ผ้าเดนิมเป็นที่นิยมมาอย่างยาวนานทั่วโลก ทุกๆ ปี มีการผลิต ขนส่ง และจำหน่ายเสื้อแจ็คเก็ต กางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ตและกระโปรงหลายร้อยล้านชิ้น ซึ่งใช้ปริมาณน้ำ พลังงาน และผ้าฝ้ายในการผลิตปริมาณมหาศาล โดยในวงจรการผลิตกางเกงยีนส์เพียงหนึ่งตัวใช้น้ำมากถึง 3,781 ลิตร แบรนด์ชั้นนำหลายๆ แบรนด์จึงกำลังมองหาแนวทางการผลิตใหม่ๆ และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับภาคการผลิตเดนิมให้มากขึ้น
มูลนิธิ Ellen MacArthur ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า The Jeans Redesign เพื่อสนับสนุนการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการผลิตยีนส์ให้มากขึ้น ปัจจุบัน มีหลายสิบแบรนด์ได้ลงชื่อให้การสนับสนุน ซึ่งรวมถึงแบรนด์ใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เช่น Gap, H&M, Wrangler และอื่นๆ อีกมากมาย
ตัวอย่าง แนวทางปฏิบัติที่เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบและผลิตเสื้อผ้ายีนส์อย่างยั่งยืน ได้แก่ การใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเพิ่มสัดส่วนวัสดุเหล่านั้นในการผลิตสินค้าชิ้นใหม่ แบรนด์ Frame หนึ่งในแบรนด์ที่สนับสนุน The Jeans Redesign ได้เปิดตัวแจ็กเก็ตยีนส์ Ellen ซึ่งทำจากฝ้ายออร์แกนิก 100% และสามารถย่อยยสลายได้ทางชีวภาพถึง 90% ทั้งกระดุมโลหะ ซับในกระเป๋ากางเกง ป้าย และด้ายเย็บผ้าที่ทำมาจากขวดน้ำรีไซเคิล 100%
แบรนด์กางเกงยีนส์ชื่อ Nudie จากสวดีเดน ที่แม้จะไม่ได้เข้าร่วม The Jeans Redesign แต่ก็นำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในภาคส่วนการผลิตเดนิมเช่นกัน โดยสนับสนุนให้ลูกค้าคืนกางเกงยีนส์ที่ไม่ใส่แล้ว และได้รับเครดิตเพื่อซื้อกางเกงตัวใหม่ นอกจากนี้ยังมีบริการซ่อมกางเกงยีนส์ตลอดอายุการใช้งานอีกด้วย
ในปี 2019 Nudie ได้ซ่อมแซมกางเกงยีนส์ไป 63,281 ตัว และได้รับคืนยีนส์ที่ลูกค้าไม่ต้องการ 11,573 ตัว ทำให้มีเสื้อผ้าถึง 50,000 กิโลกรัมที่ไม่ได้จบที่หลุมฝังกลบ และประหยัดน้ำไป 443,000,000 ลิตร ในการผลิตเสื้อผ้าชิ้นใหม่
กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมนั้นเดินตามโมเดลที่เป็นเส้นตรง คือ ทรัพยากรถูกใช้เพื่อการผลิตสินค้า นำไปขาย และทิ้งในที่สุด แต่แนวทางการผลิตโดยอยู่บนพื้นฐาน ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circularity’ นั้นต้องมีการเปลี่ยนถึงระดับรากฐานตั้งแต่ขั้นตอนแรกเริ่มสุด คือ การออกแบบ ไปจนตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
หลักการสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สินค้าและผลิตภัณฑ์ควรได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงการกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ง่าย และมีอายุการใช้งานให้ยาวนานที่สุด
เศรษฐกิจหมุนเวียน เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย - SDG 12 รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (12.2) และ ลดของเสียโดยกระบวนการ reuse และ recycle (12.5)
ที่มา : World Economic Forum
Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021