ในทวีปแอฟริกาใต้ ประเทศสาธารณรัฐบอตสวานา (Botswana) ประสบปัญหาอัตราการเสียชีวิตของมารดาที่คลอดบุตรซึ่งมีค่าสูงกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงระดับสูง จากรายงานของประเทศกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2562 มีมารดา 166 คน ต่อ 1 แสนคนเสียชีวิตซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเสียเลือดจำนวนมากขณะคลอดบุตร รวมถึงการมีที่อยู่อาศัยห่างไกลจากสถานพยาบาล
โดยทาง Lorato Mokganya ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศได้กล่าวว่า “เมื่อมารดากำลังคลอดบุตรจะมีการเสียเลือดจำนวนมากและบางคนอาจจะต้องนำส่งสถานพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ แต่การที่จะนำส่งสถานพยาบาลได้จำเป็นต้องให้มารดามีร่างกายที่อยู่ในสภาวะคงที่มากที่สุด ดังนั้นการใช้โดรนขนส่งถุงเลือดที่สามารถจัดส่งได้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้มารดามีร่างกายสภาวะคงที่มากขึ้น”
อย่างไรก็ตามประเทศสาธารณรัฐบอตสวานา ยังคงเผชิญกับความท้าทายเนื่องจากเป็นประเทศขนาดใหญ่แต่มีประชากรจำนวนน้อยอาศัยอยู่และมักอาศัยอยู่กระจายเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างคมนาคมที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างทั่วถึง
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ทางรัฐบาลของสาธารณรัฐบอตสวานาจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ได้จัดตั้งโครงการ “โดรนเพื่อชีวิต” ซึ่งเป็นโครงการขนส่งสินค้าด้วยโดรนโครงการแรกในประเทศ โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้การส่งเลือดไปช่วยมารดาใช้เวลาลดลงจากระดับชั่วโมงเหลือเพียงนาทีและช่วยชีวิตมารดาได้มากขึ้น
Beatrice Mutali ผู้อำนวยการ UNFPA ของประเทศบอตสวานากล่าวว่า “ที่ UNFPA เรามองเห็นโลกที่ผู้หญิงที่ไม่เสียชีวิตในขณะที่กำลังมอบชีวิตใหม่ และเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาอัตราการเสียชีวิตของมารดาได้”
Dr. Mpoeleng หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “โดรนแต่ละลำมีแบตเตอรี่เพียงพอต่อการเดินทางเพื่อส่งมอบในระยะทาง 100 กิโลเมตร และสามารถบรรทุกสินค้าได้หนักถึง 2 กิโลกรัม”
โครงการดังกล่าวได้ทดลองกับหมู่บ้านจำนวน 4 แห่ง โดยโดรนจะถูกตั้งโปรแกรมอัตโนมัติสำหรับการบินขึ้นหรือลงจอดและให้ชาวบ้านในหมู่บ้านสนับสนุนโครงการโดยการทำลานจอดโดรนรองรับในพื้นที่ที่กำหนด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 3 สร้างหลักประกันเรื่องสุขภาพ และส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย
– 3.1 ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลก ให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิด 1 แสนคน ภายในปี 2573
– 3.8 ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG 9 ส่งเสริมอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
– 9.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความทนทาน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าส่งเสริมบริการที่มีราคาที่เข้าถึงได้ และเท่าเทียมสำหรับทุกคน
แหล่งที่มา : https://news.un.org/en/story/2021/05/1092512
Last Updated on มิถุนายน 24, 2021