ในปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาสำหรับหลาย ๆ ภูมิภาค แต่ในทวีปแอฟริกากลับกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากกว่า เพราะความแห้งแล้งทำให้การเพาะปลูกเป็นได้ยาก เกิดความยากจนนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา เป็นต้น ซึ่งเขตซาเฮลกำลังประสบปัญหาเหล่านี้อย่างหนัก
เขตซาเฮล (Sahel Region) ตั้งอยู่ที่ในทวีปแอฟริกาเหนือ ใต้ทะเลทรายซาฮารา ทอดยาวเป็นระยะทาง 5,900 กม. ดังรูป พื้นที่นี้มีลักษณะกึ่งแห้งแล้งมีปริมาณน้ำฝนที่แปรปรวน เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นประจำซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มสะอาด และที่สำคัญยังเป็นหนึ่งในพื้นที่มีระดับความยากจนหลายมิติ (multidimensional poverty) สูงที่สุดในโลก ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และคุณภาพชีวิต รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาพดินเสื่อมโทรม การแปรสภาพเป็นทะเลทราย (Desertification) จนไม่สามารถเพาะปลูกได้ ดังนั้น 11 ประเทศ ในพื้นที่จึงได้ร่วมกันก่อตั้งโครงการกำแพงสีเขียว (The Great Green Wall) กำแพงต้นไม้ยักษ์ที่จะช่วยพื้นที่นี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
โครงการกำแพงสีเขียวเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 2007 ในช่วงแรกเป็นเพียงโครงการฟื้นฟูป่าไม้ โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ถึง 1 ล้าน ตร.ม. ในเขตนี้ จุดประสงค์หลักของโครงการคือการยับยั้งเขตซาเฮลไม่ให้กลายเป็นทะเลทราย รวมถึงต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอนถึง 250 ล้านตัน โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) สหภาพยุโรป (EU) และธนาคารโลก
ปัจจุบันโครงการได้มีเป้าหมายที่มุ่งมั่นมากขึ้น โดยมีการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศบนบกให้มีความยั่งยืน ส่งเสริมแนวคิดเกษตรกรรมให้เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture) การอนุรักษ์ป่าไม้ ระบบพลังงานสะอาด การบริหารทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม การส่งเสริมผู้ประกอบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Ecopreneurship) ที่ทำธุรกิจการใช้ต้นไม้อย่างยั่งยืนและมีคุณค่า รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกต้นไม้ที่สามารถให้ผลผลิตได้เช่น ต้นมะขาม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และโครงการยังตั้งเป้าสร้างงานสีเขียว (งานที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) ในพื้นที่ชนบทกว่า 10 ล้านงาน
แต่โครงการขนาดใหญ่ย่อมมาพร้อมกับอุปสรรค เช่นกัน โดยทางสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) ได้ทำการสำรวจความคืบหน้าของโครงการและได้เปิดเผยรายงานในเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 พบว่า โครงการได้ฟื้นฟูป่าไปเพียงแค่ 40,000 ตร.กม. ซึ่งเป็นเพียง 15-18 % ของพื้นที่เป้าหมายใน ค.ศ. 2030 เท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดความล่าช้าของโครงการส่วนนึงมาจากขาดกลไกในการติดตามความก้าวหน้า หรือ ขาดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความไม่มั่นคงทางการเมืองในพื้นที่ซึ่งส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก การขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น เช่น เงินทุนระยะยาวหรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และการขาดการบูรณาการระหว่างภาคเศรษฐกิจหรือหน่วยงานที่ดูแลและจัดการการทำการเกษตรและการฟื้นฟูระบบนิเวศ ที่ปกติทำงานแยกกันให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม โครงการกำแพงสีเขียวจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น หากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบใช้มากขึ้น เช่น การใช้โดรนหรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน รวมถึงส่งเสริมการตระหนักรู้ให้ประชาชน และดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินทุน ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จจะสามารถแก้ปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง รวมไปถึงความขาดแคลนทางอาหารและน้ำ และสิ่งสำคัญคือจะกลายเป็นบทเรียนและตัวอย่างที่สำคัญให้กับประชากรโลกในการนำไปใช้ต่อ
หากสนใจโครงการกำแพงสีเขียว สามารถศึกษาต่อได้ที่ https://www.greatgreenwall.org
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDGs ใน ..
#SDG 1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ขจัดความยากจนขั้นรุนแรง
– (1.2) ลดสัดส่วนของความยากจนในมิติต่างๆ ของคนทุกกลุ่ม
– (1.5) สร้างภูมิต้านทานให้กับคนยากจนและเปราะบางจากภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจสังคม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG 2 ยุติความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหย ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหาร โดยเฉพาะคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง
– (2.4) มีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG 6 การมีน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี
– (6.1) ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย
– (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
– (6.6) ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ
#SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) การส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
– (8.5) ส่งเสริมการจ้างงานและการมีงานที่เหมาะสมและมีผลตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน
#SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.b) ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ไปยังประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก
– (15.2) การบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการทำลายป่า ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม
– (15.3) ป้องกันการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูแผ่นดินและดินที่เสื่อมโทรม
ที่มา : Weforum