เนื่องจากสุขภาพของเด็กมีความเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากเคมีภัณฑ์ อาทิ พอลิเมอร์ เม็ดสี (pigments) สารเติมแต่งพลาสติไซเซอร์ในพลาสติก ผ้า ไม้ หรือเหล็กที่เป็นส่วนประกอบของ ‘ของเล่นเด็ก’
กรอบนโยบายระดับโลกด้านการจัดการเคมีภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยรัฐบาลและองค์กร-ผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ อย่างยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยการจัดการเคมีภัณฑ์ระหว่างประเทศ (The Strategic Approach to International Chemicals Management – SAICM) จึงเผยแพร่รายงานที่ศึกษานโยบายและกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยของเล่นเด็กในเรื่องเคมีภัณฑ์ที่อันตรายและน่ากังวล (chemicals of concern) ในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง (รวมถึงไทย) โดยเฉพาะที่มีมูลค่าการนำเข้าของเล่นเด็กจากประเทศจีนจำนวนมาก เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการมีข้อกำหนดที่ชัดเจนและสอดคล้องกับสากล รวมทั้งการบังคับใช้และกลไกของทั้งภาครัฐและบริษัทของเล่นเด็กในการควบคุมเคมีภัณฑ์เหล่านั้น
โดยประเทศรายได้ปานกลางทั้งหมดที่ทำการศึกษา ได้แก่ เม็กซิโก อินเดีย รัสเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย บราซิล ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งผลการศึกษาปรากฎว่ามีทั้งประเทศที่มีการระบุอย่างเจาะจง/การจำกัดประเภท/ปริมาณเคมีภัณฑ์ในของเล่นเด็ก กับประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจน ไม่มีรายละเอียด หรือไม่มีการอ้างถึงมาตรฐานของประเทศหรือตามสากล เช่นเดียวกันกับประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งพบว่าทาจิกิสถานและแทนซาเนียต่างก็มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ อาทิ เยเมน ซีเรีย เกาหลีเหนือ โมซัมบิก กลับไม่พบข้อมูล
ทั้งนี้ แม้ว่าในภาพรวม กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเคมีภัณฑ์บางชนิดในประเทศต่าง ๆ จะมีความสอดคล้องกันอย่างมาก แต่ข้อกำหนดเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ในนโยบายความปลอดภัยของเล่นเด็กก็ยังคงมีความแตกต่างอยู่มาก โดยสำหรับ SAICM ที่ได้มีการจัดอันดับเคมีภัณฑ์ที่อันตรายและน่ากังวล ได้หวังให้ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ของการผลิต เร่งออกมาตรการควบคุมเคมีภัณฑ์ในของเล่นเด็ก โดยการดำเนินการ อาทิ
- ประเทศต่าง ๆ อาจจะนำมาตรฐานสากลเป็นตัวตั้งในการจัดทำนโยบายความปลอดภัยของเล่นเด็ก โดยคำนึงถึงความเข้มงวดและรัดกุมของนโยบาย
- ประเทศที่ผลิตหรือนำเข้าของเล่นเด็กจะต้องผลักดันให้มีกลไกในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางการ
- บริษัทผู้ผลิตของเล่นเด็กจะต้องตระหนักและเข้าใจถึงข้อกำหนด-กฎระเบียบดังกล่าวด้วย
เนื้อหาภายในรายงานยังได้เรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่การผลิตของเล่นเด็ก ร่วมมือกันตลอดจนปรับปรุงความสอดคล้องของข้อกำหนดทางกฎหมาย ศักยภาพที่จะปฏิบัติตามและความโปร่งใส รวมถึงการบังคับใช้ข้อกำหนดเหล่านั้น
ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสุขภาพของเด็กและการเล่นที่ปลอดภัย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) จัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิต ลดการปล่อยออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563
แหล่งที่มา:
https://sdg.iisd.org/news/better-toy-safety-policies-needed-to-protect-children-saicm-report/