– นับถอยหลังสู่การประชุม ‘HLPF 2021’ หมุดหมายสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมความเข้าใจก่อนวันประชุมจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2564 เราจึงชวนมารู้จักว่าการประชุม HLPF คืออะไร สำคัญอย่างไร ความเกี่ยวข้องของไทยกับเวที ดังกล่าว รวมถึงว่าประชาคมโลกเขาพูดเรื่องอะไรกันจนถึงปัจจุบันนี้ –
HLPF 2021 – 04 – ถึงคราว HLPF & VNRs 2021
- การประชุม HLPF ครั้งล่าสุดนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2564 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ (อ่านภาพรวมการประชุมที่ผ่านมา ที่นี่)
- รูปแบบการจัดประชุมมีทั้ง Hybrid ที่ผสมผสานการประชุมออฟไลน์และออนไลน์ และบางการประชุมจะเป็นเฉพาะออนไลน์เท่านั้น
- ครั้งนี้จะมีการเก็บตก-ทบทวนเป้าหมายต่าง ๆ ของปี 2563 ที่ผ่านมาร่วมด้วย
- และที่พิเศษกว่าปีก่อน ๆ คือ คราวนี้เป็น ‘SDGs in the time of crisis’ การระบาดของโควิด-19 มีผลต่อการดำเนินการของ SDGs โดยเฉพาะโลกจะต้องให้การสนับสนุนเป็นพิเศษกับบรรดาประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีอาณาเขตติดทะเล ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะ ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ตลอดจนประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ในการตอบสนองต่อและฟื้นตัวจากโรคระบาด
Theme HLPF 2021
‘การฟื้นฟูอย่างยั่งยืนและยืดหยุ่นปรับตัวได้จากโรคระบาดโควิด-19
ที่จะส่งเสริมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาที่ยั่งยืน:
สร้างหนทางที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมีประสิทธิภาพในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573
ในบริบทของทศวรรษแห่งการลงมือทำและการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน’
‘Sustainable and resilient recovery from the COVID-19 pandemic that promotes the economic, social and environmental dimensions of sustainable development: building an inclusive and effective path for the achievement of the 2030 Agenda in the context of the decade of action and delivery for sustainable development’
เพราะนอกจากจะหารือและติดตามภาพรวมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามปกติแล้ว ครั้งนี้ยังเป็นครั้งที่ต้องผนวกรวมเรื่องการฟื้นฟูและฟื้นตัวจากโควิด-19 เรียกได้ว่าเป็นช่วงยามของ ‘SDGs in the time of crisis’ ที่โรคระบาดได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการขับเคลื่อน
โดยรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ และผู้เข้าร่วมจะถกแถลงในแง่มุมของการตอบสนองต่อการระบาดของโรคและผลกระทบของโควิด-19 คิดใหม่และปรับปรุงระบบเศรษฐกิจและสังคมใหม่ ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง น้ำและสุขาภิบาล พลังงาน เทคโนโลยีและสารสนเทศ ระบบในเมือง และโครงสร้างทางสังคม ตลอดจนหารือพร้อมกับแลกเปลี่ยนนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะสามารถควบคุมโรคระบาดและผลกระทบได้ดีขึ้น อันจะช่วยให้โลกฟื้นกลับมาได้อย่างยั่งยืนและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเผชิญต่อไปในอนาคต
และในปีนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะโฟกัสเป็นพิเศษมีอยู่ด้วยกัน 9 เป้าหมาย ได้แก่ #SDG1 (ความยากจน) #SDG2 (ความหิวโหย โภชนาการ ความมั่นคงทางอาหาร) #SDG3 (สุขภาพและสุขภาวะที่ดี) #SDG8 (เศรษฐกิจและงาน) #SDG10 (ความเหลื่อมล้ำ) #SDG12 (การผลิตและการบริโภค) #SDG13 (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) #SDG16 (สันติภาพ ความยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผล) และ #SDG17 (หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน – ซึ่งเป็นเป้าหมายยืนพื้น ที่ทุก ๆ ปีจะต้องเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนอยู่แล้ว)
นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายความเชื่อมโยง-การเสริมพลัง-และ ‘trade-off’ ภายใน 9 เป้าหมายนี้ด้วยกันเอง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มของการหารือเฉพาะด้าน ได้แก่
- การยุติความยากจนและความหิวโหย และเปลี่ยนแปลงจากฐานรากไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม – กลุ่ม SDG 1, 2, 8, 17
- การเปลี่ยนแปลงการผลิตและการบริโภคจากฐานราก จัดการกับและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – กลุ่ม SDG 12, 13, 17
- สร้างสังคมที่มีสันติสุข เท่าเทียม และครอบคลุมมากขึ้น – กลุ่ม SDG 3, 10, 16, 17
โดยยังมีการอภิปรายเป้าหมายทั้ง 9 นี้กับความเชื่อมโยง-เกี่ยวข้อง-หรือบูรณาการกับเป้าหมายอื่น ๆ จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย เพื่อให้การดำเนินการสามารถรุดหน้าไปได้เร็วขึ้นด้วย
ที่เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นคือการหารือกันเรื่อง ‘SDG localization’ หรือ ‘Going Local’ ให้นำ SDGs ไปขับเคลื่อนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น – Going local: How can we support local authorities in implementing the SDGs and how can we best build on voluntary local reviews?
ขณะที่ในส่วนของการติดตามรายงาน VNR ไทยเองถือเป็น 1 ใน 44 ประเทศที่เข้าร่วมนำเสนอรายงานระดับชาติในปีนี้ ซึ่งในภาพรวม มี 10 ประเทศที่รายงานครั้งแรก, 24 ประเทศที่รายงานครั้งที่สอง, และ 10 ประเทศที่รายงานครั้งที่สาม ทั้งนี้ ประเทศที่รายงานเป็นครั้งแรกจะใช้เวลารายงาน 15 นาที และอีก 15 นาทีในช่วงการถาม-ตอบ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะรายงานที่มีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมด้วยหรือไม่ ส่วนประเทศที่รายงานเป็นครั้งที่สองและสามจะใช้เวลารายงาน 10 นาที และอีก 10 นาทีในการถาม-ตอบ และจะรายงานในเวทีที่มีประเทศอื่นเข้าร่วม
นำเสนอครั้งแรก แองโกลา แอนติกาและบาร์บูดา โบลิเวีย คิวบา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี จิบูตี หมู่เกาะมาร์แชลล์ เมียนมาร์ นิการากัว ซานมารีโน (10 ประเทศ)
นำเสนอครั้งที่สอง บาฮามาส ภูฏาน กาโบเวิร์ด ชาด จีน ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก สาธารณรัฐโดมินิกัน เยอรมนี อิรัก ญี่ปุ่น ลาว มาดากัสการ์ มาเลเซีย นามิเบีย นอร์เวย์ ปากีสถานปารากวัย สเปน สวีเดน ไทย ตูนิเซีย ซิมบับเว (24 ประเทศ)
นำเสนอครั้งที่สาม อาเซอร์ไบจาน โคลอมเบีย อียิปต์ กัวเตมาลา อินโดนีเซีย เม็กซิโก ไนเจอร์ กาตาร์ เซียร์ราลีโอน อุรุกวัย (10 ประเทศ)
สุดท้าย ที่ประชุมจะรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) ในวันสุดท้ายของการประชุมทางการระดับรัฐมนตรี (13-15 กรกฎาคม 2564) เป็นผลลัพธ์ของการประชุม HLPF 2021
ติตตามข่าวสาร HLPF 2021 ได้ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf/2021
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf
และ VNRs ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/vnrs/
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/?tag=hlpf และ https://www.sdgmove.com/tag/vnr/
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG17 หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf/2021
https://sustainabledevelopment.un.org/content/documents/27806Concept_note_for_the_HLPF_on_Sustainable_Development_2021.pdf
https://www.sdgmove.com/2021/05/14/hlpf-2021-in-july-and-9-sdg-goals-in-focus/