SDG Updates | เทรนด์ของที่อยู่อาศัยหลัง COVID-19 เมื่อผู้คนต้องใช้เวลากับที่อยู่อาศัยมากขึ้น

พิมพ์นารา รอดกุล
ผู้จัดการศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (pro green)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ในช่วงสองปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้คนปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อรองรับ “วิถีชีวิตปกติใหม่” หรือ New Normal ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขอนามัยมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับ Online Platform ที่มีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ work from home เช่นเดียวกับสถานศึกษาที่มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น และการลดการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญและสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ผู้คนในปัจจุบันใช้เวลาในบ้านหรือที่พักอาศัยมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

ดังนั้น “บ้าน” หรือที่อยู่อาศัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งจากการระบาดของโควิด-19 และผลกระทบของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทำให้ในหลายครัวเรือนกลับมาหวนคิดพิจารณาความต้องการฟังก์ชั่นของที่อยู่อาศัยของตนอีกครั้ง เนื่องจากบ้านของพวกเขาได้กลายมาเป็นทั้งที่อยู่อาศัย สำนักงาน โรงเรียน ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการนันทนาการอีกด้วย และการใช้ชีวิตอย่างมีสมดุลกับการทำงาน หรือ Work-Life Balance ภายใต้งบในการซื้อที่อยู่อาศัยที่สามารถเข้าถึงได้ (Affordable Price) นับเป็นโจทย์ที่ยากและต้องมองในระยะยาวว่าการใช้ชีวิตหลังจากนี้จะมีเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรอีกหรือไม่ และต้องครอบคลุมในเรื่องอะไรบ้าง

นอกจากการปรับตัวของภาคครัวเรือนแล้ว ในภาคธุรกิจรวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีการปรับตัวให้ทันและตอบสนองความต้องการ ไลฟ์สไตล์ หรือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องมีการพัฒนาและออกแบบให้ตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว นักการตลาดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้มีการวิเคราะห์และคาดการณ์แนวเทรนด์ในการก่อสร้างในปี 2564 ซึ่ง เอสซีจี (SCG) หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หลักบรรษัทภิบาลที่ดี ได้วิเคราะห์แนวโน้มที่อยู่อาศัยในปี 2564 และพบ 4 ปัจจัยที่มีอิทธิพลและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดังนี้

Figure 1: Four housing trends in 2021. (The Nation Thailand, 2021)

1 – การเปลี่ยนแปลงด้าน Digital หรือ Digital transformation

เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ในปัจจุบันเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้คนส่วนใหญ่เรียนรู้ในการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันจนกลายเป็นการดำเนินชีวิตในวิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New normal

การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลเป็นปรากฎการณ์สมัยใหม่ที่ทำให้ผู้คนสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ สามารถเข้าถึงทรัพยากรทั้งหมดได้เสมือนทำงานในสำนักงาน ที่มักหมายถึงแนวคิดของการใช้ทรัพยากรระบบคลาว์ (Cloud) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อาจส่งผลกับการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ เช่นที่การเกิดโรคระบาดทั่วโลกในครั้งนี้ ทำให้ผู้คนต่างหาอาชีพเสริมเพื่อให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ เป็นการปรับตัวต่อสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เราเองก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน อีกทั้งอาชีพด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ ดำเนินต่อไปได้เป็นปกติ

การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล หรือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันให้สะดวกมากยิ่งขึ้น มี 4 ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

  • Remote access: การเข้าถึงทรัพยากรในองค์กรระยะไกล เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
  • Managing entitlements: การจัดการและการควบคุมการให้สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรขององค์กร
  • Securing endpoints: การจัดการด้านความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล  
  • Controlling costs: การควบคุมต้นทุนการดำเนินงานในองค์กร เมื่อต้องทำงานผ่านระบบออนไลน์
Image 1: Enabling Digital Transformation for Social Housing. (Ignitho, 2021).

2 – การให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอยเพื่อการอยู่อาศัยมากขึ้น
(Pay more attention to the living space)

แนวโน้มการให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยนี้ เกิดขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 และในช่วง Lockdown เมื่อผู้คนใช้ชีวิตในบ้านมากกว่าที่เคยเป็นมา ทำให้คนหันมาตกแต่งบ้านให้น่าอยู่เพื่อรองรับ lifestyle ที่เปลี่ยนไป รวมถึงปรับปรุงหรือสร้างสรรค์พื้นที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่มากขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าโลกจะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด บ้านหรือที่อาศัยยังคงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญและเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการระบาด เทรนด์ในการออกแบบและการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ ยังคงเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และการออกแบบดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้

