ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโก (UNESCO) ร่วมกับรัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมนี จัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNESCO World Conference on Education for Sustainable Development : ESD) ในรูปแบบออนไลน์ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีศึกษาและรองรัฐมนตรีกว่า 80 ท่าน และ ผู้ปฏิบัติงานด้านการกำหนดนโยบายการศึกษา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ผู้แทนหน่วยงานภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญ จำนวนกว่า 2,500 คน จากทุกภูมิภาคทั่วโลก
หลังการประชุมสามวัน ที่ประชุมได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของโลก โดยให้การรับรอง Berlin Declaration on Education for Sustainable Development (ESD) หรือ ปฏิญญาเบอร์ลินว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเรียกร้องให้ ESD เป็นองค์ประกอบหลักของระบบการศึกษาทุกระดับภายในปี 2568
ปฏิญญาเบอร์ลินว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้สรุปนโยบายต่างๆ เพื่อปฏิรูปการเรียนการสอน การฝึกอบรม และความเป็นพลเมือง อีกทั้งยังเน้นย้ำความจำเป็นในการประยุกต์ใช้ ESD โดยเน้นที่ทักษะทางปัญญา การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ ทักษะการทำงานร่วมกัน การแก้ปัญหา การสร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวให้ผู้เรียน
ในการประชุม แต่ละประเทศได้นำเสนอแผนบูรณาการ ESD ในระบบการศึกษา Anja Karliczek รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี กล่าวว่า 18 ประเทศในสหภาพยุโรปจะดำเนินการตามกรอบการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับปี 2030 (Education for Sustainable Development for 2030 framework) และเน้นย้ำว่า ESD เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการบรรลุ SDGs ทุกเป้าหมาย
Laurent Fabius ประธานการประชุม COP21 ซึ่งได้รับรอง ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 กล่าวว่า “การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มต้นที่โรงเรียน” เรียกร้องให้มีการพัฒนาการฝึกอบรมครูเกี่ยวกับ ESD และเพิ่มเงินทุนสนับสนุนให้มากขึ้น
ทั้งนี้ จากรายงาน ‘Learn for our planet. a global review of how environmental issues are integrated in education‘ ของยูเนสโก ได้วิเคราะห์แผนการศึกษาและกรอบหลักสูตรในเกือบ 50 ประเทศ ระบุว่า มากกว่าครึ่งไม่มีเนื้อหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีเพียง 19% เท่านั้นที่พูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ
การรับรองปฏิญญาเบอร์ลินในครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้ทุกประเทศดำเนินการตาม ESD for 2030 Roadmap ซึ่งเป็นกรอบการทำงานว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทศวรรษนี้
ศึกษาเพิ่มเติม SDG Vocab | 12 – Education for Sustainable Development – การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ในประเด็น เน้นให้ทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (4.7)
ที่มา : UNESCO