรวย (อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ เยอรมัน ออสเตรเลีย และแคนาดา) เช่นที่ 41% ของผู้บริโภคในจีนต้องการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในอินเดีย สินค้าที่บ่งชี้ว่าทำมาจากธรรมชาติหรือ ‘ออร์แกนิก’ ขายดีขึ้น 13% ตั้งแต่ปี 2561
จนอาจกล่าวได้ว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นประเด็นที่ประเทศที่ร่ำรวยใส่ใจแต่เพียงเท่านั้น แต่ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ เหล่านี้ก็ตระหนักถึงความสำคัญและแสดงออกถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดการปัญหา-เรียกร้องให้รัฐบาลและภาคเอกชนคำนึงถึงเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
และเมื่อความใส่ใจและความกังวลมีขึ้นมาก การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหลายภาคส่วนของสังคมก็มีมากตามไปด้วย
บรรดาผู้ที่มีบทบาทในสังคม (influencers) ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักแสดง ผู้นำทางศาสนา ต่างใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ พูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมผ่านข้อความที่สามารถเป็นกระบอกเสียงส่งถึงผู้คนเกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลก ในแง่นี้ ผู้ที่มีบทบาทในสังคม สื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ล้วนเป็น ‘ปัจจัยสำคัญ’ ของการขับเคลื่อนประเด็นทางสิ่งแวดล้อม เช่นที่ปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ข่าวสารของในแต่ละวันได้แสดงความเชื่อมโยงของสถานการณ์โรคระบาด ไฟป่า และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการกระทำ/กิจกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของโลกอย่างไร
ขณะเดียวกัน ทางฝากธุรกิจ อาทิ ภาคอาหาร เครื่องสำอาง และยารักษาโรค ก็ได้มีการเริ่มปรับแนวปฏิบัติที่เป็นการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพด้วยเช่นกัน โดยในปี 2563 มีจำนวนมากขึ้น 45% จากปี 2559 เช่นเดียวกับ 60% ของแบรนด์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นในอเมริกาเหนือและยุโรปก็ได้เดินหน้าส่งเสริมมาตรการด้าน ‘ความยั่งยืนด้วย’ และยกให้ ‘ความยั่งยืน’ เป็นหนึ่งในอันดับความสำคัญลำดับต้นในปี 2563 ด้วย
● เข้าถึงการศึกษาได้ที่ : THE ECO-WAKENING
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.6) สนับสนุนให้ ‘บริษัทเอกชน’ บริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงในวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
– (12.7) ส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างของ ‘ภาครัฐ’ ที่ยั่งยืนตามนโยบายและการให้ลำดับความความสำคัญของประเทศ
#SDG15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 จะปกป้องและป้องกันการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม