ข่าวดีสำหรับไทย: UN DESA คัดเลือก 2 โครงการของไทยเป็นตัวอย่าง ‘แนวปฏิบัติที่ดีในการบรรลุ SDGs’

สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UN DESA) คัดเลือกโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand – FFT) และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมองโกเลียภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีไทย– เยอรมนี – มองโกเลีย เป็นตัวอย่างความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs (SDG Good Practices) ที่จะนำไปใช้แบ่งปันประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ องค์กร หน่วยงาน และประชาชนที่สนใจประเด็นการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ภาพจาก กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย จะเน้นที่การสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (development cooperation) ในด้านหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน (#SDG17) ผ่านการส่งอาสาสมัครไปปฏิบัติงานพัฒนาในพื้นที่/ท้องถิ่น/ประเทศเป้าหมาย ในสาขา อาทิ

  • #SDG1 ขจัดความยากจน และ #SDG2 ขจัดความหิวโหย – ตัวอย่างเช่น อาสาสมัครเพื่อนไทยที่จะต้องไปปฏิบัติงานในฐานะเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนจากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในประเทศเบนิน จะทำหน้าที่ช่วยชุมชนจัดการกับความท้าทายด้านการเกษตรและพืชผลท้องถิ่นที่สำคัญต่อรายได้ครัวเรือน ผ่านการให้ความช่วยเหลือองค์ความรู้ เทคนิค และเครื่องมือ (know-how) ทางเกษตรกรรม โดยคำนึงถึงมิติทางวัฒนธรรมและภูมิปัญหาท้องถิ่น
  • #SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาค – ตัวอย่างเช่น อาสาสมัครเพื่อนไทยที่จะต้องไปปฏิบัติงานในสถาบันทางวิชาการในกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และภูฏาน จะทำหน้าที่ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ อาทิ ภาษาและทักษะเฉพาะทาง เพื่อเตรียมพร้อมนักเรียนท้องถิ่นให้มีความรู้ ทักษะ คิดนอกกรอบ และสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปต่อยอดหางานที่มีคุณค่า (decent work) ทำต่อไปได้

โดยที่ ‘งานอาสาสมัคร’ มีความสำคัญมากในการขยายความร่วมมือ SDGs ให้เกิดขึ้นในระดับโลกและให้เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น อย่างเข้าใจบริบทที่เข้าไปร่วมดำเนินการพัฒนา กล่าวคือ เป็นทั้งการปฏิบัติการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centered approach) และการขยายหุ้นส่วนการพัฒนาไปในตัว ซึ่งสำหรับโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยแล้ว สามารถตอบโจทย์ตามที่มุ่งหวังในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขา (เป้าหมาย SDGs) ต่าง ๆ และเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภาคีภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน ตลอดจนส่งเสริมบทบาทและภาพลักษณ์ของไทยในระดับนานาชาติด้วย

ส่วนอีกหนึ่งโครงการที่ไทยได้รับคัดเลือกเป็นตัวอย่าง SDG Good Practices ได้แก่ โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมองโกเลีย ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีไทย– เยอรมนี – มองโกเลีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดความยากจน (#SDG1) ในพื้นที่ชนบท ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้เสริมและสร้างการจ้างงาน ผ่านการส่งเสริม ‘การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน’ ซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลายอันจะนำมาซึ่งโอกาสงานต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (eco-tourism) ของชุมชน ธุรกิจขนาดเล็ก และบริการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (public and private partnership) รวมถึงการออกแบบมาตรการ/นโยบายระดับชาติและท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังให้ความสนใจเป็นพิเศษกับผู้ยากไร้และกลุ่มชนชายขอบ พร้อมกับที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงอย่างแข็งขันเพื่อรณรงค์ความเท่าเทียมระหว่างเพศ (#SDG5) ด้วย

