บทความ How can the world address inequality? 7 experts explain จากสภาเศรษฐกิจโลก สรุปความคิดเห็นจากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ 7 ท่านในตำแหน่งสำคัญ อาทิ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับสูงของนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น หัวหน้ากองวิจัยการโยกย้ายถิ่นฐาน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และผู้แทน UN Women ในอินเดีย กับมุมมองว่าเราจะสร้างโลกในอนาคตที่ ‘ลดความเหลื่อมล้ำและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ได้อย่างไร
จากข้อมูลความเหลื่อมล้ำโลก World Inequality Database 2020 update มีที่ชี้ว่าประเทศที่มีการลงทุนในภาครัฐหรือภาคสาธารณะสูง มีการคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง และนโยบายตลาดแรงงาน จะมีระดับความเหลื่อมล้ำที่ต่ำที่สุด (ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือประเทศในยุโรป) ขณะที่นโยบายตอบสนอง/ลดผลกระทบจากโควิด-19 ในรูปแบบการฟื้นฟู บรรเทา และคุ้มครองสวัสดิภาพ เป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นเท่านั้น เพราะในระยะยาวผลกระทบจากโรคระบาดนี้จะขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และนั่นเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องจัดการ
โดยการลดความเหลื่อมล้ำนั้น ไม่ได้มีแต่มุมของการกระจายรายได้ แต่ต้องมองไปยังมิติที่หลากหลาย อาทิ การขยับสถานะทางสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ โครงสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิต การเข้าถึงเทคโนโลยี เสียงจากภาคประชาสังคม ความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองทางสังคมและสิ่งแวดล้อม กฎหมายภาษีก้าวหน้า และสิทธิแรงงาน – เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสะท้อนว่าสังคมนั้นได้ตอบสนอง ‘ผลประโยชน์ของประชาชน’ หรือไม่ และการตอบสนองประโยชน์ของประชาชนก็คือหนทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำลง
และการจะเดินหน้าไปถึงเป้าหมายของความเท่าเทียมมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงก็ต้องเป็นการผสมผสานจากทั้งการลดความเหลื่อมล้ำทั้งแนวดิ่ง (vertical inequality) อันหมายถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างปัจเจกบุคคลและครัวเรือน และแนวระนาบ (horizontal inequality) อันหมายถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคน กลุ่มชาติพันธุ์-ศาสนา-วัฒนธรรม โดยมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 7 ท่านได้นำเสนอไว้ ดังนี้
01 – เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ผลักดัน ