Site icon SDG Move

โรคระบาดทำให้เราต้องหันมาสนใจเรื่องการจัดการขยะทางการแพทย์อย่างยั่งยืนและปลอดภัย

โลกจะสามารถยับยั้งโรคระบาดโควิด-19 ได้ ก็ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้กับทุกคนอย่างทันท่วงทีและเท่าเทียม โดยที่จำเป็นต้องใช้กระบอกฉีดยา (syringes) เข็มฉีดยา และขวดแก้วบรรจุวัคซีนจำนวนนับล้าน ทว่าปลายทางของสิ่งของเหล่านี้ (รวมถึงหน้ากากอนามัย) กลับกลายเป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ วัน

อย่างในกรณีของสหรัฐฯ นั้น OnSite Waste Technologies คาดการณ์ว่า การที่จะสามารถฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรของประเทศทั้งหมด อาจจะต้องใช้เข็มฉีดยาจำนวนมหาศาลถึงขนาดที่สามารถนำมาเรียงต่อกันรอบโลกได้เป็นระยะทาง 1.8 รอบเลยทีเดียว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ออกมาเตือนว่าบริษัทจัดการของเสียทางการแพทย์เสี่ยงที่จะรับมือกับขยะเหล่านี้ที่จะเพิ่มขึ้นไม่ไหว และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างก็ต้องการ ‘ทางออกที่ยั่งยืน’ คู่ขนานไปกับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น

“จำนวนคนที่ได้รับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงภาระของเราที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน” หนึ่งในผู้จัดการของบริษัทจัดการของเสียกล่าว

เพราะตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมานั้น แสดงให้เห็นว่าโลกของเรากำลังเผชิญความท้าทายในการรับมือกับจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ภาชณะบรรจุอาหารจากมาตรการสั่งอาหารแบบรับกลับบ้าน (take home services) ไปจนกระทั่งขยะที่เกิดจากการรักษาทางการแพทย์

นอกจากนั้นแต่ละประเทศก็มีวิธีการจำกัดขยะติดเชื้อ อาทิ ขยะที่มาจากการฉีดวัคซีน ที่แตกต่างกันไป โดยประเทศพัฒนาแล้วย่อมมีวิธีการจัดการที่ปลอดภัยกว่าประเทศยากจน

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศโปรตุเกสเลือกที่จะกำจัดโดยการเผา (incineration) ส่วนเครื่องมือทันสมัยที่ผลิตโดย OnSite Waste Technologies ในสหรัฐฯ สามารถหลอมละลายเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วให้กลายเป็นขยะปราศจากเชื้อในรูปร่างของก้อนสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ  แต่ในทางกลับกัน ขยะทางการแพทย์ในประเทศยากจน หรือประเทศที่มีรายได้น้อย (low-income countries) มักจะถูกทิ้งในที่ ๆ ไม่เหมาะสม อาทิ สถานที่เปิด หรือ หลุมเผาขยะที่ไม่มีการดูแลควบคุมอย่างเหมาะสม มากไปกว่านั้น ยังมีการค้นพบว่าคนเก็บขยะในบางประเทศได้เก็บเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วมาขายต่อในตลาดมืดอีกด้วย

ซึ่งการจัดการกับขยะทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้น ๆ ด้วย

ปัญหาการจัดการกับขยะหรือของเสียอย่างไม่เหมาะสมนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข และพัฒนาอีกต่อไป ซึ่งเราสามารถทำให้การฉีดวัคซีนนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco-friendly) ได้มากกว่านี้ โดยการใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ง่ายมาผลิตเข็มฉีดยา (syringes) และภาชณะบรรจุวัคซีน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ปลอดภัยและยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากร โดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน
– (12.4) จัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น และลดการปล่อยออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2573
– (12.5) ลดการผลิตของเสียโดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาใช้ซ้ำ ภายในปี 2573
– (12.a) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
โดยการผลิตและการจัดการขยะจากภาคสาธารณสุขที่คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยังเกี่ยวข้องกับ #SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี – (3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573

#SDGWatch #IHPP #SDG3 #SDG11 #SDG12

แหล่งที่มา:
https://www.reuters.com/business/environment/covid-19-vaccine-rollout-keeps-waste-workers-busy-environmentalists-worried-2021-04-28/
https://www.onsitewaste.com/
https://www.who.int/bulletin/archives/77%2810%29812.pdf
https://www.inciner8.com/blog/medical-incineration/incinerating-biomedical-waste/

Author

  • Knowledge Communication [Intern] | นักศึกษาฝึกงานผู้ฝันใฝ่ในสังคมที่ดีกว่า

Exit mobile version