Site icon SDG Move

ปรับปรุงที่พักด้วยการยกบ้านให้สูงขึ้นจากพื้น อาจช่วยลดการแพร่เชื้อมาลาเรียในทวีปแอฟริกาได้

การปรับปรุงที่พักอาศัยให้สูงขึ้นจากพื้นเพื่อหนียุงก้นปล่อง อาจเป็นตัวช่วยในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคมาเลเรียในแอฟริกา

โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องบางชนิด (Anopheles gambiae) เป็นพาหะ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2019 ประเมินว่าในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารามีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียสูงถึง 386,000 ราย และส่วนใหญ่อยู่ในวัยเด็ก การระบาดของมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากผู้ที่ถูกยุงก้นปล่องกัดจนป่วยเป็นโรคมาลาเรียถูกกัดในเวลากลางคืนและถูกกัดเมื่ออยู่ในบ้าน ทีมนักวิจัยจาก Durham University จึงได้ทำการทดลองบนพื้นฐานว่า หากยุงส่วนใหญ่นั้นบินต่ำใกล้พื้น ถ้าสร้างบ้านให้สูงขึ้นจะสามารถช่วยลดจำนวนยุงก้นปล่องที่เข้ามาในบ้านได้หรือไม่

พวกเขาได้สร้างกระท่อม 4 หลังที่สามารถปรับระดับความสูงจากพื้นได้ในพื้นที่ชนบทของประเทศแกมเบีย ในแต่ละคืน กระท่อมหนึ่งหลังจะตั้งอยู่บนพื้น และอีกสามหลังจะถูกยกสูงจากพื้น 1 เมตร 2 เมตร และ 3 เมตร ตามลำดับ นักวิจัยจะทำการเปลี่ยนระดับความสูงของกระท่อมแต่ละหลังในทุกสิบคืน จนครบสี่ระดับความสูง กระท่อมแต่ละหลังจะมีผู้ชายสองคนนอนอยู่ในมุ้งคนละหลัง และมีโคมไฟดักยุงเพื่อรวบรวมยุงที่บินเข้ามาในกระท่อม รวมเป็นเวลาทดลองทั้งหมด 40 คืน

ผลการทดลองพบว่า ยิ่งกระท่อมสูงขึ้นเท่าไร จำนวนยุงก้นปล่องตัวเมียซึ่งเป็นพาหะโรคมาลาเรียที่พบในกระท่อมก็ลดลงไปด้วย โดยกระท่อมที่มีความสูงจากพื้นดิน 3 เมตร พบยุงน้อยกว่ากระท่อมที่อยู่บนพื้นถึง 84%

นักวิจัยวิเคราะห์สาเหตุของจำนวนยุงที่พบลดลงนั้นว่ามาจากสองสาเหตุ นั่นคือ หนึ่ง ยุงมาลาเรียได้วิวัฒนาการตนเองให้ออกหากินในระดับพื้นดินที่มีคนอาศัยอยู่ ทำให้ไม่บินขึ้นไปในระดับสูงนัก สอง กลิ่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมาจากคนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงกว่าจะกระจายไปตามลมเร็วกว่า ทำให้ยุงหาจุดที่คนอยู่ได้ยากขึ้น

นักวิจัยกล่าวว่า การค้นพบนี้จะช่วยตอบโจทย์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน เนื่องจากจำนวนประชากรในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้หลายคนเลือกไม่ใช้มุ้งกันยุงเวลานอน การปรับปรุงที่พักอาศัยด้วยการยกระดับความสูงของบ้าน นอกจากจะช่วยลดจำนวนยุงที่บินเข้าที่พักแล้ว ยังทำให้อุณหภูมิในบ้านเย็นลง จึงมีแนวโน้มที่ผู้พักอาศัยจะใช้มุ้งในตอนกลางคืนมากขึ้น

มาลาเรียและที่พักอาศัยที่ปลอดภัย เกี่ยวข้องกับ SDGs ใน ..
- SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อน (3.3)
-  SDG11 การตั้งถิ่นฐานและชุมชนที่ยั่งยืน ในประเด็น การเข้าถึงที่อยู่อาศัย และ การบริการพื้นฐานที่พอเพียง และปลอดภัย (11.1)

ที่มา : EurekAlert

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version