Site icon SDG Move

คนทำงานดูแลในสหราชอาณาจักร ต้องเผชิญภัยสุขภาพจากควันบุหรี่มือสองในที่พักอาศัยของผู้รับบริการ

จากงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ บนวารสาร Annals of Work Exposures and Health ได้คาดการณ์ว่ามีแรงงานในสหราชอาณาจักรประมาณหนึ่งล้านคนได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำขณะทำงาน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคงานดูแลผู้ที่มีความต้องการเป็นพิเศษตามที่พักอาศัย อันได้แก่ พยาบาล ผู้ดูแล และงานอื่นๆ ที่ให้บริการที่บ้าน

การสัมผัสมลพิษทางอากาศอนุภาคเล็กในระดับสูงเป็นระยะเวลาสั้น เช่น จากควันบุหรี่มือสอง เชื่อมโยงกับการเกิดอาการหัวใจวายและปัญหาระบบไหลเวียนโลหิตอื่นๆ ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งการเกิดโรคหอบหืดด้วย ในระยะยาว การได้รับควันบุหรี่เป็นประจำอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ปัญหาปอด และแม้กระทั่งโรคหลอดเลือดสมอง

หลายหน่วยงานที่ให้บริการงานดูแลที่บ้าน ซึ่งรวมถึงหน่วยงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS ได้กำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาและพยายามปกป้องสุขภาพคนทำงานจากควันบุหรี่มือสองในที่พักอาศัย ด้วยการขอให้ลูกค้าหรือผู้รับบริการไม่สูบบุหรี่เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนผู้ดูแลจะมาที่บ้าน แต่จากงานวิจัยก็ยังพบว่ามีผู้รับบริการที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม ก็มีผลจากงานวิจัยที่ระบุว่าควันบุหรี่มือสองในระดับที่เป็นอันตรายสามารถคงอยู่ในบ้านได้นานกว่าห้าชั่วโมงหลังจากมีการสูบบุหรี่ไปแล้ว เพราะฉะนั้นการขอให้งดเว้นเพียงหนึ่งชั่วโมง ไม่เพียงพอที่จะทำให้อากาศกลับมาสะอาดอีกครั้ง

สถานการณ์ที่คนดูแลต้องเผชิญควันบุหรี่มือสองในที่พักอาศัยของผู้รับบริการ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ระหว่างสิทธิของคนทำงานในการมีอากาศสะอาดในที่ทำงานเหมือนอาชีพอื่น และ สิทธิของผู้ได้รับบริการหรือเจ้าของบ้านที่สามารถสูบบุหรี่ในที่พักอาศัยของตนเองได้ ควรให้ความสำคัญกับสิทธิของใครก่อนกัน

แม้จะยังไม่มีทางออกที่สมดุลระหว่างสองฝั่ง แต่ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยแทบจะตลอดเวลา และการใช้หน้ากากอนามัยคุณภาพสูง เช่น N95 สามารถลดจำนวนอนุภาคควันที่คนทำงานหายใจเข้าไปได้บ้าง แม้จะไม่สามารถกรองสารพิษได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นทางออกในระดับพอยอมรับได้สำหรับการใช้เวลาระยะสั้นๆ ในที่พักอาศัยที่มีปัญหาควันบุหรี่มือสอง นอกจากนั้น ความนิยมใช้เครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น ก็ช่วยลดฝุ่นควันอนุภาคขนาดเล็กในบ้านได้ระดับหนึ่ง

นักวิจัยแสดงความเห็นว่า ปัจจุบันในสหราชอาณาจักร มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ภายในรถโดยที่มีเด็กโดยสารอยู่ภายในด้วยเพราะมีการให้ความสำคัญต่อการรักษาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากสารพิษของควันบุหรี่มือสอง ในอนาคต สังคมอาจเลือกที่จะปฏิเสธแนวคิดเรื่อง ‘สิทธิในการสูบบุหรี่ในบ้าน’ โดยสิ้นเชิง เพราะมีการเปลี่ยนความคิดมาคำนึงถึงสารพิษที่ถูกปล่อยสู่อากาศมากขึ้น อีกทั้งตัวเลือกผลิตภัณฑ์ทดแทนนิโคตินก็มีอยู่อย่างแพร่หลายและราคาถูกสามารถใช้ทดแทนการสูบบุหรี่ได้

การสัมผัสควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุของโรคร้าย และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 800,000 รายทั่วโลกในแต่ละปี นโยบายทำบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อคนทำงานดูแลเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับเด็กในสก็อตแลนด์ 1 ใน 9 คนที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีควันบุหรี่ด้วย

ควันบุหรี่มือสองและผลกระทบต่อสุขภาพคนทำงาน เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ (3.4) การปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะเรื่องยาสูบ (3.a)
- SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเด็น ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม (8.8)

ที่มา : The Conversation

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version