ผู้นำประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation – NATO) ทั้ง 30 ประเทศ ได้รับรอง NATO 2030 “วาระข้ามแอตแลนติกเพื่ออนาคต” รวมถึงแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคง (Climate Change and Security Action Plan) เพื่อต่อสู้กับความท้าทายใหม่ของโลก – การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ผู้นำชาติพันธมิตร NATO ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองและการทหาร ร่วมประชุมที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ผลลัพธ์การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ ผู้นำประเทศต่างๆ ได้ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “การทวีภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศพันธมิตร” และได้ออกแถลงการณ์การประชุมสุดยอดบรัสเซลส์ (Brussels Summit Communique) ที่ผู้นำแต่ละประเทศตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังต่อไปนี้
- ตั้งเป้าหมายให้ NATO เป็นองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำในการทำความเข้าใจและปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความมั่นคง
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) อย่างมีนัยยะสำคัญจากกิจกรรมและหน่วยบัญชาการทางทหาร ละประเมินความเป็นไปได้ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
- เริ่มการเจรจาระดับสูงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความปลอดภัยเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและสร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่างประเทศพันธมิตร และ
- คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขอบเขตงานทั้งหมดของ NATO ทั้งการวางแผนการป้องกันประเทศ การพัฒนาขีดความสามารถ และการเตรียมพร้อมและการฝึกพลเรือน
ตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคง NATO ให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งความรุนแรงและความถี่ของการเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ภารกิจทางการทหารเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้อาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ สร้างความเสียหายต่อกลุ่มคนเปราะบางจนเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ถูกหาประโยชน์ได้ ดังนั้น หนึ่งในงานตามแผนปฏิบัติการนี้ คือ ประเทศพันธมิตรจะต้องทำการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสภาพแวดล้อมในเชิงกลยุทธ์ ภารกิจและการดำเนินงานทั้งหมดของ NATO เป็นประจำทุกปี โดยคำนึงถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสามภารกิจหลักของ NATO ได้แก่ การป้องกันร่วมกัน การจัดการวิกฤติ และความมั่นคงร่วมกัน
การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยความมั่นคง เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ #SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
ที่มา : SDG Knowledge Hub