SDG Updates | หลักสูตรการศึกษาถึงเวลาต้องเปลี่ยน – เมื่อการต่อสู้กับ Climate Change เริ่มต้นที่ห้องเรียน

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (The United Naions Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ร่วมกับรัฐบาลประเทศเยอรมนีจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNESCO World Conference on Education for Sustainable Development: ESD) และได้รับรองปฏิญญาเบอร์ลินว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Berlin Declaration on Education for Sustainable Development (ESD) ซึ่งเรียกร้องให้ ESD อยู่ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับทั่วโลกภายในปี 2025 โดยมีความหวังเพื่อให้การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและมุมมองของเด็กและเยาวชนเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามทุกชีวิตบนโลก

— และหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคเรานั้น คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – Climate Change

Education for Sustainable Development (ESD) หรือ การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการเรียนรู้เพื่อเสริมพลังผู้เรียนให้สามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลและมีการกระทำที่มีความรับผิดชอบต่อความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม เพื่อมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม

| แค่ได้เรียน ก็เปลี่ยนแปลงโลกได้

นอกจากการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงด้วยความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกในวิธีต่าง ๆ หลายงานวิจัยได้นำเสนอข้อค้นพบที่พูดได้ว่า การปรับเปลี่ยนการศึกษาก็จะเป็นอีกหนทางที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญนี้ได้เช่นกัน เพราะการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Education) ช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวผู้เรียนและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงบนโลก ช่วยสร้างความรู้สึกว่าผู้เรียนมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและนั่นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการตัดสินใจในชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

งานวิจัยเมื่อปี 2020 แสดงให้เห็นว่า หากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับสูงและระดับปานกลางเพียง 16% ได้เรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมบนโลกลงไปได้เกือบ 19 กิกะตัน หรือการให้การศึกษาที่มีคุณภาพและเสริมพลังเด็กผู้หญิงทุกคนทั่วโลก เป็นหนึ่งในฉากทัศน์ที่อาจส่งผลลัพธ์ให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงได้ถึง 85 กิกะตันภายในปี 2050 ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขาจะมีการตัดสินใจในชีวิตที่สร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

จากข้อค้นพบข้างต้น การศึกษาอาจมีพลังมากกว่าการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงเสียอีก รายงานของ Brooking Institution ที่รายงานผลวิจัยข้างต้น ระบุด้วยว่าการให้การศึกษาอาจมีพลังในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าลงทุนเปลี่ยนมาใช้พลังงานจากกังหันลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อทบทวนหลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใน 46 ประเทศสมาชิกของยูเนสโก พบว่า 45% ของเนื้อหาหลักสูตรนั้นไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนี้เลยหรือกล่าวถึงแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น


| อยากเรียน แต่หลายโรงเรียนไม่พร้อม

ผู้ปกครอง 80% ในสหรัฐอเมริกา และผู้ใหญ่ 77% ในสหราชอาณาจักร สนับสนุนการเรียนการสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในห้องเรียน และถึงแม้ว่าครูและผู้บริหารจะกระตือรือร้นที่จะใส่ประเด็นนี้เข้าไปแผนการเรียน แต่ผู้สอนอาจยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ ครูสัดส่วนถึง 86% ในสหรัฐฯ เชื่อว่าควรมีการสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เกือบ 60% ไม่เคยสอนเรื่องนี้เพราะมองว่าเป็นหัวข้อที่อยู่นอกขอบเขตวิชา และทั้งในสหราชอาณาจักรและยุโรป ครูส่วนใหญ่ต่างก็เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมนี้ในห้องเรียน แต่ก็เป็นครูส่วนใหญ่อีกเช่นกันที่รายงานว่าพวกเขาไม่ได้สอนเรื่องนี้ให้นักเรียนและคิดว่าพวกเขาต้องการการเรียนรู้เพิ่มเติมในหัวข้อนี้ก่อนที่จะสามารถสอนได้

แม้ว่าโรงเรียนควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการให้ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับนักเรียน แต่หลักสูตรในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเด็กและเยาวชนได้แล้ว เห็นได้จากข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนต่างๆ ที่ต้องการให้ผู้นำระดับประเทศดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้มั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็นต่อการสร้างโลกที่ดีขึ้นในอนาคต

