UNAIDS จัดวงประชุมในหัวข้อ “แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อยุติโรคเอดส์ : 10 ปี ถึง 2030”

การติดเชื้อ HIV เกิดจากความเหลื่อมล้ำ : การอภิปรายในประเด็นความเหลื่อมล้ำเพื่อการยุติโรคเอดส์: 10 ปี ถึง 2030 (Addressing Inequalities to End AIDS: 10 Years to 2030) ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวทีรองในงาน United Nations High-Level Meeting on AIDS เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเป็นเวทีแบ่งปันกลยุทธ์และการดำเนินการเพื่อยุติการแพร่ระบาดของเอชไอวีที่มาจากประสบการณ์และบทเรียนของการตอบสนองต่อการรักษาและป้องกันเอชไอวีในสี่สิบปีที่ผ่านมาจากคนทำงานในประเทศสมาชิกสหประชาชาติและ UNAIDS รวมถึงนักวิชาการ และนักกิจกรรม

ผู้ร่วมอภิปรายทั้งหมดได้เน้นย้ำให้ถึงความจำเป็นของการการดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน (transformative action) โดยมีหลักฐานประกอบอย่างเร่งด่วน เพื่อปลดล็อกการขับเคลื่อนทางสังคมและทลายอุปสรรคทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ เชื้อชาติ และเพศ ซึ่งรวมถึงกฎหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติในเชิงลงโทษ การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อการผู้เชื้อเอชไอวี ความแตกต่างทางเพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยอุปสรรคเหล่านี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่เป็นตัวการทำให้การแพร่ระบาดของเอชไอวียังดำรงอยู่ ยิ่งฝังรากลึกและขยายความรุนแรงขึ้น

ผู้อภิปรายได้กล่าวถึงความสำคัญของบทเรียนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเอชไอวีและโควิด-19 ที่ทำให้โลกได้เห็นว่า โรคระบาดจะยังคงลุกลามต่อไป เว้นเสียแต่ว่าทุกประเทศ ทุกชุมชน และทุกคนจะสามารถเข้าถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยปราศจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติ และได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีที่เป็นธรรมและการกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมกันและมีความเคารพต่อความหลากหลายทั้งหมดเท่านั้น

ตัวอย่างสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในการแพร่ระบาดของเอชไอวีที่เกิดขึ้น คือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีใหม่ที่เป็นวัยรุ่นในอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราเป็นเพศหญิงถึง 6 ใน 7 ราย หนึ่งในผู้อภิปรายคือผู้อำนวยการบริหารของ UNAIDS ได้ตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นเพราะความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจระหว่างเพศ ที่ต้องแก้การการแก้ไขโดยมุ่งเน้นให้บริการป้องกันในระดับชุมชนเป็นพิเศษแก่เด็กสาววัยรุ่น ผู้หญิงและคู่ชีวิตของพวกเธอ

เจฟฟรีย์ แซคส์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ได้ย้ำเตือนผู้เข้าร่วมวงประชุมว่า แผนการดำเนินงานที่มีการกำหนดเป้าหมายอย่างดี มีกรอบเวลาชัดเจน และมีข้อมูลหลักฐานประกอบจะต้องได้รับการสนับสนุนด้วยเงินทุนที่เพียงพอ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศหรือชุมชนที่ยากจนเท่านั้น แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวย ประชาชนก็จะไม่สามารถมีสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีได้

โดยสรุปแล้ว ความเหลื่อมล้ำเป็นตัวขับเคลื่อนการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคอื่นๆ ต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ด้วยนโยบาย กลยุทธ์ และกฎหมายที่เหมาะสม เพื่อยุติโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี 2030 และในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความพร้อมในการรับมือโรคระบาดครั้งใหม่ด้วย

รับชมบันทึกการประชุม Addressing Inequalities to End AIDS: 10 Years to 2030

ประเด็นความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ขัดขวางการดำเนินการเพื่อยุติโรคเอดส์ เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ (3.3)
- SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ 
- SDG16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

ที่มา: UNAIDS

Last Updated on มิถุนายน 11, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น