นักวิจัยจาก Universitat Oberta de Catalunya (UOC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยออนไลน์แห่งแรกของโลก ได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในงานวิจัยเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุทางจราจรในเมืองให้ผู้กำหนดนโยบายใช้เป็นแนวทางในการวางผังเมือง โดยมีความหวังว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุทางท้องถนน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปประมาณ 1.35 ล้านคนทุกปี
องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตทั้งหมดบนท้องถนนนั้นอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ถนนที่ “เปราะบาง” ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน นักปั่นจักรยาน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และเมื่อผู้คนย้ายเข้ามาอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาความปลอดภัยบนท้องถนนในเมืองและชุมชนเป็นสำคัญ
ในประเทศสเปน แม้จะมีการล็อกดาวน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเมืองหลวงอย่างมาดริด มากกว่า 2,000 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 31 ราย และเกิดในบาร์เซโลนา 5,700 ครั้ง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย
นักวิจัยได้นำ AI มาใช้วิเคราะห์คลิปวิดีโอความยาวหลายชั่วโมง และภาพถ่ายการใช้ชีวิตหลายพันภาพในเมืองใหญ่ทั้งสองเมือง โดยรวมความสามารถ AI ทั้งสองด้านเข้าด้วยกันนั่นคือ ส่วนการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเครื่อง (machine learning) และ โครงข่ายประสาทเทียม (artificial neuron network) เพื่อค้นหารูปแบบร่วมในเขตเมืองที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดย machine learning จะสามารถปรับการทำงานเมื่อรับรู้รูปแบบต่างๆ ในรูปของข้อมูล ในขณะที่ artificial neuron network จะเลียนแบบวิธีที่สมองทำความเข้าใจข้อมูลหลายชั้น
การวิจัยพบว่า ลักษณะทางกายภาพบางประการสร้างปัญหาให้กับผู้ขับขี่ และยิ่งสภาพแวดล้อมหนาแน่นไม่เป็นระเบียบมากเท่าไร ผู้ขับขี่ก็ยิ่งมีสมาธิยากขึ้นเท่านั้น รูปแบบบางอย่างในผังเมือง เช่น การจัดวางม้านั่ง งานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ ป้ายโฆษณาสีสันที่ตั้งอยู่ใกล้ถนน และตำแหน่งของรถยนต์ที่จอดอยู่นั้นอาจส่งผลต่ออัตราการเกิดอุบัติเหตุ
ในขณะที่ AI สามารถวิเคราะห์และข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญได้ นักวิจัยเชื่อว่าถนนในเมืองจะปลอดภัยขึ้นก็ต่อเมื่อการวิเคราะห์นั้นรวมเข้ากับความเชี่ยวชาญของสถาปนิก วิศวกร เจ้าหน้าที่ระบบคมนาคม และนักวางผังเมืองด้วย
อุบัติเหตุบนท้องถนนในเมือง เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย .. - SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (3.6) - SDG11 เมืองและชุมชนยั่งยืน ในประเด็น การเข้าถึงคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ปลอดภัย จ่ายได้ และคำนึงคนเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ด้วย (11.2)
ที่มา: World Economic Forum , ACM
Last Updated on มิถุนายน 17, 2021