  1. New uses for old spaces: การปรับปรุงพื้นที่ในบ้านเดิมให้ดีขึ้น เป็นการปรับปรุงพื้นที่เก่าให้เหมาะสมแก่การทำงาน เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
  2. Additions: เป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับครอบครัวหรือคนที่อาศัยร่วมกัน ได้มีกิจกรรมทำร่วมกันมากขึ้น
  3. Multipurpose Places: การจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ เช่น การมีมุมที่เป็นส่วนตัวสำหรับการประชุมงานหรืองานเรียน เป็นต้น
  4. Communal Kitchen Spaces: การจัดห้องครัวให้เป็นศูนย์กลางในการพูดคุยหรือใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัวหรือผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาทำอาหารทานเองมากขึ้น เพื่อลดการเดินทางออกไป ณ สถานที่ต่าง ๆ ดังนั้น ห้องครัวถือว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในบ้านพักอาศัย

3 – การมีความเป็นอยู่ที่ดีและสุขอนามัยที่ดี
(Well-being, an indispensable hygiene trend)

ในสถานการณ์ปัจจุบัน โลกกำลังตื่นตัวกับเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจของคนทุกวัยและเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงต่อเนื่องในระยะยาวหลังจากนี้ อันจะนำไปสู่วิถีชีวิตใหม่ที่คำนึงถึงเรื่องสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี ตลอดจนการมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมสู่งวัย (Ageing Society) ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนและการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคนทุกวัย

Image 1: Digital Transformation in Social Housing. (Oni, 2020)

4 – Circular economy and environment

การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน อาจเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรที่จะเกิดขึ้นได้อนาคตได้ ซึ่งการเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ circular economy city ไม่เพียงแต่ส่งเสริมเรื่องการประหยัดพลังงานหรือการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น แต่เป็นการหาแนวทางในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการสร้างและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม

Figure 2: The 15 circular steps for cities: เศรษฐกิจหมุนเวียนในเมือง (Bystrom, 2018)

ตัวอย่างเศรษฐกิจหมุนเวียนในเมือง

  1. การใช้พลังงานทางเลือกและใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น (Renewable and local)
  2. ระบบขนส่งสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้ร่วมกันได้ (Mobility system are clean and shared)
  3. การออกแบบอาคารที่มีมาตรฐานและยืดหยุ่น (Building are designed to be flexible and modular)
  4. การทำฟาร์มหรือพื้นที่เกษตรในเมืองและการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ (Urban farms or waste recovery)
  5. การส่งเสริมและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช่ร่วมกัน เพื่อการเช่า หรือง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ (The products are designed to be shared, leased and easily recovered)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในครั้งนี้ยังมีแนวโนมที่อาจจะยาวนานต่อเนื่องไปอีกหลายปีหรืออาจจะไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งเราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการวางแผนการปรับตัวและรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป และ “บ้าน” หรือที่อยู่ศัยเป็นสถานที่ที่สำคัญของการเรียนรู้การใช้ชีวิตและเป็นเสมือนที่ทำงาน โรงเรียน พื้นที่เพื่อการนันทนาการ รวมถึงพื้นที่จะสร้างความสัมพันธ์ของผู้ที่อยู่อาศัยให้ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น ดังนั้น การปรับเปลื่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตในวิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New normal นี้ เป็นโอกาสสำหรับการสร้างสมดุลที่สมบูรณ์ทั้งในบ้านและการดำเนินชีวิตของเรา

ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายมิติของ SDGs
#SDG11 การตั้งถิ่นฐานและชุมชน/ที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน
– (11.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียง ปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี 2573
– (11.2) ระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ สำหรับทุกคน
โดยที่มีปัจจัยสนับสนุนอย่าง #SDG7 พลังงานสะอาด – (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ภายในปี 2573, การปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เกี่ยวข้องกับ #SDG9 โดยพื้นฐานที่สุดคือ (9.c) การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างถ้วนหน้า, และการพัฒนา ‘บ้านและเมืองที่ยั่งยืน’ ตามโมเดล Circular Economy ยังเกี่ยวข้องกับ #SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน – (12.5) การลดการผลิตของเสีย/ขยะ การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาใช้ซ้ำ ภายในปี 2573
ซึ่งการปรับตัวและปรับสมดุลภายในบ้านและวิถีชีวิตจะส่งผลให้มีสุขภาพและสุขภาวะ/ความเป็นอยู่ที่ดี ตาม #SDG3 ด้วย

ที่มา:
https://www.nationthailand.com/property/30401397
https://www.ignitho.com/success-stories/enbling-digital-transformation-for-social-housing-industry-in-uk-through-proficient-housing-management-solution
https://www.forbes.com/sites/forbesrealestatecouncil/2021/04/29/evolving-desires-how-covid-19-is-shaping-new-necessities-in-the-housing-market/?sh=4f334ec6220a
https://www.comparethecloud.net/articles/securing-the-work-from-home-digital-transformation/
https://www.oni.co.uk/factors-digital-transformation-social-housing/

Last Updated on มิถุนายน 17, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น