เอกสารสำรวจตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย Illegal wildlife trade in the lower Mekong (มิถุนายน 2564) ที่เก็บข้อมูลระหว่างปี 2562 – 2563 เผยแพร่โดย TRAFFIC เครือข่ายองค์กรไม่แสวงผลกำไร* พบว่ามีการค้าสินค้าและชิ้นส่วนจากสัตว์ป่าที่ห้ามไม่ให้มีการค้าขาย ประมาณ 78,000 ชิ้น อาทิ เครื่องประดับชิ้นเล็กที่ทำจากงาช้าง เกล็ดของตัวนิ่ม และจี้สร้อยคอที่มีชิ้นส่วนของนกชนหิน (ซึ่งกำลังใกล้สูญพันธุ์) จากมากกว่า 1,000 ร้านค้าใน 5 ประเทศแม่โขงตอนล่างหรือภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ลาว ไทย เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา
โดยยังพบในพื้นที่/ตลาดในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศนั้น ๆ ซึ่งตั้งต้นจากความพยายามสานสัมพันธ์ทางการค้าขายและการลงทุนกับจีน แต่ส่วนหนึ่งกลับมีการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายโดยเฉพาะที่ส่วนใหญ่ของความต้องการซื้อเหล่านั้นมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน
ก่อนที่จะมีข้อจำกัดเดินทางเป็นมาตรการตอบสนองต่อโรคระบาด มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาท่องเที่ยวใน 5 ประเทศแม่โขงตอนล่างกว่า 20 ล้านคนต่อปี ทำให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าขายได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม K. Yoganand หัวหน้าระดับภูมิภาคประจำประเทศลาว ส่วนงานด้านสัตว์ป่าและอาชญากรรมสัตว์ป่าของ WWF Greater Mekong ระบุว่า ในขณะเดียวกัน ส่วนที่มีการค้าขายกันมากก็คือชิ้นส่วนและสินค้าจากสัตว์ป่า เรียกได้ว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเป็น ‘ปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ’ ให้เกิดการซื้อ-ขายสัตว์ป่าในภูมิภาคด้วย
โดยมากกว่า 70% ของสินค้าเป็นชิ้นส่วนที่ได้มาจากช้างโดยเฉพาะงาช้างซึ่งเป็นที่นิยมมากแม้ว่าทางรัฐบาลจีนจะออกมาตรการห้ามในประเทศเมื่อปี 2560 ก็ตาม ทว่านั่นทำให้ความต้องการซื้อและความต้องการขาย เปลี่ยนสถานที่มาชุกชุมในบริเวณ 5 ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างมากขึ้น แม้การซื้อต่อคนจะมีสัดส่วนน้อย แต่ด้วยความที่การซื้อขายมีให้เห็นโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้ในภาพรวมของปริมาณการค้างาช้างมีจำนวนมากไปด้วย ซึ่งทางองค์กร TRAFFIC มองว่า การต่อต้านอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับภูมิภาคนี้ – โดยเฉพาะในแง่ของกรอบกฎหมายและกฎระเบียบในการควบคุม-ต่อต้านอาชญากรรมค้าสัตว์ป่า (the diplomat)
คงจะไร้เดียงสาเกินไปที่จะคิดว่าเพียงเพราะเกิดโรคระบาดแล้วจะสามารถหยุดยั้งอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าได้ในระยะยาว… การติดตามสถานการณ์และการสืบสวนจะต้องมีต่อไป การหาความจริงจากพื้นที่มีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า บรรดาผู้ลักลอบฆ่า-ค้าและผู้บริโภคเอง จะตอบสนองและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (มาตรการและข้อจำกัดในช่วงโควิด-19) นี้อย่างไร
– Kanitha Krishnasamy, ผู้อำนวยการองค์กร TRAFFIC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
*TRAFFIC เครือข่ายองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านการติดตามการค้าสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ผิดกฎหมายทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน
● เข้าถึงเอกสารการสำรวจได้ที่ : Illegal wildlife trade in the lower Mekong (มิถุนายน 2564)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG15 ระบบนิเวศทางบก
– (15.7) ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการล่าและการขนย้ายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครอง และแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย
#SDG16 สังคมสงบสุข ครอบคลุม ยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผลและรับผิดรับชอบ
– (16.4) ในแง่ของการต่อสู้กับอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรทุกรูปแบบ ภายในปี 2573
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้องและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับอาชญากรรม
แหล่งที่มา:
https://thediplomat.com/2021/06/china-backed-sezs-linked-to-southeast-asias-illegal-wildlife-trade/
https://www.eco-business.com/news/wildlife-trafficking-hotspots-in-chinese-special-economic-zones-surveys-say/