Site icon SDG Move

SDG Updates | ถอดประเด็นน่าสนใจจากสัมมนา “นโยบายการต่างประเทศของไทยในทศวรรษ 2020” | เชื่อมโยงประเด็น SDGs กับทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้าและบริบทโลก

สรวิศ มา
อิทธิพร ทีปะลา
(นักศึกษาฝึงาน SDG Move)

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center) จัดประชุมสัมมนาแนวทางนโยบายการต่างประเทศของไทยในทศวรรษ 2020 ภายใต้หัวข้อ ‘เศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก: ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน’  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนะทิศทางนโยบายของประเทศไทยที่จะช่วยให้เราก้าวทันตามความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมการสัมมนา 3 ท่าน ประกอบด้วย


จากงานสัมมนาครั้งนี้ทาง SDG Move เล็งเห็นว่ามีเรื่องที่น่าสนใจติดตาม และอยากชวนคุณผู้อ่านสำรวจประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี 2 ประเด็นหลักดังนี้

1.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน จะทำให้สายการผลิตแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งหรือไม่? ไทยจะปรับตัวอย่างไร? โลกจะมีความยั่งยืนหรือไม่จากการแข่งขัน?

ในปัจจุบันสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนยังคงเป็นที่น่าจับตามองในหลาย ๆ ประเทศ เนื่องจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน โจ ไบเดน ยังคงมีการเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องมาจากรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพียงแต่ได้มีการผ่อนคลายนโยบายโดยการปรับขนาดการเก็บภาษีลง ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 สหรัฐฯ ได้ทำการลดการเก็บภาษีศุลกากร (tariff) สินค้ามูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ 15% เหลือเพียง 7.5%  

ที่มา : จัดทำโดยดร.กิริฎา เภาพิจิตร

แต่ก็ยังมีความน่ากังวลที่สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับความสามารถในการแข่งขันของจีนที่สูงขึ้น โดยทาง ดร.กิริฎา ได้เสนอว่า “ในปัจจุบัน จีนสามารถจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้มากกว่าสหรัฐฯ ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าจีนมีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไวกว่าสหรัฐฯ” จากตัวอย่างในรูปด้านบน สิ่งที่สำคัญ ๆ และน่าจะเป็นที่คุ้นหูสำหรับคนทั่วไป ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence), โดรน (Drones), Blockchain ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถูกจดสิทธิบัตรโดยประเทศจีนทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องจับตามองสหรัฐฯ ว่าจะมีท่าทีตอบโต้อย่างไรต่อการเติบโตทางเทคโนโลยีของประเทศจีนที่รวดเร็วและก้าวหน้ากว่าทางสหรัฐฯ

ที่มา : จัดทำโดยดร.กิริฎา เภาพิจิตร

อีกเรื่องที่เป็นความท้าทายของโลก คือ ระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) อย่างกรณีตัวอย่างของ การประสบปัญหาการขาดแคลน Semiconductor และ Computing hardware อย่างหนักที่เกิดขึ้นขณะนี้ทั่วโลกจากการทำสงครามการค้า ทำให้ผู้ผลิตเริ่มมีการกักตุนสินค้า ซึ่ง Semiconductor ‘คือส่วนที่จะใช้ประกอบการผลิตสินค้าเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อย่าง ซีพียู เป็นต้น’ โดยทางฝั่งสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะพยายามดึงฐานการผลิตไปอยู่ที่ประเทศตนมากขึ้น

โดยทางสำนักข่าว CNBC ได้นำเสนอข่าวท่าทีตอบโต้ของสหรัฐฯ เมื่อเอเชียก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในการผลิตชิป  ซึ่งจากการสัมภาษณ์ของสำนักข่าว CNBC ผู้เชี่ยวชาญต่างให้ความคิดเห็นดังนี้

“ในระยะยาว ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ นำโดย โจ ไบเดน ต้องการส่งเสริมผู้ผลิต Semiconductor ทั้งในและนอกประเทศให้ขยายฐานการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อที่จะลดการพึ่งพาการผลิตในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูงอย่างไต้หวัน และจะสร้างค่าตอบแทนที่สูงสำหรับวิศวกรที่มาทำงานในสหรัฐฯ”

Paul Triolo หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์ของบริษัท Eurasia Group

“สหรัฐฯ พยายามที่ตัดจีนออกจากสมการห่วงโซ่การผลิต”

Abishur Prakash ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ Center for Innovating the Future

ประเด็นนี้เป็นที่น่าสนใจหากการลงทุนย้ายฐานการผลิตไปสหรัฐฯ มีมากขึ้น จีนก็จะเสียผลประโยชน์จากเม็ดเงินการลงทุนที่เคลื่อนออกจากประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าอีกรอบในระยะสั้น อาทิ การเก็บภาษีนำเข้าโดยจีน ทำให้การส่งออกจากสหรัฐฯ มีต้นทุนการส่งสินค้าไปยังประเทศจีนสูงขึ้น และอาจไม่คุ้มค่าแก่ลงทุน แต่ในระยะยาวมีความเป็นไปได้ที่จีนต้องการที่จะรวบรวมห่วงโซ่อุปทานโดยมีจีนเองเป็นศูนย์กลางและลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมาข่าวจาก CNBC กล่าวว่าบริษัท Nexparia ซึ่งสังกัดประเทศจีน กำลังทำข้อตกลงซื้อขายบริษัท Newport Wafer Fab ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตชิปใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษที่มีมูลค่าประมาณ 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ยังคงต้องรอการยืนยันข้อมูลการซื้อขายอย่างเป็นทางการจากบริษัท

คำถามต่อมาคือหากในอนาคตสหรัฐฯ และจีนมีการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานออกเป็น 2 ฝั่งจริง ประเทศไทยควรจะทำเช่นไร ? 

ในปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับ Semiconductor ค่อนข้างสูงหากอ้างอิงจากสำนักงาน Efinancialthai.com สินค้าส่งออกอันดับ 1 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อันดับที่ 2 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เมื่อเกิดการขาดแคลนส่วนดังกล่าวจึงทำให้ราคาของสินค้าสูงขึ้น นำมาสู่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในประเทศไทย สามารถกล่าวได้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกลดลง

สำหรับประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐทั้งสองฝั่ง หากจำเป็นต้องเลือกที่จะเข้าไปอยู่ในระบบห่วงสำหรับประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทั้งสองฝั่ง หากจำเป็นต้องเลือกที่จะเข้าไปอยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทานของประเทศใดประเทศหนึ่ง จำเป็นต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) หลาย ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว มีการประเมิณผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและยาวให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อที่จะได้มีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ วางแผนของแต่ละภาคส่วนได้อย่างเหมาะสม

2.ในระยะยาวนั้นไม่ได้มีแค่ปัญหาโรคระบาด และปัญหาเหล่านั้นหนักกว่าปัญหาโรคระบาดที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งควรได้รับการแก้ไขโดยด่วนเช่นกัน

ตั้งแต่มีการอุบัติของโรคระบาดในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ทุกประเทศทั่วโลกได้พยายามที่จะยุติหรือระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ อาทิ มาตราการล็อกดาวน์ นโยบายปิดประเทศ การรณรงค์ให้มีการทำงานจากที่บ้าน (work from home) การกักตัว (quarantine) การเว้นระยะห่าง (social distancing) เป็นต้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และแน่นอนว่าการเปลี่ยนไปของวิถีชีวิตเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ย่อมไปรบกวนหรือทำลาย (disrupt) กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเดิมที่เคยมีก่อนหน้า ซึ่งนั่นก็จะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ (new normal) และบางภาคส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะตายจากไป

แต่ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกได้เร่งหันมาร่วมมือกันเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว จนประเด็นปัญหาอื่น ๆ ที่เคยเป็นประเด็นสำคัญและอาจสำคัญยิ่งกว่าปัญหาของโรคระบาดนั้นอาจถูกเบี่ยงเบนความสนใจออกไป ซึ่งในระยะยาวเราจะไม่ได้เผชิญเพียงแค่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาจากการอุบัติของโควิด-19 แต่เรายังจะต้องประสบกับภาวะโลกรวน (Climate Change) ซึ่งเป็นปัญหาที่ได้มีการพูดถึงก่อนหน้านี้มาหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าปัญหาภาวะโลกรวน (Climate Change) นั้นจะถูกลืมไปโดยปริยาย เพราะในต่างประเทศหรือแม้กระทั่งในประเทศไทยก็ดี ก็ยังมีความพยายามที่จะผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง อาทิ การประกาศเป้าหมายที่ช่วยลดปัญหาโลกรวนใหม่ ๆ การบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ผ่านเงื่อนไขในการลงทุนกับประเทศนั้น ๆ เป็นต้น

ดังนั้น ทิศทางประเทศไทยในอนาคตนั้นต้องมีการผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ อาทิ การใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับผู้แข่งอื่นในตลาดโลกได้ โดยรัฐนั้นควรที่จะคอยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัทหรือภาคส่วนต่าง ๆ ในการประยุกต์เทคโนโลยีด้านพลังงานเหล่านี้มาใช้อีกด้วยเช่นกัน ซึ่งการเร่งผลักดันกิจกรรมเหล่านี้ย่อมเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกด้วย


สุดท้ายนี้ การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่อาจส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการจ้างงานตาม #SDG 8 การจ้างงานที่มีคุณค่า และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในประเทศที่ไปตั้งโรงงาน อีกทั้งการแข่งขันที่มุ่งไปในการแข่งขันทางเทคโนโลยีจะทำให้แรงงานในประเทศที่เป็นฐานการผลิตได้รับการถ่ายทอดทักษะด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลต่อ #SDG17 สร้างความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (17.6) เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศและในภูมิภาค ในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (17.7) ส่งเสริมการถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (17.13) เพิ่มพูนเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคของโลก

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่สามารถบรรลุ #SDG8 (8.4) พัฒนาประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของโลกและตัดความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะส่งผลกระทบทางลบต่อสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศและน้ำเสีย ที่จะทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการลดการปล่อย ขจัดของเสียตาม #SDG 6 การมีน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริภาค ซึ่งหมายรวมถึง (6.3) การบำบัดน้ำเสีย  และ   #SDG 12 ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ (12.4) การจัดการสารเคมีและของเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นถูกขัดขวาง ดังนั้นประเทศที่มีโอกาสจะกลายเป็นฐานการผลิต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยต้องมีมาตรการเตรียมพร้อมเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ การส่งเสริม #SDG7 พลังงานที่สะอาดและเข้าถึงได้ โดยเน้น (7.2) เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน #SDG12 (12.5) ลดการผลิตของเสียโดยการป้องกัน การลด การแปรรูป และ #SDG13 ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากทุกภาคส่วน ซึ่งรวมทั้งภาครัฐและเอกชน

สรุปและเรียบเรียงจาก:
งานสัมนา “นโยบายการต่างประเทศของไทยในทศวรรษ 2020”
https://www.cnbc.com/2021/04/12/us-semiconductor-policy-looks-to-cut-out-china-secure-supply-chain.html
https://www.cnbc.com/2021/07/02/uks-largest-chip-plant-set-to-be-acquired-by-chinese-owned-nexperia.html
https://taxfoundation.org/tariffs-trump-trade-war/#timeline

Author

Exit mobile version