รัฐที่มีขนาดใหญ่กว่ารัฐเท็กซัส สหรัฐฯ 1.3 เท่าและมีประชากร 1.7 ล้านคนอย่างรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำระดับโลกด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์จากปี 2563 ที่พลังงานจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของรัฐเซาท์ออสเตรเลียได้ถึง 60% นอกจากนี้ รัฐเซาท์ออสเตรเลียยังมีแผนจะผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 500% ภายในปี 2593 รวมถึงจะเป็นผู้ส่งออกพลังงานสะอาดนี้ ไปพร้อมกับช่วยโลกยุติการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโดยเฉลี่ยให้อยู่ระดับเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส (หรือจำกัดให้คงอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส) จากระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม
รายงาน A Grid Dominated by Wind and Solar Is Possible, South Australia: A Window Into the Future โดย Institute for Energy Economics and Financial Analysis (IEEFA) ระบุว่าบทเรียนด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน 7 ประการจากรัฐเซาท์ออสเตรเลีย จะช่วยให้ประเทศอื่น ๆ ได้เรียนรู้และวางแผนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (energy transition) ไปได้อย่างเร็วขึ้น มีรายละเอียด ดังนี้
- พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานได้เกือบทั้งปี อย่างที่รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ได้ตั้งเป้าหมายให้พลังงานที่ใช้ภายในรัฐได้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 26% ภายในปี 2563 และในท้ายที่สุด รัฐเซาท์ออสเตรเลียสามารถไปได้ไกลกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยตัวเลขที่ 60% โดยความสำเร็จส่วนหนึ่งนั้นมาจาก ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ นอกจากนี้ ใจความสำคัญยังอยู่ที่การใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน (mix of renewables sources)
- พลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นได้โดยการผลักดันนโยบายของรัฐและตลาดที่เกื้อหนุน โดยสภาพทั่วไป รัฐเซาท์ออสเตรเลียมีข้อได้เปรียบจากการมีแสงอาทิตย์และลมพัดที่แรงและต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การนำทรัพยากรที่มีอยู่นั้นมาใช้ต้องอาศัยกระบวนการด้านกฎหมายและการผลักดันเชิงนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกิดการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้ (และติดตั้งได้มากขึ้น) ในทางหนึ่ง ก็เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมและแรงจูงใจต่อนักลงทุนและนักพัฒนาด้วย
- แผนที่ทะเยอทะยานจะทำให้เกิดการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น การที่รัฐเซาท์ออสเตรเลียตั้งเป้าหมายอย่างทะเยอทะยาน – ‘จะผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 500% ภายในปี 2593 และจะเป็นผู้ส่งออกพลังงานสะอาด อันหมายรวมถึงไฮโดรเจนสีเขียว เหล็กสีเขียว และสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ’ ทำให้นำมาซึ่งการลงทุนในการพัฒนาขีดความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นขีดความสามารถในการผลิต และโครงสร้างด้านพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
- พลังงานหมุนเวียน (แสงอาทิตย์และลม) สามารถช่วยให้ค่าไฟฟ้าราคาส่งต่ำกว่าศูนย์ อย่างในกรณีของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ราคาค่าไฟต่ำลง ติดลบ $9 ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ระหว่าง 10.00 น. และ 15.30 น. ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564
- โครงข่ายพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของรัฐสามารถช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพและมั่นคง
- ระบบจัดเก็บพลังงาน/แบตเตอรี่ สามารถช่วยให้ระบบไฟฟ้าเชื่อถือได้และมั่นคง
- การจัดการกระจายไฟฟ้าผ่านเครือข่ายอย่างระมัดระวังและครอบคลุม สามารถช่วยให้ครัวเรือนที่ติดตั้งแผงโซลาเซลล์บนดาดฟ้าเข้าถึงไฟฟ้าได้สูงขึ้น
● อ่านรายงานฉบับเต็มที่ : A Grid Dominated by Wind and Solar Is Possible, South Australia: A Window Into the Future
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาด – (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
https://www.weforum.org/agenda/2021/06/renewable-energy-south-australia-climate-change/