Modern energy services คือ บริการพลังงานสมัยใหม่ โดยคำจำกัดความรวมถึง การเข้าถึงไฟฟ้าและการใช้เตาที่มีประสิทธิภาพและเชื้อเพลิงหุงต้มและที่สะอาด ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน ตรงข้ามกับแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม เช่น ฟืน ถ่านไม้ แกลบ ชานอ้อย เป็นต้น ตัวอย่างของพลังงานสมัยใหม่ ได้แก่ ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อบ้านพักอาศัย (Solar Home Systems) เพื่อให้แสงสว่าง ก๊าซธรรมชาติที่ใช้กับเตาสมัยใหม่สำหรับประกอบอาหาร และเครื่องยนต์ที่ใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงเพื่อการแปรรูปทางการเกษตร
บริการพลังงานสมัยใหม่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเป็นพิเศษ การเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่เป็นสิ่งจำเป็นในระดับครัวเรือนผ่านการใช้เชื้อเพลิงและเตาในการประกอบอาหารและการทำความร้อน ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผล เช่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานกลเพื่อการเกษตร สิ่งทอ และอุตสาหกรรมอื่นๆ และเป็นประโยชน์ต่อบริการสาธารณะ เช่น พลังงานทดแทน ไฟฟ้าสำหรับสถานพยาบาล โรงเรียน และไฟถนน
ข้อมูล UN metadata ให้รายละเอียดของการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ว่าต้องคำนวณจากสัดส่วนประชากรที่พึ่งพาพลังงานและเทคโนโลยี ‘สะอาด’ เป็นหลักในการประกอบอาหาร การทำความร้อน และการให้แสงสว่าง โดยไม่เพียงแค่พิจารณาว่าใช้รูปแบบพลังงานทันสมัย หรือพลังงานที่ไม่ใช่ของแข็งอย่างฟืน ไม้ เท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงเทคโนโลยีที่ใช้กับเชื้อเพลิงแต่ละประเภทด้วย (เตา ตะเกียง และอื่น) เช่น ไม่ให้ใช้ถ่านหินที่ยังไม่แปรรูปและไม่สนับสนุนการใช้น้ำมันก๊าด (ที่แม้จะเป็นเชื้อเพลิงของเหลว แต่มีควันมาก) และแนะแนวทางว่าการใช้พลังงานในครัวเรือนที่สำคัญทั้งหมดต้องใช้เชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพและการผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
คำว่า ‘บริการพลังงานสมัยใหม่’ อยู่ใน #SDG7 เป้าประสงค์ 7.1 – สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573
Target 7.1: By 2030, ensure universal access to affordable, reliable and modern energy services
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
UN Stat SDG Indicator Data (7.1)
Defining energy access: 2020 methodology
Last Updated on มกราคม 3, 2022