โควิด-19 เพาะเชื้อให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาใช้ยาเสพติดมากขึ้น ส่วนคนขายปรับตัว ขายออนไลน์-ส่งไปรษณีย์

ข้อมูลจากรายงานยาเสพติดโลก 2564 (World Drug Report 2021) เผยแพร่ล่าสุด (24 มิถุนายน 2564) ระบุว่า ระหว่างปี 2553 – 2562 จำนวนคนที่ใช้ยาเสพติดมีเพิ่มมากขึ้น 22% โดยในบางส่วนของโลกมีการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อ อาทิ เศรษฐกิจ-การว่างงาน-ขาดรายได้-ความยากจน จวบจนสุขภาพจิต ทำให้คนยิ่งหันมาพึ่งยาเสพติด โดยเฉพาะกัญชาและการใช้ยาระงับประสาทในเชิงเสพติดกันมากขึ้นในช่วงของโรคระบาด

รายละเอียดสำคัญของข้อค้นพบอื่น ๆ มีดังนี้

  • ประมาณการณ์ว่าในปี 2562 มีคนใช้โคเคน 20 ล้านคน คิดเป็น 0.4% ของประชากรโลก
  • กลุ่มสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทใหม่ (NPS) พบว่ายังคงที่เลขประมาณ 500 สาร ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยพบว่ามีสาร NPS 541 สารในปี 2562
  • ปี 2562 มีประมาณ 50,000 คนในสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตจากการเสพสารโอปิออยด์เกินขนาด คิดเป็นมากกว่า 2 เท่าจากฐานปี 2553
  • พบว่ามี สารโอปิออยด์ที่ใช้ในทางการแพทย์ 2 ชนิด ได้แก่ methadone และ buprenorphine สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น – เป็นที่ห่วงกังวลว่าเทรนด์โลกกำลังมีการใช้สารโอปิออยด์ที่ไม่ใช่ในทางการแพทย์ (แต่เพื่อการเสพติด) จำนวนมากขึ้น
  • ยาระงับปวดเฟนทานิล (Fentanyl) เข้ามาเป็นอีกหนึ่งสารที่เกี่ยวข้องกับจำนวนการเสียชีวิตจากยาเสพติด

อย่างไรก็ดี จุดเน้นที่สำคัญอยู่ที่ว่า กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีข้อจำกัดของมาตรการล็อกดาวน์และการเดินทางเพื่อตอบสนองโควิด-19 จนกลับมา ‘ดำเนินการ’ ได้เหมือนกับระดับที่เคยทำก่อนหน้าโรคระบาด ด้วยการหันมาใช้เทคโนโลยีในการจ่ายเงินและระบบของคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency) หรือวิธีการซื้อ-ขายที่ทำผ่านอีเมล์และช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะผ่านทางดาร์กเว็บ (Dark Web) เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้การเข้าถึงยาเสพติด ตลอดจนสารอื่น ๆ ‘ทำได้ง่ายขึ้นมากกว่าเดิม’

โดยเลขาธิการสหประชาชาติได้เตือนว่า แม้จะมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ปัญหากลับกลายเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่มีระบบควบคุมยาเสพติดที่อ่อนแอ ทำให้จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่าง ‘การป้องกัน’ ที่สนับสนุนตั้งแต่การคุ้มครองทางสังคมและใส่ใจประชากรวัยเด็ก และ ‘การควบคุม’ ยาเสพติดและการเสพติดยา โดยเฉพาะในแง่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งบริษัทเทคโนโลยี บริการขนส่งสินค้าและไปรษณีย์ ไปจนถึงเครื่องมือการติดตามเส้นทางขนส่งเรียลไทม์ ที่จะช่วยสกัดยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมาย

ส่วนมุมมองของคนวัยหนุ่มสาวก็มีผลเช่นกัน โดยจากเดิมที่เคยมองว่ายาเสพติดให้โทษ มุมมองนี้กลับลดลงมากถึง 40% เป็นความเสี่ยงต่อการหันมาใช้ยาเสพติดกันมากขึ้น โดยรายงานฉบับนี้ก็ได้ย้ำทางแก้ไขว่าจะต้องเน้นสร้างความตระหนักและให้ความรู้บนฐานของข้อมูลและวิทยาศาสตร์กับคนหนุ่มสาวด้วย

ทั้งนี้ ประเด็นยาเสพติดยังคงมีความสำคัญ และการป้องกันและควบคุมจะช่วยเป็นเกราะป้องกันให้ผู้คน (ยังคง) มีสุขภาพกายและใจดี เป็นกำลังแรงงานสำคัญที่จะสร้างผลิตภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไปจนถึงลดภาระด้านความยุติธรรมทางอาญาลง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด ซึ่งรวมถึง การใช้ยาเสพติด ในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางอันตราย
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงของยาเสพติด กับ SDGs ในมิติต่าง ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน :
SDG Updates | ภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดโลกกับผลกระทบที่มีต่อ SDGs (*ข้อมูล World Drug Report 2020*)

แหล่งที่มา:
https://news.un.org/en/story/2021/06/1094672
https://news.un.org/en/story/2021/06/1094832

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น