นายแพทย์ที่ทำงานด้านวิชาการ (academic foundation doctor) ประจำโรงพยาบาล Southampton General Hospital และศาสตราจารย์ด้านการสาธารณสุขประจำมหาวิทยาลัย Southampton สหราชอาณาจักร แลกเปลี่ยนความเห็นใน thebmjopinion ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Southampton ได้เริ่มนำหลักการความยั่งยืนและองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องและผลกระทบ เข้ามาผนวกรวมในหลักสูตรการสอนอย่างไร
เพื่อให้นักศึกษาที่จะเป็นบุคลากรด้านสุขภาพในอนาคต ตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงที่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม มลพิษ ตลอดจนการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มีต่อ ‘สุขภาพ’ ของคน เพื่อที่จะได้เข้าใจอัตราการเจ็บป่วย อัตราการเสียชีวิต จนถึงให้สามารถปฏิบัติ (รักษาคนไข้) ได้อย่างเข้าใจแง่มุมที่เกี่ยวพันกับความเปราะบางของคนและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง-ได้รับบริการสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกบุคคลและการเปลี่ยนแปลงภายในระบบสุขภาพเลยทีเดียว
‘เพราะความเร่งด่วนทางสภาพภูมิอากาศย่อมเป็นความเร่งด่วนทางสาธารณสุขเช่นกัน’
ขณะที่ภาคสาธารณสุขเองถือเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ในปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้ออกแผนที่เป็นหมุดหมายสำคัญเพื่อติดตาม-เปลี่ยนแปลง-ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการสาธารณสุขระดับชาติให้เป็นศูนย์ผ่าน ‘NHS’s Net Zero target’ โดยการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวัฒนธรรมได้นั้น ต้องอาศัย ‘การศึกษา’ ติดความรู้และเครื่องมือด้านความยั่งยืนให้กับบุคลากรภาคสาธารณสุข
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Southampton เล็งเห็นความสำคัญข้อนี้ และเพื่อที่จะแก้ปัญหาความท้าทายเรื่องตารางเรียนของนักศึกษาที่แน่นขนัด จึงได้ออกเป็นโครงการ ‘Southampton Medical School Medicine, Climate Change, and Sustainability Infusion Project’ เน้นที่การค่อย ๆ สอดแทรกความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน ‘ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ’ (in relation to health) เข้าไปในบริบทของเนื้อหาวิชาในคาบเรียนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการยัดเยียดข้อมูล (ที่อาจจะดูแปลกแยก) จนล้นเกินเกินไป
ตัวอย่างเนื้อหาสำหรับหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี มีอาทิ
- ปี 1-2 : แนะนำให้รู้จักกับอนามัยสิ่งแวดล้อม (Introducing Environmental Health) – โดยผนวกรวมเนื้อหาเข้าไปในวิชาสาธารณสุข สรีรวิทยา พยาธิวิทยา รวมไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับโรคหืดหอบ โภชนาการ ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และการควบคุมอุณหภูมิ, ตลอดจนการสอดแทรก ‘หลักการ’ เกี่ยวกับสุขภาพของโลก (planetary health) และความยั่งยืนเกี่ยวกับสุขภาพ (health related sustainability) เข้าไปในวิชาการสาธารณสุขโลก (global public health)
- ปี 3-4 : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนในทางปฏิบัติ (Climate Change and Sustainability in Practice) – ช่วงปีนี้จะเน้นการนำหลักการไปลงมือปฏิบัติ การทำวิจัยและการประเมิน ผ่านการทำโปรเจ็คต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ, ตลอดจนการเรียนรู้เนื้อหา ‘ความยั่งยืน’ เพิ่มเติมในวิชากฎหมายคลินิก จริยธรรม และวิชาเฉพาะทาง อาทิ วิชากุมารเวชศาสตร์ สูติศาสตร์-นรีเวชศาสตร์ และจิตเวชศาสตร์
- ปี 5 : การเป็นคุณหมอที่ (ตระหนักถึงความ) ยั่งยืน (Becoming a Sustainable Physician) เป็นภาคต่อโดยเน้นย้ำไปที่จะทำอย่างไรให้การปฏิบัติมีความยั่งยืน โดยนำเสนอผ่าน ‘วิชาเลือก’ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ รวมถึงในภายภาคหน้าจะเป็นการนำหลักการความยั่งยืนไปใช้ในการผ่าตัด การใช้ยาสลบ และการช่วยงานศาสตราจารย์/ผู้ช่วยสอน (assistantship)
นอกจากนี้ ทางคณะฯ ได้วางแผนจะออกแบบการประเมินการเรียนและให้รางวัลกับกิจกรรมที่นักศึกษานำเสนอ/นำหลักการไปปฏิบัติได้อย่างเยี่ยมยอดด้วย
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน คณะฯ ยังอยู่ในระหว่างการออกแบบ จัดทำหลักสูตรและรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงผลลัพธ์ที่คาดหวัง อุปกรณ์ สื่อ และเอกสารประกอบการศึกษา โดยเป็นการหารือร่วมกับ Centre for Sustainable Healthcare และ International Medical Education Collaboration on Climate and Sustainability (IMECCS) และใช้เนื้อหาบางส่วนจาก Planetary Health Report Card
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี ในภาพรวม อาทิ (3.1) ลดอัตราการตายของมารดา (3.2) ลดอัตราการตายของทารกแรกเกิด (3.3) ยุติโรคติดต่อ (3.4) ลดโรคไม่ติดต่อและส่งเสริมสุขภาพจิต (3.8) ส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (3.c) การพัฒนาและฝึกฝนบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
#SDG4 การศึกษา – (4.7) หลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
โดยเนื้อหาวิชามีส่วนเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก ความหลากหลายทางชีวภาพและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์
แหล่งที่มา:
https://blogs.bmj.com/bmj/2021/06/07/infusing-climate-change-and-sustainability-into-the-medical-school-curriculum/
Last Updated on มกราคม 12, 2022