จากรายงาน ‘Learn for our planet. a global review of how environmental issues are integrated in education‘ ของยูเนสโก ได้วิเคราะห์แผนการศึกษาและกรอบหลักสูตรการสอนในเกือบ 50 ประเทศ ระบุว่า มากกว่าครึ่งไม่มีเนื้อหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่เลย จึงมีนักเรียนที่คิดว่าพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับมากเพียง 4% เท่านั้นจากการสำรวจในยุโรป แต่กลับมีนักเรียนถึง 42% ที่รู้สึกว่าพวกเขาได้เรียนรู้เรื่องนี้เพียงเล็กน้อยไปจนถึงแทบจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากโรงเรียน และนักเรียนถึง 57% ต้องการเรียนเรื่องนี้เพิ่มเติม


| เพิ่มการเรียนเรื่อง Climate Change ในการศึกษาภาคบังคับ

Laurent Fabius ประธานการประชุม COP21 ซึ่งได้รับรอง ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 กล่าวในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปีนี้ว่า “การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มต้นที่โรงเรียน” ดังนั้น รัฐบาลจึงเป็นผู้เล่นที่สำคัญในการกำหนดให้นักเรียนในทุกโรงเรียนได้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างทั่วถึง

ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนปี 2020 นักเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่อายุ 6-19 ปี ในทุกโรงเรียนของรัฐในอิตาลีได้เรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวิชาหน้าที่พลเมือง ทำให้อิตาลีกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวิชาบังคับ โดยจะมีชั่วโมงเรียนเรื่องนี้ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยังมีเนื้อหาที่สอดแทรกเข้าไปในวิชาเรียนปกติ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภูมิศาสตร์ด้วย

ก่อนหน้านั้นในปีเดียวกัน ทุกโรงเรียนในนิวซีแลนด์ได้ใส่เนื้อหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษา แต่ยังไม่ได้กำหนดเป็นวิชาบังคับ โดยเนื้อหาส่วนนี้เขียนขึ้นโดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศ ครอบคลุมการนำเสนอเครื่องมือให้นักเรียนใช้วางแผนการเคลื่อนไหวเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการสำรวจปรากฏการณ์ eco-anxiety ความวิตกกังวลที่มาจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในหมู่วัยรุ่น

ตามหลังอิตาลีมาด้วยอาร์เจนตินาและเม็กซิโก ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศกำลังเดินหน้าเพื่อบรรจุการเรียนหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาในหลักสูตรภาคบังคับในโรงเรียน เมื่อมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของอาร์เจนตินาได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติร่างกฎหมายซึ่งกำหนดให้ต้องมีการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม ที่จะรวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ในโรงเรียนทุกระดับและในทุกรูปแบบการศึกษา” และ รัฐบาลเม็กซิโกนั้นได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเด็นความเข้าใจและความเคารพโลกธรรมชาติเป็นข้อกำหนดขั้นพื้นฐานในการศึกษาตั้งแต่เมื่อปี 2019 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่จะกำหนดให้การศึกษาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเป็นหัวข้อบังคับในทุกโรงเรียนของเม็กซิโก

ในฝรั่งเศส กำลังมีการอภิปรายกฎหมายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ ที่มีแผนจะแก้ไขหลักสูตรการศึกษา ด้วยการเพิ่มข้อกำหนดในการเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไป ในสเปน ฝ่ายนิติบัญญัติได้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ เพื่อปรับปรุงการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศในแนวทาง ‘cross-cutting’ นั่นคือ ทุกวิชาควรรวมประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปแทนที่จะเป็นการแยกหัวข้อเรียน ซึ่งยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนจนกว่าจะถึงการลงคะแนนครั้งสุดท้าย (ข้อมูลเดือนเมษายน 2021)


| เมื่อ Climate Change เปลี่ยนการเรียนในสถาบันอุดมศึกษา

ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา การศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนในหลายๆ มหาวิทยาลัยจะอยู่ในเฉพาะสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และต่อมาจึงถูกเพิ่มเข้าไปในการเรียนสาขาวิศวกรรม และการออกแบบตามหลักวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งสาขาเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ในขณะที่นักศึกษาในสาขาวิชาด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะจำนวนมากยังไม่ได้เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เรียน

