Site icon SDG Move

SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021

World Economic Forum เผยแพร่รายงาน Global Gender Gap Report 2021 หรือ รายงานสถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก ประจำปี 2021 เพื่อติดตามความคืบหน้าเพื่อไปสู่โลกที่มีความเท่าเทียมทางเพศ และเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างเพศในมิติต่าง ๆ โดยรายงานฉบับปีนี้เป็นปีที่ 15 ของการเปรียบเทียบพัฒนาการความพยายามถมช่องว่างดังกล่าว และการจัดลำดับความก้าวหน้าของแต่ละประเทศนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

Global Gender Gap Index จัดทำขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2006 โดยจะเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างเพศใน 4 มิติ ซึ่งทำมาตั้งแต่รายงานฉบับแรก ได้แก่

1. โอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (Economic Participation and Opportunity) ตัวชี้วัด การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน, ความเท่าเทียมของค่าจ้างในงานเดียวกัน, รายได้จากการทำงานโดยประมาณ, และสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งงานระดับสูง
2. การได้รับการศึกษา (Educational Attainment) ตัวชี้วัด อัตราการรู้หนังสือ อัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
3. สุขภาพและการมีชีวิตรอด (Health and Survival) ตัวชี้วัด สัดส่วนเพศของทารกแรกเกิด อายุขัยคาดเฉลี่ย
4. อำนาจทางการเมือง (Political Empowerment) ตัวชี้วัด สัดส่วนของผู้หญิงในสภา ผู้หญิงในตำแหน่งรัฐมนตรี จำนวนปีที่มีผู้นำรัฐ/ประเทศเป็นผู้หญิงในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

ในการจัดอันดับดัชนีช่องว่างระหว่างเพศปี 2021 (Gender Gap Index) นี้ใช้ข้อมูลจากทั้งหมด 156 ประเทศ โดยมี 3 ประเทศที่ถูกจัดอันดับครั้งแรก ได้แก่ อัฟกานิสถาน กายอานา และ ไนเจอร์ และมี 107 ประเทศจากทั้งหมดอยู่ในการจัดอันดับดัชนีนี้ตั้งแต่การจัดอันดับปีแรก


| แนวโน้มความก้าวหน้าการถมช่องว่างระหว่างเพศในระดับโลก

ความสำเร็จในการถมช่องว่างทางเพศระดับโลกของปี 2021 ถดถอยลงเล็กน้อยจากปี 2020 (68.8%) โดยอยู่ที่ 67.7% (เหลืออีก 32.3% เพื่อบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ) และหากยังทำงานดังที่เคยทำมาตลอด จะต้องใช้เวลาถึง 135.6 ปี เพื่อให้หญิงชายเท่าเทียมกันโดยสมบูรณ์ ซึ่งนี่เป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปีที่แล้ว (99.5 ปี) และนานที่สุดเท่าที่การจัดอันดับนี้เคยประมาณมาตลอด 15 ปี โดยถึงแม้ว่าคะแนนดัชนีจะลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เมื่อคำนวณความก้าวหน้าในช่วง 5 ปีล่าสุดเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก จึงทำให้ระยะเวลาในการถมช่างว่างระหว่างเพศให้ได้สมบูรณ์ยาวนานขึ้นไปอีก

ที่น่าสนใจคือ ตัวเลขช่องว่างระหว่างเพศที่กว้างขึ้นนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดำเนินงานของประเทศขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยจะสู้ดีและสัดส่วนของความก้าวหน้าจากประเทศขนาดเล็กที่เกิดขึ้นนั้นไม่มากพอ โดยจาก 153 ประเทศที่อยู่ในการจัดลำดับทั้งปีนี้และปีที่แล้ว มี 98 ประเทศคะแนนดีขึ้น ขณะที่ 55 ประเทศคะแนนลดลงหรือไม่มีความก้าวหน้า

ภาพที่ 1 : สถานะช่องว่างระหว่างเพศระดับโลกโดยรวม และทั้ง 4มิติ

ช่องว่างระหว่างเพศในพื้นที่ทางการเมืองยังคงเป็นช่องว่างที่กว้างที่สุดในทั้งสี่มิติ โดยมีความก้าวหน้าเพื่อไปถึงความเท่าเทียมในปัจจุบันเพียง22% เท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่าหากนี่เป็นเส้นทางเดินเราเพิ่งเดินมาได้เพียง 22 ก้าวจาก 100 ก้าวเท่านั้น และช่องว่างนี้ยังขยายกว้างขึ้นจากปี 2020 ถึง 2.4% (ลงมาเท่าปี 2014) ซึ่งถดถอยมากที่สุดในบรรดาทุกมิติที่สำรวจ

จากข้อมูลทั้งหมด 156 ประเทศ (จนถึง 15 มกราคม 2021) มีสัดส่วนผู้หญิงเป็นตัวแทนในรัฐสภาเพียง 26.1% จากทั้งหมดประมาณ 35,000 ที่นั่ง และมีรัฐมนตรีหญิง 22.6% จากจำนวนรัฐมนตรีกว่า 3,400 คนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รายงานปี 2020 มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งในรัฐสภาเพิ่มขึ้นใน 96 ประเทศ และมีสองประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงครั้งแรก (โตโก และ เบลเยียม) ด้วยอัตราความคืบหน้าในปัจจุบัน จะต้องใช้เวลาถึง 145.5 ปีเพื่อปิดช่องว่างระหว่างเพศในมิตินี้

ช่องว่างระหว่างเพศในด้านโอกาสเศรษฐกิจเป็นช่องว่างที่กว้างที่สุดลำดับที่สอง โดยมีความก้าวหน้าเพื่อไปถึงความเท่าเทียมทางเพศเกินครึ่งทางแล้ว 58% แต่ก็ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับปี 2020 และด้วยเหตุนี้จะต้องใช้เวลาอีกถึง 267.6 ปี เพื่อไปถึงความเท่าเทียมทางเพศที่สมบูรณ์ รายงานระบุว่า ตัวเลขดัชนี้นี้อาจเพิ่มขึ้นได้อีก 1-2 จุดเปอร์เซนต์ เมื่อสะท้อนผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไว้ด้วยทั้งหมด

ความก้าวหน้าที่เชื่องช้าในมิตินี้ เป็นผลมาจากแนวโน้มที่ตรงกันข้ามกันสองประการ ในด้านหนึ่ง สัดส่วนผู้หญิงทำอาชีพที่ใช้ทักษะเฉพาะทางและความเท่าเทียมด้านค่าจ้างดีขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังคงขาดสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงตลอดมา โดยมีผู้บริหารหญิงทั่วโลกเพียง 27% เท่านั้น

ความสำเร็จในการปิดช่องว่างระหว่างเพศด้านการศึกษาและสุขภาพใกล้ความจริงมากที่สุด ความก้าวหน้าในมิติการได้รับการศึกษาอยู่ที่ 95% โดยมี 37 ประเทศทำสำเร็จในการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ระยะทาง 5% สุดท้ายนี้มีความคืบหน้าค่อนข้างช้า จึงมีการประมาณว่า จะต้องใช้เวลาอีก 14.2 ปี ในการปิดช่องว่างนี้โดยสมบูรณ์ และแม้ว่าช่องว่างระหว่างเพศในมิติด้านสุขภาพและการมีชีวิตรอดได้ถูกจัดการไปแล้วถึง 96% แต่คะแนนปีนี้ก็ยังลดลงอีกเล็กน้อยจากปีที่แล้ว และไม่มีการระบุว่าจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไรจึงจะประสบความสำเร็จ


| ช่องว่างระหว่างเพศในระดับภูมิภาค

Global Gender Gap Report จัดกลุ่มประเทศทั้งหมดออกเป็น 8 กลุ่มตามภูมิศาสตร์กว้างๆ ได้แก่ เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก, ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง, ละตินอเมริกาและแคริบเบียน, ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ, อเมริกาเหนือ, เอเชียใต้, แอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา, และยุโรปตะวันตก

แม้ว่าจะยังไม่มีประเทศใดบรรลุความเท่าเทียมทางเพศโดยสมบูรณ์ แต่ไอซ์แลนด์ก็เป็นประเทศที่ครองอันดับหนึ่งประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศสูงที่สุดในโลกได้เป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน

ประเทศ 10 อันดับแรก ได้แก่ 
#1 ไอซ์แลนด์ (89.2%) #2 ฟินแลนด์ (86.1%) #3 นอร์เวย์ (84.9%) #4 นิวซีแลนด์ (84.0%) #5 สวีเดน (82.3%) #6 นามิเบีย (80.9%) #7 รวันดา (80.5%) #8 ลิทัวเนีย (80.4%) #9 ไอร์แลนด์ (80.0%) และ#10 สวิตเซอร์แลนด์ (79.8%)

ในปีนี้ 5 ประเทศที่มีพัฒนาการมากที่สุดในดัชนีโดยรวม ได้แก่ ลิทัวเนีย เซอร์เบีย ติมอร์-เลสเต โตโก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยลดช่องว่างระหว่างเพศลงได้อย่างน้อย 4.4% ขึ้นไป

ยุโรปตะวันตกยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความสำเร็จสูงสุดในด้านความเท่าเทียมทางเพศ (77.6%) และยังคงก้าวหน้าขึ้นอีกในปีนี้ อันดับที่สอง คือ อเมริกาเหนือ (76.4%) ซึ่งได้คะแนนเฉลี่ยน้อยกว่ายุโรปตะวันตกเพียง 0.5% ตามมาด้วย ละตินอเมริกาและแคริบเบียน (72.1%) ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (71.2%) ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (71.2%) เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (68.9%) แอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (67.2%) รองลงมาคือเอเชียใต้ (62.3%) และตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีช่องว่างระหว่างเพศกว้างที่สุด (60.9%)

ภูมิภาคที่มีพัฒนาการมากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ อเมริกาเหนือ โดยมีความก้าวหน้าจากปีที่แล้วขึ้นถึง 3.5 จุดเปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกันภูมิภาคที่มีความถดถอยมากที่สุด ได้แก่ เอเชียใต้ ที่ช่องว่างระหว่างเพศขยายขึ้นอีก 3.4 จุดเปอร์เซ็นต์จากปี 2020 

เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ต้องการเพื่อสร้างความสำเร็จ ด้วยความเร่งในการดำเนินงานเช่นปัจจุบัน มีสามทวีปเท่านั้นที่จะใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งร้อยปีในการถมช่องว่างระหว่างเพศให้เต็มโดยสมบูรณ์ ซึ่งได้แก่ ยุโรปตะวันตก (52.1 ปี) อเมริกาเหนือ (61.5 ปี) และ ละตินอเมริกาและแคริบเบียน (68.9 ปี) สำหรับในอีกห้าภูมิภาค ต้องใช้เวลาอีกเกินหนึ่งร้อยปี ได้แก่ แอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (121.7 ปี) ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (134.7 ปี) เอเชียกลางและแอฟริกาเหนือ (142.4 ปี) เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (165.1) และนานที่สุดที่เอเชียใต้ (195.4 ปี)

ภาพที่ 2 : ความสำเร็จในการถาช่องว่างระหว่างเพศในระดับภูมิภาค

| ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อผู้หญิงทั่วโลก 

ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากกว่าผู้ชาย ข้อมูลจาก ILO ระบุว่า มีผู้หญิง 5% ต้องตกงาน ในขณะที่ผู้ชายตกงานน้อยกว่าที่ 3.9% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์มากกว่าผู้ชายมาก เช่น ธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว

แม้จะมีงานทำ แต่ผู้หญิงก็ยังคงได้รับผลกระทบในแง่อื่น ข้อมูลจาก Ipsos เมื่อมกราคม 2021 แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มีลูกต้องเผชิญความเครียดจาก ‘การทำงานสองกะ (double-shift)’ ทั้งงานที่ได้รับค่าตอบแทน และงานดูแลสมาชิกในบ้านเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับผู้ชาย อันเป็นผลมาจากการปิดโรงเรียนและปิดบริการดูแลเด็กและคนชรา ผู้หญิงจึงต้องเผชิญกับความวิตกกังวลมากขึ้นต่อความไม่มั่นคงในอาชีพการงานและความเครียดทั้งจากชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงาน

และต่อให้เมื่อตลาดแรงงานฟื้นตัวแล้ว ข้อมูลเพิ่มเติมจาก LinkedIn ก็ยังแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงได้รับการว่าจ้างในอัตราที่ช้ากว่าผู้ชายในหลายๆ อุตสาหกรรม และยังมีแนวโน้มที่จะได้งานในตำแหน่งระดับผู้นำลดลง ซึ่งทำให้ความก้าวหน้าในมิตินี้ถอยหลังไปอีก 1-2 ปี


| ผู้หญิงกับสายงานในอนาคต 

วิกฤตโควิดเร่งให้โลกเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่ระบบอัตโนมัติและระบบดิจิทัล นั่นเท่ากับเร่งให้เกิดการหยุดชะงักในตลาดแรงงานเร็วขึ้น ข้อมูลของรายงานชี้ให้เห็นถึงความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญต่อความเท่าเทียมทางเพศในโลกแห่งการทำงานในอนาคต อันเป็นผลมาจากการแบ่งแยกเพศในอาชีพ (occupational segregation) ที่ก็ยังคงเกิดขึ้น

สายงานที่มีสัดส่วนผู้หญิงทำงานในระดับต่ำมา ได้แก่ สายงานที่กำลังเติบโตในอนาคต (Jobs of Tomorrow) ที่ต้องการทักษะทางเทคนิคเฉพาะทาง เช่น สาขา Cloud Computing ที่มีผู้หญิงทำงานเพียง 14% ในสาขาวิศวกรรม มีผู้หญิงทำงาน 20% และในสาขา Data and AI มีผู้หญิงทำงาน 32% และจากการประเมินของรายงานชิ้นนี้ ยังได้แสดงให้เห็นอีกว่าว่าผู้หญิงจะต้องเผชิญความยากลำบากมากกว่าผู้ชายในการเปลี่ยนงานไปยังสายงานเหล่านี้

ภาพที่ 3 : ความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนทักษะทางเทคนิคเฉพาะทางที่งานต้องการ และ ตัวแทนผู้หญิงที่ทำงานในกลุ่มงานที่กำลังขยายตัวในอนาคต

| นโยบายและแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ 

จากผลของระบบอัตโนมัติที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ภาระจากการทำงานสองกะที่หนักขึ้น ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ในตลาดแรงงาน เช่น การแบ่งแยกเพศในการประกอบอาชีพ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคตของผู้หญิง ลดโอกาสในการจ้างงานใหม่ที่ดีกว่า และอาจทำให้รายได้รวมของผู้หญิงลดลงอย่างต่อเนื่อง รายงานนี้จึงได้เสนอแนวทางที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ถมช่องว่างระหว่างเพศได้เร็วมากขึ้น ได้แก่


| ความก้าวหน้าของความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทย 

ประเทศไทยถูกจัดกลุ่มอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในสามภูมิภาคที่มีการพัฒนามากที่สุด โดยสามารถลดช่องว่างทางเพศในมิติเศรษฐกิจ การศึกษา และสุขภาพได้ แต่ช่องว่างในมิติการเมืองกลับขยายกว้างขึ้น