ภาพจาก กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ

โดยที่ ‘การท่องเที่ยว’ สามารถช่วยขับเคลื่อนการบรรลุ SDGs ได้ทั้ง 17 เป้าหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการเป็นโซลูชั่นสำหรับ #SDG1 #SDG8 #SDG10 และ #SDG12 รายละเอียดโดยคร่าว ดังนี้

  • #SDG1 ขจัดความยากจน – การท่องเที่ยวสามารถช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตจากระดับฐานราก และส่งเสริมการมีรายได้จากแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยด้วย อันเกี่ยวเนื่องกับ…
  • #SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน – การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจในโลกที่สำคัญยิ่ง และให้โอกาสงานที่มีคุณค่ากับทุกคน ทั้งเยาวชน ผู้หญิง และชนชายขอบ ทั้งนี้ ยังสัมพันธ์โดยตรงกับเป้าประสงค์ 8.9 ‘ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573’
  • #SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ – การท่องเที่ยวในชุมชนเป็น ‘เครื่องมือ’ สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำลงผ่านการสนับสนุนให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างโอกาสงานและรายได้ อันจะช่วยลดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองและชนบท
  • #SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน – การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนนำมาซึ่งการปรับวิธีคิด พฤติกรรม และการปฏิบัติไปสู่ ‘ความยั่งยืน’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ ในการผลิต (สำหรับผู้ผลิต/ผู้ให้บริการ) และบริโภค (ผู้บริโภค/ผู้ใช้บริการ) มากขึ้น โดยที่ไม่ได้ไปเบียดขับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คุณภาพการให้บริการ หรือบิดเบือนสภาพแวดล้อมทางการตลาด

ขณะที่ การนำ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ มาประยุกต์ใช้ ยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อน #SDG4 (ในด้านการพัฒนาขีดความสามารถตามความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการของท้องถิ่น นำไปสู่รายได้และการพัฒนาชุมชนต่อไป) #SDG5 (ในแง่ความครอบคลุมของทุกกลุ่มคนในสังคม) #SDG11 (ในแง่การสนับสนุนเมืองที่ยั่งยืน ที่ตระหนักถึงมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ และบริบททางภูมิศาสตร์และสังคม) และ #SDG17 (สนับสนุนหุ้นส่วนที่หลากหลายในทุกระดับ) ด้วย

โดยทั้งสองโครงการนี้ เป็นการริเริ่มและได้รับการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศของไทย

ทั้งนี้ เกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกโดยผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาตินั้น มีด้วยกันหลายประการ ตั้งแต่ผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์ที่สามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือ การเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนา ตลอดจนเป็นโครงการพัฒนาที่สามารถนำไปปรับ-ประยุกต์ใช้ในประเทศอื่นได้

● อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกและระดับท้องถิ่นจากภาคส่วนที่หลากหลาย
โดยในภาพรวม ประเด็นที่แต่ละโครงการได้มุ่งเน้นมีส่วนที่เกี่ยวกับ
#SDG1 (ขจัดความยากจน) #SDG2 (ขจัดความหิวโหย) #SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) #SDG5 (ความเท่าเทียมระหว่างเพศ) #SDG8 (การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า) #SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) #SDG11 (เมืองที่ยั่งยืนและปลอดภัย) และ #SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน)

แหล่งที่มา:
https://www.facebook.com/185246838334348/posts/1664237853768565/?d=n
https://sdgs.un.org/partnerships/friends-thailand-fft-volunteer-programme?fbclid=IwAR3eKMFEcizp5uakoJGYcanT5EehchYVnRR_kJMxt3xahw1IDk4lBpMK8tk
https://sdgs.un.org/partnerships/application-sufficiency-economy-philosophy-sep-promoting-sustainable-tourism-and?fbclid=IwAR3eKMFEcizp5uakoJGYcanT5EehchYVnRR_kJMxt3xahw1IDk4lBpMK8tk
https://tica-magazine.mfa.go.th/TICA_issue7/index.html?fbclid=IwAR17r8F1xR1n5_dfpi0IhvufGdDb0tQhzMk8zEV81GVaLc3B0ozk1v7FOzA

Last Updated on มิถุนายน 30, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น