SDG Vocab | 22 – Labour-Intensive – แรงงานเข้มข้น

Labour-intensive หรือ ‘แรงงานเข้มข้น’ หมายถึง การใช้แรงงานจำนวนมากในกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการหนึ่ง ๆ (goods and services) ตัวอย่างภาคส่วนที่เห็นได้ชัดเจนมีอาทิ ภาคเกษตรกรรม การพยาบาล (nursing) การเรียนการสอน (education) ภาคบริการ (service sector) เป็นต้น

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะพบการนิยมใช้ ‘แรงงานเข้มข้น’ ในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนา (developing economies) มากกว่าระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว (developed economies) เพราะว่าประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ย่อมมีเงินทุนที่น้อยกว่าซึ่งก็จะทำให้ไม่สามารถที่จะลงทุนใน เครื่องจักร (capital) ที่มีราคาแพง และทันสมัยได้มากนัก จึงจำเป็นต้องอาศัยการจ้างแรงงานที่มีค่าจ้างถูก เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) ในตลาด หรือ ระบบเศรษฐกิจได้ กล่าวคือ เงินทุนที่น้อย และค่าจ้างที่ถูก เราสามารถจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อที่จะสร้างผลผลิตที่มากขึ้น

แล้วทำไมแรงงานเข้มข้นถึงได้เกี่ยวกับ ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ หรือ ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ (economic productivity) ในเป้าประสงค์ที่ 8.2 ได้ละ?

#SDG8 – (8.2) ส่งเสริมการมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านการทำให้หลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

Target 8.2: Achieve higher levels of economic productivity through diversification, technological upgrading and innovation, including through a focus on high-value added and labour-intensive sectors

ก่อนอื่นเลยเราจะพามารู้จักกับคำว่า ‘ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ’ (economic productivity) ว่าคืออะไร ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ถ้าให้อธิบายอย่างง่าย ๆ ก็คือ ‘มูลค่า’ ของผลผลิต (output) ที่ได้จากปัจจัยนำเข้า (input) หนึ่งหน่วย กล่าวคือ เป็นการใช้ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต อาทิ วัตถุดิบ อุปกรณ์ หรือ แรงงาน ไปกับกิจกรรมการผลิตหนึ่ง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากในหนึ่งชั่วโมงคนทำขนมปังสามารถอบขนมปังได้ 50 ก้อน ก้อนละ 20 บาท ผลิตภาพทางเศรษฐกิจก็จะเป็น หนึ่งพันบาทต่อหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นมูลค่าที่ได้จากการผลิตขนมปังหนึ่งชั่วโมงนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มจำนวนแรงงานนั้นไม่ได้แปลว่าเป็นการเพิ่มผลิตภาพ กล่าวคือ ถ้าหากคนอบขนมปังเพิ่มการทำงานเป็น 2 ชั่วโมง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาได้เพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการเพิ่มผลผลิตเสียมากกว่า เพราะคนอบขนมปังได้เพิ่มผลผลิตจากขนมปัง 50 ก้อน เป็น 100 ก้อน โดยได้เพิ่มเวลาในการอบขนมปังเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหนึ่งชั่วโมง แต่ถ้าหากคนอบขนมปังสามารถอบขนมปังได้ 100 ก้อน ภายในหนึ่งชั่วโมง ถึงจะแปลว่าเขาได้เพิ่มผลิตภาพขึ้น

ในแง่นี้ ‘ผลิตภาพ’ จึงต้องมาจากการใช้ปัจจัยนำเข้าหรือทรัพยากรที่ใช้ในกระบวนการผลิตอย่างมี ‘ประสิทธิภาพ’ (อาทิ ลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ลดเวลา) และประสิทธิผลด้วย (ได้ผลออกมาดี)

แล้วคนอบขนมปังจะสามารถเพิ่มผลิตภาพอย่างที่กล่าวมาข้างต้นได้ยังไงละ? ทางหนึ่งที่สามารถจะทำได้คือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ เครื่องจักรที่มีความทันสมัยเข้ามาใช้ เช่นในกรณีของคนอบขนมปัง เขาก็สามารถที่จะทำได้โดยการนำเตาอบที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถทำให้การอบขนมปังนั้นเร็วขึ้น และได้จำนวนมากขึ้น มากไปกว่านั้น ความเชี่ยวชาญที่เพิ่มมากขึ้นจากประสบการณ์การทำงานที่เพิ่มมากขึ้นก็จะสามารถเพิ่มผลิตภาพได้ด้วยเช่นกัน

อีกตัวอย่างของการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ เครื่องจักรทันสมัย มาใช้ใน ภาคแรงงานเข้มข้น (labor intensive sectors) เพื่อการเพิ่มผลิตภาพ มีอาทิ การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการผ่าตัดอย่างการผ่าตัดด้วยเทคนิคการส่องกล้อง ซึ่งทำให้การผ่าตัดรวดเร็วมากขึ้นและมีความปลอดภัยต่อตัวคนไข้มากขึ้นจากการผ่าตัดแบบเก่าอีกด้วย นอกจากนั้น อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การทำนาในภาคเกษตรกรรมของบ้านเรา ซึ่งในสมัยก่อน การไถนา และการเกี่ยวข้าวนั้นเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก อาทิ การใช้กระบือไถนา หรือ การระดมเพื่อนบ้านมาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว แต่หากการนำเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเครื่องจักรที่มีความทันสมัย เช่น รถคูโบต้า หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ควายเหล็ก’ กระบวนการปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวในบ้านเราก็อาศัยแรงงานที่น้อยลงจากเดิมและได้ผลผลิตที่มากขึ้น เป็นต้น

ซึ่งเมื่อผลิตภาพเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นเพราะทำให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) ในตลาดที่มากขึ้น กล่าวคือสิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงขึ้น และมีต้นทุนในการผลิตที่ถูกกว่า ถ้าหากเทียบกับการใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ๆ ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจในภาคแรงงานเข้มข้นก็จะช่วยให้เราสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายของ #SDG8 ‘การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน’ ได้ด้วยเช่นกัน


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
https://www.economicshelp.org/blog/glossary/labour-intensive/

https://www.oecd.org/sdd/productivity-stats/40526851.pdf

http://www.economicswebinstitute.org/glossary/prdctvt.htm

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Sorravit Ma

    Knowledge Communication [Intern] | นักศึกษาฝึกงานผู้ฝันใฝ่ในสังคมที่ดีกว่า

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น