สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics and Peace – IEP) เผยแพร่ ดัชนีสันติภาพโลก 2564 (Global Peace Index 2021) โดยฉบับล่าสุดนี้เป็นฉบับที่ 15 ที่จัดอันดับตามมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) สันติภาพ และการที่สังคมของประเทศนั้นมีสันติสุข โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 113 จาก 163 ประเทศและเขตแดนทั่วโลกครอบคลุม 99.7% ของประชากรโลก
ทั้งนี้ 10 ประเทศแรกที่มี ‘สันติภาพ’ มากที่สุดในโลกประจำปี 2564 ได้แก่ 1) ไอซ์แลนด์ 2) นิวซีแลนด์ 3) เดนมาร์ก 4) โปรตุเกส 5) สโลวีเนีย 6) ออสเตรีย 7) สวิตเซอร์แลนด์ 8) ไอร์แลนด์ 9) สาธารณรัฐเช็ก และ 10) แคนาดา
ส่วน 10 ประเทศสุดท้ายที่มี ‘สันติภาพ’ น้อยที่สุดในโลกประจำปี 2564 ได้แก่ 163) อัฟกานิสถาน 162) เยเมน 161) ซีเรีย 160) ซูดานใต้ 159) อิรัก 158) โซมาเลีย 157) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) 156) ลิเบีย 155) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และ 154) รัสเซีย
ในภาพรวมของโลก ระดับสันติภาพของโลกตกต่ำลง 0.07% โดยมี 73 ประเทศที่มีระดับสันติภาพตกต่ำลง และ 87 ประเทศที่มีระดับสันติภาพดีขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นผลจากความขัดแย้งและวิกฤติต่าง ๆ ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ยังเป็นผลมาจากความตึงเครียดระหว่างบรรดาประเทศมหาอำนาจ (major powers)
และจุดสำคัญอีกประการของ GPI ฉบับนี้ คือผลจากการระบาดของโควิด-19 อาทิ ผลจากมาตรการล็อกดาวน์ที่นอกจากจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนในปี 2563 กล่าวคือ ในบางสภาพเศรษฐกิจของบางประเทศเป็นไปได้ว่าส่งผลต่อการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และข้อมูลในช่วงระหว่างมกราคม 2563 – เมษายน 2564 มีที่ชี้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงหรือเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคระบาดด้วย
ทั้งนี้ GPI ได้พิจารณาจากปัจจัยบ่งชี้เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ข้อจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยจัดเป็นกลุ่มปัจจัยบ่งชี้หลัก 3 กลุ่ม ได้แก่
- ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในและนอกประเทศ (Ongoing Domestic and International Conflict) อาทิ จำนวน ระยะเวลา และผู้เสียชีวิตในความขัดแย้งภายในประเทศ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน)
- ระดับความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม (level of Societal Safety and Security) อาทิ จำนวนอาชญากรรมและเหตุความรุนแรง จำนวนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน เสถียรภาพทางการเมือง และ
- การขยายอิทธิพลทางทหาร (Militarisation) อาทิ การเข้าถึงอาวุธเล็กและอาวุธเบา งบประมาณทางทหาร
โดยแม้ว่าประชากรทั่วโลกจะมี ‘ความกลัวการเกิดเหตุความรุนแรง’ (fear of violence) ในระดับสูง โดยสูงที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ ที่ ‘รู้สึกกลัว’ มากกว่า 5 ปีก่อน อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ประชากรโลกเกือบ 75% รู้สึกว่าโลก ‘ปลอดภัย’ ขึ้นมากกว่า 5 ปีที่แล้ว
● เข้าถึงรายงานที่ : Global Peace Index 2021
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมสงบสุข ครอบคลุม ยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผล โปร่งใส และรับผิดรับชอบ ในมิติ (16.1) การลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่ง(16.2) ยุติการค้ามนุษย์ ความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก (16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ (16.4) ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเงิน และต่อสู้กับอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรทุกรูปแบบ (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
แหล่งที่มา:
https://reliefweb.int/report/world/global-peace-index-2021
https://www.visionofhumanity.org/maps/#/