ข้อยกเว้นทางกฎหมายและการจ้างงานนอกระบบ อุปสรรคต่อการมีงานที่มีคุณค่าของแรงงานทำงานบ้าน

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ลงมติอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน หรือ Domestic Workers Convention 2011 (No. 189) เพื่อคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ซึ่งถึงแม้จะเป็นอาชีพที่มีมายาวนาน แต่ยังถูกกีดกันออกจากกฎหมายแรงงานและส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานนอกระบบ

รายงานของ ILO ฉบับล่าสุด ระบุว่า แม้ว่าอนุสัญญานี้ผ่านมาสิบปีแล้ว แต่สภาพการทำงานของแรงงานทำงานบ้านหลายคนไม่ได้ดีขึ้นเลย และยังเลวร้ายลงอีกเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19

ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 สูงสุด แรงงานทำงานบ้านในประเทศแถบยุโรปตกงานถึง 5-20% และสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในทวีปอเมริกาที่มีแรงงานทำงานบ้านต้องออกจากงานถึง 25-50% ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ ในเวลาเดียวกันนั้นมีการสูญเสียงานต่ำกว่า 15% ในประเทศส่วนใหญ่ นั่นเป็นเพราะเมื่อแรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานนอกระบบและไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย แรงงานกลุ่มนี้จึงตกงานสูงกว่าแรงงานกลุ่มอื่น ๆ

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีแรงงานทำงานบ้านตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 75.6 ล้านคน และแรงงานในภาคนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงถึง 57.7 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนมากถึง 76.2% ของแรงงานทำงานบ้านทั้งหมด และมากกว่า 60 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งทำให้พวกเขาหลุดออกจากการคุ้มครองแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมที่มีสิทธิจะได้รับ

ความก้าวหน้าเพื่อการมีงานที่มีคุณค่าของแรงงานทำงานงานบ้านในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้แรงงานทำงานบ้านที่ไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองทางกฎหมายลดลงกว่า 16 จุดเปอร์เซนต์ อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงงานทำงานบ้านอีก 36% ที่ถูกกีดกันออกจากกฎหมายแรงงานอย่างสิ้นเชิง การปิดช่องว่างทางกฎหมายนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและรัฐอาหรับ

สภาพการทำงานที่แรงงานทำงานบ้านมักต้องเผชิญหากไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายแรงงาน คือ ไม่มีการจำกัดชั่วโมงทำงาน ไม่ได้รับสิทธิ์ในวันหยุดตามกฎมาย การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และมักได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะเมื่อเป็นแรงงานนอกระบบ

อุปสรรคในการมีงานที่มีคุณค่าของแรงงานทำงานบ้าน เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเด็น ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม (8.8 )
- SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ ในประเด็น ใช้นโยบายโดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม และให้บรรลุความเสมอภาค (10.4)

ที่มา : ILO

Last Updated on มิถุนายน 29, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น