Walter Leal หัวหน้าภาควิชา Climate Change Management ประจำ Hamburg University of Applied Sciences ในประเทศเยอรมนี ให้ความเห็นในบทความ ‘The Unexpected Ways Climate Change Is Reshaping College Education’ ว่า การขาดการเรียนรู้เรื่องวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นผลมาจากการขาดความเชี่ยวชาญและความมั่นใจในหมู่คณาจารย์ที่ไม่คุ้นเคยกับการสอนเรื่องภูมิอากาศ รวมถึงแรงกดดันด้านเวลาในหลักสูตรที่มีวิชาเรียนแน่นอยู่แล้ว ดังนั้น หากไม่มีข้อกำหนดบังคับจึงไม่มีการเพิ่มประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตรที่มีอยู่เดิม

ในขณะที่ปัจจุบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามีการเรียนการสอนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างจำกัด แต่โลกก็ต้องการกำลังคนเพื่อการต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเตรียมผู้เรียนให้พร้อมกับตลาดแรงงานในอนาคตที่จะต้องการผู้มีทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้มากขึ้นไปด้วย ดังนั้น ทั้งโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทย์ นักเรียนวิชาวรรณกรรม จึงควรมีโอกาสได้เรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลักสูตรด้วย โดยในบทความข้างต้นยังได้ยกตัวอย่าง การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากหลายๆ ประเทศ ดังนี้

  • Anthropocene Architecture School สถาบันการเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมมที่มุ่งเน้นศึกษาบทบาทของสถาปัตยกรรมในการหยุดยั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร
  • Climate Framework จาก Royal Institute of British Architects (RIBA) ซึ่งกำหนดองค์ประกอบของความรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศ(climate literacy) ในหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ใน 23 ประเทศ ในขณะที่คณะกรรมการวิชาชีพสถาปนิก (Architect Registration Board) ของสหราชอาณาจักร กำลังเตรียมจัดทำแนวทางการสอนหัวข้อภูมิอากาศที่ถูกต้องในหลักสูตรระดับอุดมศึกษา
  • ชั้นเรียนวิชาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัย Brown ประเทศสหรัฐอเมริกา นักศึกษาจะได้รับงานในหัวข้อที่บูรณาการประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เช่น Earth Poetics: วรรณคดีและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
  • มหาวิทยาลัย Bond ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เปิดตัวหลักสูตรระดับปริญญาตรีสาขาแรกของประเทศที่พัฒนาจากกฎหมายสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นสาขาวิชาที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต
  • สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษากว่า 70 แห่ง ลงนามใน Green Chemistry Commitment ตั้งแต่ปี 2013 เพื่อปฏิรูปการเรียนวิชาเคมีที่จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
  • การผนวกหลักการความยั่งยืนและองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องและผลกระทบในการเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย Southampton

เมื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมแยกออกจากกันไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงกลายเป็นหนึ่งปัจจัยที่เปลี่ยนรูปแบบของระบบการศึกษาทั่วโลก การเพิ่มเนื้อหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปทั้งในหลักสูตรจะช่วยเพิ่มโอกาสในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งนี้โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญ และได้ทำให้เห็นว่าหลักสูตรที่สอนมาหลายรุ่นหลายสมัยอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความอยู่รอดของโลกใบนี้อีกต่อไป การลงมือเปลี่ยนแปลงการออกแบบการศึกษาต้องการการบูรณาการระหว่างหลายสาขาวิชา และต้องเร่งมือทำอย่างเร่งด่วนแข่งกับเวลา ก่อนที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้จะรุนแรงเกินแก้ไข

ประเด็นการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG4 การศึกษาที่มึคุณภาพ ในประเด็น ให้ทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (4.7)
- #SDG13 ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์ ในการลดผลกระทบและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (13.3)

สรุปและเรียบเรียงเนื้อหาจาก
Unleashing the creativity of teachers and students to combat climate change: An opportunity for global leadership
The Unexpected Ways Climate Change Is Reshaping College Education
Pressure builds for schools to put climate change study on curriculum

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น