ในระดับโลก ไทยได้อันดับที่ 79 จาก 156 ประเทศ (ปี 2020 ได้อันดับ 75 จาก 153 ประเทศ) ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไทยได้อันดับที่ 8 จาก 20 ประเทศ โดยมีนิวซีแลนด์เป็นประเทศอันดับหนึ่งของภูมิภาคนี้ และในระดับกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยได้อันดับที่ 4 จาก10 ประเทศ โดยเป็นรองจากฟิลิปปินส์ ลาว และสิงคโปร์

ภาพที่ 4 : ลำดับและคะแนนความเท่าเทียมระหว่างเพศของประเทศไทย

ดัชนีความก้าวหน้าการถมช่องว่างระหว่างเพศของประเทศไทยอยู่ที่ 71% สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยโลกที่ 67.7% เป็นที่น่าประทับใจว่าไทยประสบความสำเร็จในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในมิติด้านการศึกษา (99%) และด้านสุขภาพ (98%) ได้เกือบสมบูรณ์แบบ ตามมาด้วยมิติด้านโอกาสทางเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าถึง 79% อย่างไรก็ตาม คะแนนในมิติด้านอำนาจทางการเมืองของผู้หญิงนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก โดยปิดช่องว่างระหว่างเพศไปได้เพียงแค่ประมาณ 8% ทำให้ไทยลงไปอยู่ใน 25 ประเทศที่ได้คะแนนด้านการเมืองต่ำที่สุดในโลก

โดยคะแนนด้านมิติทางการเมืองที่แทบจะไม่มีความก้าวหน้านี้เป็นเพราะไทยมีสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาเพียง 15.8% มีผู้นำประเทศเป็นผู้หญิงเพียงแค่ 2.8 ปี ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา และไทยได้ 0 คะแนนจากตัวชี้วัดสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งรัฐมนตรี โดยข้อมูลในการทำดัชนีชี้วัดนับถึงเดือนมกราคม 2021 เท่านั้น ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้หญิงหนึ่งท่านโดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ในแต่ละมิติที่ทำการวัดผล ประเทศไทยไม่มีความเปลี่ยนแปลงในระดับคะแนนของมิติใดเลยที่เห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี ก่อน คะแนนในปีนี้ยังคงทำได้ดีที่สุดในมิติการศึกษา สุขภาพ ตามมาด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจ และแย่ที่สุดทในด้านการเมืองเช่นเดิม และอัตราความเร็วในการถมช่องว่างระหว่างเพศของประเทศไทยก็เป็นไปอย่างช้า ๆ โดยมีคะแนนรวมเพิ่มขึ้น 0.2 จุดเปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2020 และใช้เวลาถึง 15 ปีเพื่อเพิ่มการปิดช่องว่างขึ้นได้เพียง 2.7 จุดเปอร์เซ็นต์ จากปี 2006 ที่มีการจัดทำดัชนีเป็นปีแรก

ดูคะแนนตัวชี้วัด Gender Gap Index ทั้งหมดของประเทศไทย ที่ Economy Profiles


แม้เส้นทางมุ่งสู่ความสำเร็จในการถมช่องว่างระหว่างเพศระดับโลกนั้นผ่านมาแล้วเกือบสามในสี่ แต่ความแตกต่างของระดับความก้าวหน้า และความเร็วของพัฒนาการในแต่ละประเทศนั้นยังคงต้องการการดำเนินการจากระดับผู้นำที่แข็งขัน เพื่อปลูกฝังให้ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายและแนวปฏิบัติในทุกมิติ ข้อมูลจาก Gender Gap Report 2021 นี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าหากยังทำงานด้วยวิธีการแบบเดิม ไม่มีทางเลยที่โลกจะบรรลุความเท่าเทียมทางเพศได้ทันภายใต้กำหนดเวลาของวาระการพัฒนาปี 2030 หรือแม้กระทั่งสำเร็จทันเห็นภายในช่วงชีวิตของเรา

เข้าถึงรายงาน Global Gender Gap Report 2021 และ Infographic ที่ World Economic Forum

ความเท่าเทียมทางเพศ Gender Equality เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน SDG5 บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมพลังให้ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน #

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version