Site icon SDG Move

SDG Updates | ส่องสถานการณ์วัณโรคไทย: หนึ่งปัญหาโรคติดต่อ (จากคนสู่คนผ่านทางอากาศ) ที่อยู่กับเรามานาน

ท่ามกลางการระบาดของโควิด 19 ยังมีอีกหนึ่งภัยคุกคามทางสุขภาพที่เป็นความท้าทายของไทยมาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ ‘วัณโรค’ (Tuberculosis – TB) โดยตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปี 2559 ประเทศไทยติดอันดับเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ขณะที่วัณโรคถือเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะต้อง ‘ยุติการแพร่ระบาด’ ให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายในปี 2573

SDG Updates วันนี้ ชวนผู้อ่านสำรวจสถานการณ์วัณโรคที่อยู่กับบ้านเมืองเรามานานฉบับรวบรัด กับความเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไข เพื่อให้เราสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากวัณโรคลงได้ 90% และลดอุบัติการณ์ลงได้ 80% จากฐานปี 2558 บนเส้นทางการ ‘ยุติการแพร่กระจายของวัณโรค (และโรคติดต่ออื่น ๆ) ภายในปี 2573’ ตาม #SDG3 (3.3) เพื่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของเราทุกคนได้สำเร็จ

เพราะวัณโรคเป็นโรคที่สามารถ ‘ป้องกันได้’ และ ‘รักษาได้’ และต้องจัดการไปพร้อมกับปัจจัยที่ส่งผลต่อโรค เช่น ความยากจน ความเปราะบางและชนชายขอบ ภาวะทุพโภชนาการ ไปจนถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยง อาทิ เรือนจำ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และพื้นที่บริเวณชายแดน เป็นต้น


รายงานวัณโรคของโลกปี พ.ศ. 2563 (Global Tuberculosis Report 2020 – ข้อมูลปี 2562) โดยองค์การอนามัยโลก ประมาณว่าประชากร 10.0 ล้านคน (ช่วงระหว่าง 8.9 – 11.0 ล้านคน) ป่วยไข้จากวัณโรคในปี 2562 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในปีเดียวกัน มีประมาณ 1.2 ล้านคน (ช่วงระหว่าง 1.1 – 1.3 ล้านคน) ที่เสียชีวิตจากวัณโรค ซึ่งลดลงจาก 1.7 ล้านคนจากปี 2543 และมีอีกประมาณ 208,000 คน (ช่วงระหว่าง 177,000 – 242,000) เป็นการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อ HIV (ลดลงจาก 678,000 คนในปี 2543) ทั้งนี้ หากพินิจระหว่างเพศ เพศชายที่อายุ 15 ปีหรือมากกว่า คิดเป็น 56% ของผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ในปี 2562 ขณะที่เพศหญิงคิดเป็น 32% และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ 12% โดยในจำนวนเหล่านี้ 8.2% เป็นผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อ HIV

หากดูตามภูมิศาสตร์ ในปี 2562 ประชากรส่วนใหญ่ของโลกที่ติดเชื้อวัณโรค พบมากที่สุดในบริเวณเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก (44%) แอฟริกา (25%) แปซิฟิกตะวันตก (18%) แถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก (8.2%) ทวีปอเมริกา (2.9%) และยุโรป (2.5%) โดยข้อมูลล่าสุดของประเทศที่ประชากรติดเชื้อวัณโรคสูงคิดเป็น 2 ใน 3 ของทั้งหมด มี 8 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ 1) อินเดีย 26% 2) อินโดนีเซีย 8.5% 3) จีน 8.4% 4) ฟิลิปปินส์ 6.0% 5) ปากีสถาน 5.7% 6) ไนจีเรีย 4.4% 7) บังคลาเทศ 3.6% และ 8) แอฟริกาใต้ 3.6%

ขณะที่อีก 22 ประเทศที่อยู่ในรายชื่อ 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงขององค์การอนามัยโลก คิดเป็น 21% ของจำนวนผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด ได้แก่ แองโกลา บราซิล กัมพูชา สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก เกาเหลีเหนือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo) เอธิโอเปีย เคนยา เลโซโท ไลบีเรีย โมซัมบิก เมียนมา นามิเบีย ปาปัวนิวกินี รัสเซีย เซียร์ราลีโอน ไทย แทนซาเนีย เวียดนาม แซมเบีย และซิมบับเว

ซึ่งในระดับประเทศ อัตราการเกิดอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำ จะแตกต่างกันไปจากน้อยกว่า 5 ถึงมากกว่า 500 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี โดยในปี 2562 นั้น มี 54 ประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติการณ์ที่ ‘ต่ำ’ กล่าวคือ น้อยกว่า 10 เคสต่อประชากร 100,000 คนต่อปี โดยส่วนมากคือประเทศในบริเวณอเมริกาและยุโรป และบางประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและแปซิฟิกตะวันตก – ประเทศเหล่านี้ ถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้า ‘ยุติวัณโรค’ ในระดับที่ดี

อย่างไรก็ดี ‘วัณโรคดื้อยา’ ยังคงเป็นความท้าทายต่อการสาธารณสุขมาเสมอ ข้อมูลทั่วโลกในปี 2562 จากรายงานฉบับนี้ระบุว่า มีประชากรเกือบถึงครึ่งหนึ่งมีวัณโรคที่ดื้อยา rifampicin ขนานเดียว (RR-TB) และ 78% ที่มีวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) โดย 3.3% ของผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และ 17.7% ของผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับการรักษามาแล้ว มีวัณโรคดื้อยา RR/MDR-TB

5 ข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัณโรค

5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ‘ความรุนแรง’ ของวัณโรค

สถานการณ์วัณโรคในไทยเป็นอย่างไร?

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ปี 2559 ประมาณว่าไทยมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำ 119,000 ราย โดยมีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อ HIV 10,000 ราย และผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา RR/MDR-TB 4,700 ราย ขณะที่กองวัณโรค รายงานผลการดำเนินงานวัณโรคของประเทศไทยปี 2559 ระบุว่า มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษาวัณโรค (ผู้ป่วยรายใหม่และกลับเป็นซ้ำ) 70,114 ราย โดยผู้ป่วยวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ HIV 6,794 ราย (11% ของผู้ที่ตรวจเชื้อ HIV) ผู้ป่วยดื้อยาหลายขนาน 955 ราย และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก 13 ราย โดยมีผลสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำร้อยละ 82.9

ขณะที่ในปีเดียวกันนั้น มีรายงานว่าผู้ต้องขังจำนวน 307,961 ราย จากเรือนจำและทัณฑสถาน 142 แห่ง พบผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อ HIV จำนวน 293 ราย มีผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนรักษา 1,589 ราย มีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา rifampicin (RR-TB) 88 ราย และผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 21 ราย โดยอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคคิดเป็นร้อยละ 80.7

ส่วนพื้นที่เสี่ยงบริเวณชายแดนและกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้น ถือเป็นหนึ่งในการควบคุมวัณโรคของประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยในปี 2559 พบผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและบริเวณชายแดน จำนวน 3,310 ราย

ข้อมูลปี 2562 จากกองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไทยมีผู้ป่วยวัณโรค 105,000 รายต่อปี (ช่วงระหว่าง 79,000 – 133,000 คน) และมีการเสียชีวิตจากวัณโรค 11,000 รายต่อปี (ช่วงระหว่าง 8,900 – 14,000 รายต่อปี) โดยมีผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนรักษา 88,000 ราย และมี 17,000 รายที่ไม่ได้รับรายงาน/ไม่ได้รับการวินิจฉัย ขณะที่มีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อ HIV เสียชีวิต 1,900 ราย

ภาพจาก กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ นอกจากไทยจะมีแนวทางควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นหนึ่ง ‘เครื่องมือ’ ในการขับเคลื่อนแผนงานควบคุมวัณโรค ไทยยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ. 2560 – 2564 ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ภายในปี 2573 ขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุเป้าหมายเอาไว้ว่า ‘1) ลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ต่ำกว่า 10 ต่อ 100,000 ประชากร และ 2) ลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตลงร้อยละ 95 เทียบกับปี พ.ศ. 2558’ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาพจาก แนวทางควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ. 2561

“ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาระบบและเครือข่าย นโยบายมุ่งมั่น สร้างสรรค์นวัตกรรม”

โดยในแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้


เราและโลกอยู่ตรงไหนในเส้นทางการยุติการแพร่กระจายของวัณโรค?

ดูได้จากข้อมูลภาพรวมด้านล่างนี้

ภาพจาก Global Tuberculosis Report 2020

ทั้งนี้ การทำความเข้าใจสถานการณ์และความสำคัญของ (การป้องกันและการรักษา) วัณโรคในมิติสุขภาพและสังคม ก็เพื่อให้ทั้งเราและโลกตระหนักว่ายังคงจะต้องลงมือทำอีกมาก เพื่อลดอุบัติการณ์ ลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต และยุติการแพร่กระจายวัณโรคให้ได้ภายในปี 2573

ติดตาม Global Tuberculosis Reports จาก WHO ตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมาได้ที่ : https://www.who.int/teams/global-tuberculosis-programme/tb-reports

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี – (3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ภายในปี 2573
ส่วนตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรค มีอาทิ #SDG1 (ความยากจน กลุ่มเปราะบางและชนชายขอบ) #SDG2 (ภาวะทุพโภชนาการหรือโรคเบาหวาน) และ #SDG11 (ชุมชนแออัด)

แปลและเรียบเรียงจาก :
Global Tuberculosis Report 2018
Global Tuberculosis Report 2020
สถานการณ์วัณโรคของไทยยังรุนแรง พบผู้ป่วยรายใหม่-กลับเป็นซ้ำปีละกว่า 7 หมื่นราย (HFOCUS 2019 ข้อมูลปี 2016)
แนวทางควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ. 2561
กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version