Site icon SDG Move

SDG Vocab | 18 – Integrated Water Resources Management – การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม (IWRM)

องค์กรหุ้นส่วนน้ำโลก (Global Water Partnership) อธิบาย ‘การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม’ หรือ Integrated Water Resources Management (IWRM) ว่าเป็น ‘กระบวนการที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาและบริหารจัดการร่วมกันระหว่างทรัพยากรน้ำ ผืนดิน และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม โดยเป็นการบริหารจัดการที่คำนึงถึงความเสมอภาคและความยั่งยืนของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญ’

ที่ว่าต้องเป็น ‘องค์รวม’ โดยให้เป็นความร่วมมือข้ามสาขาและข้ามหน่วยงานไปจนถึงการจัดการน้ำข้ามแดนตามความเหมาะสม (transboundary cooperation as appropriate) นั้น เพราะการใช้ทรัพยากรน้ำมีเป้าประสงค์ที่หลากหลาย และการที่แยกส่วนกันใช้หรือแยกส่วนกันบริหารจัดการย่อมจะส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอด จนอาจส่งผลให้ ‘ไม่มีความมั่นคงทางน้ำ’ อาทิ การใช้น้ำปริมาณมากเพื่อการชลประทานในการเกษตร อาจหมายถึงการสูญเสียน้ำดื่มสะอาดหรือน้ำใช้เพื่อการอุตสาหกรรม, น้ำเสียจากพื้นที่เทศบาล-น้ำปนเปื้อนจากโรงงาน อาจกลายเป็นมลพิษในแม่น้ำที่ทำลายระบบนิเวศ, แต่หากต้องคงไว้ซึ่งปริมาณน้ำในแม่น้ำเพื่อปกป้องการประมงและระบบนิเวศ ก็อาจส่งผลให้มีปริมาณน้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชพันธุ์ที่น้อยเกินไปก็เป็นได้ นอกจากนี้ การใช้ทรัพยากรน้ำซึ่งมีอยู่จำกัดโดย ‘ไม่มีการควบคุม’ (unregulated) เลย ก็จะเป็นการเสียน้ำไปโดยใช่เหตุ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งแย่งชิงน้ำ และส่งผลให้การใช้น้ำ ‘ไม่มีความยั่งยืน’

ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม จะต้องเป็นนโยบายที่ข้ามสาขากันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ ดิน และทรัพยากรอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ‘ความยั่งยืน’ ทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลก-ระบบนิเวศ-เกษตรกรรมที่ยั่งยืน การเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างเป็นประชาธิปไตย และสนับสนุนให้สุขภาพของคนดีขึ้น

เพื่อให้เห็นภาพการบริการจัดการที่ชัดขึ้น 4 องค์ประกอบในการประเมินระดับการดำเนินงานการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ IWRM (0-100) ตามเกณฑ์ตัวชี้วัดของเป้าหมาย #SDG6 6.5.1 ที่ประชุมสหประชาชาติโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN World for Sustainable Development 1992) ระบุไว้ว่ามี – สภาพแวดล้อมอันประกอบไปด้วยนโยบาย กฎหมาย แผนและยุทธศาสตร์ที่เอื้อให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นองค์รวมได้, การมีส่วนร่วมผ่านทางสถาบันทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และการอำนวยการ, เครื่องมือการจัดการและตัดสินใจ, และการเงิน โดยจะต้องเป็นการดำเนินงาน ‘ในทุกระดับ’ – ประเทศ/ภูมิภาค/จังหวัด/ท้องถิ่น

ในทางหนึ่ง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นองค์รวมยังได้สนับสนุนผลลัพธ์ ‘ทุกเป้าประสงค์’ ของ #SDG6 ตั้งแต่ 6.1 (น้ำดื่มปลอดภัย ราคาซื้อหาได้) 6.2 (สุขาภิบาลและสุขอนามัยที่ดี) 6.3 (คุณภาพน้ำ) 6.4 (หลักประกันว่าจะมีน้ำใช้-จัดหาน้ำที่ยั่งยืน) 6.6 (ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ) และยังสนับสนุนการลงมือปฏิบัติตาม 6.a (ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านน้ำ) และ 6.b (ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการจัดการน้ำและสุขอนามัย)

นอกจากนี้ ประเด็นความต้องการน้ำหรือผลกระทบจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ยังสัมพันธ์กับ SDGs อื่น ๆ อาทิ

ทั้งนี้ สำนักบริหารจัดการน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ นิยามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไว้ว่า ‘ความพยายามควบคุมน้ำที่มีอยู่ตามวัฎจักรและเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ไหลบนดิน ใต้ดิน เมื่อฤดูน้ำแล้งก็ต้องมีการกักเก็บน้ำ/การผันน้ำ/สูบน้ำ/ส่งไปในพื้นที่กำหนดให้มีปริมาณตามความต้องการใช้งาน เมื่อฤดูฝนก็ต้องระบายน้ำส่วนเกินออกจากพื้นที่ไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยรักษาคุณภาพและปริมาณในลำน้ำให้เหมาะสมกับระบบนิเวศลุ่มน้ำโดยอาศัยเครื่องมือและการจัดการ’

#SDG6 เป้าประสงค์ที่ 6.5 – ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573’

Target 6.5: By 2030, implement integrated water resources management at all levels, including through transboundary cooperation as appropriate


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 6 (2562)
Integrated Water Resources Management (Global Water Partnership)
Unstat Metadata 6.5.1

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version