บทความ Prioritizing Nutrition Security in the US เผยแพร่ใน JAMA Network ระบุว่าประเด็นความไม่มั่นคงทางอาหาร (food insecurity) ในสหรัฐฯ ต้องพูดใหม่ว่าเป็นเรื่อง ‘ความไม่มั่นคงทางโภชนาการ’ (nutrition insecurity) เพราะปัญหาด้านอาหารตามบริบทของสหรัฐฯ เป็นเรื่องของโรคอ้วนและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่สามารถนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้ โดยเป็นสาเหตุของจำนวนการเจ็บป่วย การเสียชีวิต และการใช้งบประมาณทางสาธารณสุขจำนวนมากของประเทศ
การชี้ปัญหาให้ตรงจุดอย่างแท้จริงก็เพื่อจะนำไปสู่การดำเนินการได้ถูกประเด็นและออกแบบนโยบายการเข้าถึงอาหาร ที่ไม่ใช่แค่มีอาหารเพียงพอเท่านั้น แต่ต้องเป็นอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อสุขภาวะที่ดีของชาวอเมริกัน
โดยขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ยังพบว่าประเด็นความไม่มั่นคงทางอาหารได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างไม่สมสัดส่วนด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ และความไม่มั่นคงทางอาหารยังสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับโภชนาการที่ไม่ดี (poor nutrition) กล่าวคือ ประชากรกลุ่มที่มีรายงานว่าอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหาร มักจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับสารอาหารและโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
แสดงให้เห็นว่า ประเด็น ณ วันนี้ในสหรัฐฯ ต่างไปจากเดิมในทศวรรษ 1960 ที่เป็นเรื่องความหิวโหย หรือในทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเน้นย้ำการเข้าถึงอาหารที่มีเพียงพอและราคาที่ซื้อหาได้ แต่จะต้องโฟกัสไปที่มี ‘โภชนาการ’ ด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่หายไปจากนโยบายแห่งชาติ กล่าวคือ สหรัฐฯ มุ่งเน้นเรื่อง ‘ปริมาณ’ จนอาจหลงลืม ‘คุณภาพ’ ของอาหารไป
ผู้เขียนบทความนิยาม ‘ความมั่นคงทางโภชนาการ’ ว่าหมายถึง อาหารและเครื่องดื่มที่มีพร้อมเสมอ ที่ทุกคนคนสามารถเข้าถึงในราคาที่หาซื้อได้ และอาหารที่ว่านั้นจะต้องช่วยให้มีสุขภาพที่ดี ไปจนถึงช่วยป้องกันและอาจช่วยรักษาโรคได้
‘มันถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงแล้ว’ – Sheila Fleischhacker ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Georgetown Law School หนึ่งในผู้เขียนบทความได้กล่าวเอาไว้ พร้อมกับที่ได้จัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่องอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ เพื่อนำไปผลักดันต่อผ่านการรณรงค์ในระดับท้องถิ่น มลรัฐ และประเทศต่อไป
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
– (2.1) ยุติความหิวโหย และ (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการและแก้ไขปัญหาภาวะขาดสารอาหาร
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านการป้องกันและรักษาโรค และความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/04/210401123921.htm
Last Updated on มิถุนายน 28, 2021