Solar Geoengineering: วิธีทางวิทยาศาสตร์ช่วยลดโลกร้อนกับคำถามว่าจะยิ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศหรือไม่?

‘Solar geoengineering’ วิธีการที่นักวิทยาศาสตร์กำลังกระตือรือร้น คิดนำมาช่วยลดภาวะโลกร้อน หนึ่งในวิธีก็คือการฉีดสารแอโรซอล (aerosol) ไปยังชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ให้สะท้อนแสงอาทิตย์ออกเพื่อลดความร้อนในโลกลง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เครื่องมือชนิดที่จะแก้ปัญหาได้ทุกแง่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด แต่อาจจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่หลากหลายในการจัดการกับ ‘ความเสี่ยง’ เรื่องสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่ solar geoengineering กลายเป็นประเด็นที่งานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี จุดบอดที่ยังไม่ทราบแน่ชัดก็คือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและการทำการเกษตร และเพื่อที่จะอุดช่องโหว่ขององค์ความรู้นั้น งานวิจัยปัจจุบันจาก Harvard John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences (SEAS) ร่วมกับสถาบันวิจัยจากมหาวิทยาลัยอื่น อาทิ Norwegian Research Centre, the Bjerknes Centre for Climate Research, Seoul National University ระบุว่า solar geoengineering อาจจะมีประสิทธิภาพในการบรรเทาผลกระทบ (ที่เลวร้ายที่สุด) จากภาวะโลกร้อนที่จะมีต่อพืชผล

Could solar geoengineering counter global warming? | The Economist (2562)

โดยทีมผู้ศึกษาได้สำรวจวิธีการทำ solar geoengineering ที่เป็นการบริหารรังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar Radiation Management – SRM) 3 รูปแบบหลัก ทั้ง

  1. การฉีดแอโรซอลดังที่กล่าวมา (stratospheric aerosol injection)
  2. การฉีดพ่นละอองน้ำทะเลไปทำให้เมฆสว่างขึ้นและสะท้อนแสงอาทิตย์ออก (marine sky brightening) และ
  3. การทำเมฆเซอร์รัสให้บางลงเพื่อให้แสงทะลุผ่านสะท้อนออกไปได้ (cirrus cloud thinning)

พร้อมกับสำรวจผลกระทบของวิธีการเหล่านี้ที่มีต่อแหล่งเพาะปลูกพืชผล อาทิ อ้อย ข้าว ฝ้าย ที่เพาะปลูกกันตามปกติในปัจจุบันอันจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างระดับที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าผลจากทั้ง 3 วิธีการนั้นทำให้มีความเย็นขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อการเพาะปลูกพืชผลเหล่านี้ เพราะอากาศที่ไม่ร้อนจนเกินไปและยังคงความชื้นที่ส่งผลดีต่อการเติบโตของพืชผล ซึ่งรวมถึงพืชผลที่ต้องการน้ำจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยระบุว่า ‘ขึ้นอยู่กับฉากทัศน์ของบริบทแต่ละพื้นที่ด้วย โดยผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (adaptation) ตามบริบทเฉพาะของพื้นที่ โดยเฉพาะที่คำนึงถึงเกษตรกรรมกับผลกระทบที่จะได้รับจากสภาพภูมิอากาศ’

นักวิจัยยังเปรียบเทียบผลิตภาพของเกษตรกรรมที่เป็นผลจากการลดการปล่อยก๊าซ (emissions reductions) กับ ‘การจัดการรังสีดวงอาทิตย์’ (solar geoengineering) กล่าวคือ แม้ทั้งสองจะมีผลในเชิงลดความร้อน-เพิ่มความเย็นและความชื้น แต่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ ‘ผลดี’ น้อยกว่า solar engineering ในแง่ที่ว่าคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงอยู่ในกระบวนการเติบโตของพืชผลอยู่ นักวิจัยชี้ว่า หากใช้วิธีเน้นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังคงจำเป็นที่จะต้องนำไปผสมร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อผลิตภาพของพืชผล อาทิ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน หรือการเปลี่ยนการใช้ที่ดิน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ไอเดียนี้จะเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Thomson Reuters Foundation ระบุว่า กลุ่มองค์กรชนพื้นเมืองกว่า 30 แห่งจากทุกมุมโลก (แถลงผ่านทาง Saami Council) ไม่เห็นด้วยนักกับไอเดียนี้ ด้วยมองว่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยประสงค์ให้มหาวิทยาลัย Harvard เลิกทำโครงการที่ตั้งใจจะทดสอบ solar geoengineering เช่นเดียวกับ Greta Thunberg เยาวชนนักเคลื่อนไหวประเด็นสภาพภูมิอากาศ ก็ได้ต่อต้านและอยากให้ระงับการวิจัย solar geoengineering เช่นกัน นอกจากเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว เธอมองว่ามันส่งผลเสี่ยงต่อกลุ่มผู้เปราะบางในประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่นส่งผลกระทบต่อฤดูมรสุม ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่คัดค้าน solar engineering มองว่า บรรดาบรรษัทที่ผลิตถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อาจจะใช้ไอเดียนี้เป็นข้ออ้างให้ยังคงผลิตพลังงานเหล่านี้ต่อไปได้

‘แทนที่จะไปแก้ที่ต้นตอของปัญหา เรากลับไปแก้ที่อาการของมัน เหมือนให้ยาบรรเทาอาการปวดเท่านั้น’ – Raymond Pierrehumbert, ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัย Oxford กล่าว

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ในด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
– (2.3) ในด้านการเพิ่มความสามารถในการผลิตทางการเกษตร (agricultural productivity)
– (2.4) หลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ ช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่องภายในปี 2573
#SDG13 การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
ทั้งนี้ โดยใช้องค์ความรู้ด้าน#SDG9 เทคโนโลยีและนวัตกรรม

แหล่งที่มา:
https://www.seas.harvard.edu/news/2021/05/model-shows-solar-geoengineering-may-be-surprisingly-effective-alleviating-impacts
https://news.trust.org/item/20210609202041-gptbr/

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น