ความไม่เท่าเทียม-ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพช่องปากและฟันเป็นปัญหาสาธารณสุขหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย โอเชเนีย และประเทศ/ภูมิภาคอื่น ๆ ทว่าโลกยังคงละเลยที่จะให้ความสนใจกับความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในมิตินี้ ทั้งที่องค์การอนามัยโลกมีแผนว่าด้วยเรื่องสุขภาพช่องปาก ‘Global Goals for Oral Health 2020’ เพื่อช่วยเรื่องความไม่สมดุลในการเข้าถึงบริการของประชาชนอันเป็นผลมาจากปัจจัยที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม
การศึกษา ‘Regional Inequality in Dental Care Utilization in Japan: An Ecological Study Using the National Database of Health Insurance Claims’ เผยแพร่ใน The Lancet Regional Health—Western Pacific โดยมหาวิทยาลัย Tsukuba ทำการศึกษาข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับการให้บริการสุขภาพช่องปากและฟันใน 47 จังหวัด (prefectures) ของญี่ปุ่น ที่สะท้อนว่ามีความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคในการเข้ารับบริการสุขภาพ โดยที่สัมพันธ์กับ ‘ระดับการศึกษา’ และ ‘ระดับรายได้’
โดยทีมนักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลการร้องเรียนและข้อมูลการเข้าตรวจสุขภาพช่องปากและฟันของชาวญี่ปุ่นใน 47 จังหวัด โดยใช้ข้อมูลจาก Open Data ของรัฐบาล (Fourth National Database of Health Insurance Claims and Specific Health Checkups of Japan Open data) ตั้งแต่เมษายน 2560 ถึงมีนาคม 2561
แบ่งข้อมูล 47 จังหวัดจัดเป็น 3 กลุ่มตามขนาด/จำนวนคลินิกทันตกรรมต่อจำนวนประชากร รายได้เฉลี่ยต่อหัว และสัดส่วนการเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีการศึกษาแบบ Standardized Claim Ratios (SCRs) กับตัวชี้วัด 9 ตัวชี้วัด ได้แก่ การเยี่ยมคนไข้ การให้บริการนอกสถานที่ การอุดฟัน การรักษารากฟัน การถอนฟันคุด การทำศัลยปริทันต์ (Periodontal Surgery) การถอนฟัน การทำสะพานฟัน การทำฟันปลอม ทั้งนี้มีปลายทางเพื่อสำรวจและติดตามดูสถานการณ์ของเศรษฐกิจและสังคมและสถานการณ์ทางทันตกรรมในภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ถือเป็นความพยายามของญี่ปุ่นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่จะศึกษาความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับบริการสุขภาพช่องปากและฟัน
และถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีทันตแพทย์จำนวนมาก ทั้งยังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ผลการศึกษาชิ้นนี้ได้ชี้ว่ามีประเด็นความเหลื่อมล้ำในแต่ละภูมิภาคในการเข้าถึงการรักษาสุขภาพช่องปากและฟันอยู่ดี โดยพบมากในเรื่องของการรักษาโรคเหงือก และการขยายการบริการนอกพื้นที่ (outreach services) ขณะที่การให้บริการดูแลสุขภาพช่องปากแบบทันที อาทิ การบรรเทาอาการเจ็บและการรักษาเพื่อให้ฟันยังคงทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ ไม่พบว่ามีความเหลื่อมล้ำมากแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ข้อค้นพบจากการศึกษาระบุว่า ประชาชนที่มีระดับรายได้สูงและระดับการศึกษาสูง มักจะสามารถเข้าถึงการตรวจพบโรคที่เกี่ยวกับการทำฟันได้เร็วกว่าหรือได้ตั้งแต่ระยะแรก ขณะที่ผู้ที่มีระดับรายได้น้อยกว่าและระดับการศึกษาต่ำกว่า มักจะตรวจพบโรคที่เกี่ยวข้องกับช่องปากก็ต่อเมื่อมันเกิดโรคขึ้นมาแล้ว ในแง่นี้ จึงสามารถสรุปได้ว่า ระดับรายได้และระดับการศึกษาในแต่ละภูมิภาคส่งอิทธิพลและมีความสัมพันธ์กับการเข้ารับบริการสุขภาพช่องปากและฟัน โดยเฉพาะระยะการป้องกันโรค (preventive care)
ทั้งนี้ การวิจัยชิ้นนี้ได้หวังว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายทางสุขภาพของญี่ปุ่น ที่จะนำไปสู่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากและฟันได้ต่อไป
● เข้าถึงการศึกษาที่ : https://www.thelancet.com/journals/lanwpc/article/PIIS2666-6065(21)00079-1/fulltext
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.2) ลดสัดส่วนชาย หญิง และเด็กในทุกช่วงวัยที่ประสบปัญหาความยากจนในทุกมิติ
– (1.4) หลักประกันว่าชายและหญิงทุกคนโดยเฉพาะที่ประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร – บริการขั้นพื้นฐาน
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.8) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการเข้าถึงบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพและราคาที่ซื้อหาได้#SDG4 ในภาพรวมของการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ทุกคน (ก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา และการอ่านออกเขียนได้ในเยาวชนและผู้ใหญ่) โดยเฉพาะ- (4.5) ขจัดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา หลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ อาทิ ในมิติ
– (10.1) ส่งเสริมการเติบโตของรายได้ ในกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่ยากจนที่สุดอย่างต่อเนื่อง ในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
– (10.3) หลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค
แหล่งที่มา:
https://www.tsukuba.ac.jp/en/research-news/20210614150000.html