การศึกษา ‘Public concern about, and desire for research into, the human health effects of marine plastic pollution: Results from a 15-country survey across Europe and Australia’ เผยแพร่ใน Global Environmental Change จากมหาวิทยาลัย Exeter ที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับไมโครพลาสติกและผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ชี้ว่าชาวยุโรปและออสเตรเลียเป็นห่วงเรื่อง ‘ผลกระทบจากขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่มีต่อสุขภาพของคน’ เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นประเด็นอันดับต้น ๆ ใน 16 ปัญหามลพิษและระบบนิเวศทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการรั่วไหลของสารเคมีและน้ำมันลงสู่ทะเล การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อทะเล อาทิ ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และความเป็นกรดในมหาสมุทร
ทว่าขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพของคนนั้น ยังเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน
โดยการศึกษานี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือของยุโรปในชื่อ Seas, Oceans and Public Health in Europe (SOPHIE) ได้ทำการสำรวจมุมมองของประชาชนมากกว่า 15,000 คนใน 15 ประเทศยุโรปและออสเตรเลีย ที่มีต่อประเด็นท้องทะเลและมหาสมุทร พบว่า ความเห็นของคนส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร จนอาจเรียกได้ว่าเป็นความกังวลร่วมกันอันดับต้น ๆ
แต่ข้อมูลและการรับรู้โดยทั่วไป ขยะพลาสติกในมหาสมุทรยังคงจำกัดอยู่ที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเล ผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจจึงสนับสนุนให้มีการทำการศึกษาวิจัยด้านนี้มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นการศึกษาที่อาจจะยังขาดหายไปในตอนนี้
กล่าวคือ แม้อาจจะมีการศึกษาที่ชี้ว่าขยะพลาสติกที่แตกตัวออกมาเป็นอนุภาคขนาดเล็ก รวมถึงไมโครพลาสติก สามารถแทรกซึม-ถูกสิ่งมีชีวิตทางทะเล สัตว์ปีก และสัตว์ป่ากลืนกินเข้าไปนั้น แต่ผลกระทบที่ส่งต่อถึงสุขภาพของมนุษย์ อาทิ ในกรณีของการบริโภคอาหารทะเลเข้าไป ก็ยังคงเป็นเรื่องที่มีข้อมูลการศึกษาไม่มากนัก
การศึกษาเบื้องต้นนี้ ได้สะท้อนเสียงความคิดเห็นของผู้คนที่จะกอปรกันเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อผู้กำหนดนโยบายในการวางแผนนโยบายที่เกี่ยวกับมหาสมุทรและขยะพลาสติก ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยโดยเฉพาะประเด็นมลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนต่อไป
ประเด็น ‘ผลกระทบของขยะในมหาสมุทรที่มีต่อสุขภาพของคน’ เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น ลดการปล่อยสารเคมีและของเสียทุกชนิดออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563
#SDG14 ระบบนิเวศ ทะเลและทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน ภายในปี 2568
แหล่งที่มา:
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/06/210616220603.htm
https://www.exeter.ac.uk/research/news/articles/publicconcernonhumanhealt.html
Last Updated on มิถุนายน 20, 2021