● employment / unemployment
ก่อนจะมาทำความเข้าใจคำว่า ‘unemployment’ หรือ ‘การว่างงาน’ ขอชวนมาดูคำว่า ‘ผู้ที่มีงานทำ’ (employed person) ก่อนเพื่อความชัดเจนมากขึ้น
โดยตามนิยามขององค์การระหว่างประเทศ (ILO) ระบุไว้ว่า ผู้ที่มีงานทำ หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 15 ปี หรือมากกว่าขึ้นไป ได้เริ่มทำงานมาแล้ว 1 ชั่วโมง โดยงานที่ทำเป็นงานที่ให้บริการหรือมีผลผลิต/ผลลัพธ์ซึ่งได้รับการตอบแทนเป็นค่าจ้างหรือกำไร และยังเป็นงานที่อนุญาตให้สามารถลาหยุด ลากิจ ลาป่วย ลาคลอด หรือลาเพื่อเข้าการอบรมที่เกี่ยวกับการทำงาน ไปจนถึงการจำต้องหยุดงานจากเหตุของการประท้วงหรือสภาพอากาศย่ำแย่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น ทั้งนี้ นิยามผู้ที่มีงานทำยังครอบคลุมลูกจ้าง/พนักงาน ผู้ที่มีอาชีพอิสระ (self-employed) และผู้ที่ทำงานกับธุรกิจของครอบครัว แต่ไม่รวมถึงแรงงานผิดกฎหมาย
ขณะที่ ‘การว่างงาน’ นั้น ตามนิยามของ ILO หมายถึงภาวะที่ ‘ผู้ว่างงาน’ (unemployed person) ซึ่งเจาะจงถึงบุคคลที่มีอายุ 15 ปี หรือมากกว่าขึ้นไป ไม่ได้ทำงานในช่วงระยะเวลา/สัปดาห์หนึ่ง ๆ บุคคลที่มีความพร้อมจะตอบรับโอกาสงานและสามารถเริ่มทำงานได้ในอีกสองสัปดาห์ถัดไป รวมถึงกำลังหางานมาได้ประมาณสี่สัปดาห์แล้ว หรือได้งานแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการรอเริ่มงานใหม่ในอีกสามเดือนข้างหน้า (future starter) จะเห็นได้ว่าภายใต้ร่มของคำว่าการว่างงานนั้น มีนัยของความเป็นอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน อธิบายโดยคร่าว คือ
- การว่างงาน/ไม่ได้รับการจ้างงาน (not in employment) ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งรวมถึงคนที่กำลังจะย้ายไปต่างประเทศเพื่อหาลู่ทางอาชีพ
- ยังว่างอยู่และพร้อมที่จะเริ่มงานใหม่ (currently available)
- กำลังหางานทำ (seek employment) มาเป็นระยะเวลาสี่สัปดาห์
- โดยอาจกำลังอยู่ในสถานการณ์ของการสมัครงานโดยตรงกับบริษัท โรงงาน ฯลฯ กำลังลงทะเบียนกับหน่วยงานจัดหางานทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังเขียน resume/CV หรือรอเริ่มทำธุรกิจ รอเริ่มทำการเกษตร กำลังจัดเตรียมเรื่องการเงิน การขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ การหาที่ดิน การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ กำลังขอความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงหรือญาติ เป็นต้น
- ไปจนถึงประเภทงานในกลุ่ม อาทิ งานพาร์ทไทม์ งานนอกระบบ งานชั่วคราว งานตามฤดูกาล การจ้างงานตามสัญญาจ้าง (casual employment) ทั้งภายในประเทศหรือต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลของ รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 8 (2560) ระบุว่าแรงงานนอกระบบในประเทศไทยถูกจัดว่าเป็น ‘ผู้มีงานทำ’ ทั้งที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน และไม่มีสวัสดิการ
ทั้งนี้ การที่สามารถระบุถึงประเภทกลุ่มคนที่ว่างงานไม่ว่าจะระยะสั้นหรือยาว หรือ 1, 2, 3 ก็เพื่อให้สามารถจัดการเรื่องการให้ความคุ้มครองทางสังคมได้อย่างเหมาะสม
