UNESCO และ WHO ผลักดัน ‘โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ’ เพื่อให้สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน

ยูเนสโก (UNESCO) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดตัวชุดข้อมูลสำหรับ ‘Global Standards for Health-promoting Schools หรือ มาตรฐานสากลสำหรับโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ‘ เพื่อเป็นแนวทางให้โรงเรียนใช้เพื่อพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและวัยรุ่นในวัยเรียน 1.9 พันล้านคน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 การปิดโรงเรียนทำให้เด็กๆ มีความเครียด ความวิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เพิ่มขึ้น และส่งผลให้นักเรียนระดับประถมศึกษาประมาณ 365 ล้านคนไม่ได้ทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน

มาตรฐานสากลนี้เรียกร้องให้ทุกโรงเรียน ส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะทางปัญญา ทางสังคมและอารมณ์ และการมีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีให้นักเรียน โดยประเทศที่จะนำมาตรการต่างๆ นี้ไปใช้นำร่อง ได้แก่ บอตสวานา อียิปต์ เอธิโอเปีย เคนยา และปารากวัย

ยูเนสโกและองค์การอนามัยโลกจะทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้สามารถประยุกต์มาตรฐานเหล่านี้ให้เข้ากับบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ โดยโปรแกรมด้านสุขภาพและโภชนาการในโรงเรียนจะช่วยพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในหมู่เด็กนักเรียนได้ ดังมีตัวอย่าง ต่อไปนี้

  • โครงการด้านสุขภาพและโภชนาการสำหรับโรงเรียนในพื้นที่รายได้ต่ำซึ่งนักเรียนนักเรียนจำนวนมากมักประสบปัญหาสุขภาพจากพยาธิและโรคโลหิตจาง โครงการนี้ได้ช่วยให้นักเรียนได้มีเวลาเรียนหนังสือเพิ่มอีก 2.5 ปี
  • โครงการการป้องกันโรคมาลาเรียสามารถช่วยให้เด็กนักเรียนขาดเรียนน้อยลง 62%
  • อาหารโรงเรียนที่มึคุณค่าทางโภชนาการช่วยเพิ่มอัตราการเข้าโรงเรียน (enrolment) ของนักเรียนโดยเฉลี่ย 9% และการเข้าเรียน (attendance) 8% และอาหารเหล่านั้นยังช่วยลดภาวะโลหิตจางในเด็กหญิงวัยรุ่นได้มากถึง 20%
  • การส่งเสริมการล้างมือช่วยลดการขาดเรียนเพราะป่วยจากโรคทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจได้ 21% -61% ในประเทศรายได้ต่ำ
  • การบริการตรวจวัดสายตาและตัดแว่นตาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทำให้นักเรียนมีโอกาสสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านการอ่านและคณิตศาสตร์สูงขึ้น 5%
  • การสอนเพศวิถีศึกษาอย่างครอบคลุมช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพทางเพศและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และพัฒนาผลลัพธ์ด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ให้ดีขึ้น เช่น ลดการติดเชื้อเอชไอวี และอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
  • การพัฒนาระบบน้ำและสุขาภิบาลในโรงเรียน ตลอดจนความรู้ด้านสุขอนามัยของการมีประจำเดือน ช่วยให้เด็กผู้หญิงมีสุขอนามัยในร่างกายและมีสุขภาพที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรี และอาจช่วยจำกัดจำนวนวันขาดเรียนในช่วงมีประจำเดือนได้

การพัฒนาชุดข้อมูลเพื่อการดำเนินการตามมาตรฐานนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานทั่วไป แผนที่ 13 ขององค์การอนามัยโลก (13th General Program) ที่มีเป้าหมาย ‘ทำให้คนหนึ่งพันล้านชีวิตมีสุขภาพดีขึ้น’ ภายในปี 2566 และตามวาระการศึกษาปีค.ศ. 2030 (Education 2030 Agenda) โดยยูเนสโก

ดาวน์โหลดชุดข้อมูล Global Standards for Health Promoting Schools

โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- SDG4 มีคุณภาพด้านการศึกษา ในประเด็น ยกระดับอุปกรณ์ที่จำเป็นในการศึกษาให้อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และผู้มีเพศสภาวะหลากหลาย และสร้างสภาพแวดล้อมให้ปราศจากความรุนแรงต่อกลุ่มเหล่านี้ (4.a)
- SDG6 การมีน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี ในประเด็น การเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง (6.2)

ที่มา : UN News

Last Updated on มิถุนายน 25, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น