ส่วนนิยามอย่างรวบรัดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2559) ระบุไว้ว่า ‘ผู้ว่างงาน’ ได้แก่ บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจ (บุคคลว่างงาน) มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ 1) ไม่ได้ทำงาน ไม่มีงานประจำ แต่ได้หางานในระหว่าง 30 วันก่อนสัมภาษณ์ และ 2) ไม่ได้ทำงาน ไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนสัมภาษณ์แต่พร้อมที่จะทำงานในระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์
● unemployment / underemployment
ดังนั้น สามารถกล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่า ‘คนที่ไม่ทำงาน แต่ก็ไม่ต้องการจะหางาน หรือไม่พร้อมจะทำงาน’ ก็ไม่ถือว่าเป็น ‘ผู้ว่างงาน’ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนั้น ยังสัมพันธ์กับคำว่า ‘การทำงานต่ำกว่าระดับ’ หรือ ‘underemployment’ กล่าวคือ คนวัยแรงงานที่มีกำลังแต่ไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่หรือเต็มประสิทธิภาพของแรงงาน โดยอาจเป็นการทำงานต่ำกว่าระดับด้านมิติเวลา อาทิ ทำงานน้อยกว่าเวลาที่สามารถทำได้ ซึ่งตามนิยามของ ILO อธิบายเอาไว้ว่าหมายถึง ผู้ที่มีงานทำแต่ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (จากตามปกติของการทำงานที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์), และการทำงานต่ำกว่าระดับในมิติสถานการณ์การทำงาน อาทิ ได้รับรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ หรือทำงานต่ำกว่าคุณวุฒิ-ความชำนาญ-ประสบการณ์ ซึ่งบุคคลในกลุ่มมิติสถานการณ์นั้นอาจจะอยู่ในช่วงพยายามหางานที่ดีกว่าแต่ยังหาไม่ได้ก็เป็นได้
ขณะที่อัตราการว่างงาน (unemployment rate) แสดงตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงาน (labour force) ในส่วนของผู้ที่ว่างงานหรือไม่ได้รับการจ้างงาน กล่าวคือ เป็นการวัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร/กำลังแรงงานที่ต่ำกว่าระดับ (underutilization of the labour supply) ทั้งยังเป็นตัวบ่งบอกความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคของการสร้าง-จ้างงานอย่างถ้วนทั่ว แม้ว่าจะมีหลายคนที่รอจะทำงานหรือพร้อมจะเริ่มทำงานทันทีก็ตาม ในแง่นี้ อัตราการว่างงานจึงเป็นตัวแสดงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน — และการวิเคราะห์ตลาดแรงงานก็ยังต้องคำนึงถึงทั้งงานที่มีคุณค่า (decent work) การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ อัตราการว่างงาน (unemployment rate) และสัดส่วนของแรงงานที่ทำงานต่ำกว่าระดับด้วย (underemployment rate)
ประเด็นเรื่องการว่างงาน ปรากฏอยู่ในตัวชี้วัดที่ 8.5.2 อัตราการว่างงาน จำแนกตามเพศ กลุ่มอายุและความพิการ ใน ‘#SDG8 – (8.5) ต้องบรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และมีงานทำที่มีคุณค่าสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย, รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปีพ.ศ. 2573’
Target 8.5: By 2030, achieve full and productive employment and decent work for all women and men, including for young people and persons with disabilities, and equal pay for work of equal value
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา :
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 8 (2560)
ILO Glossary of Statistical Terms
(ILO) Resolution concerning statistics of work,employment and labour underutilization
Employment
Unstat Metadata 8.5.2
Last Updated on มกราคม 3, 2022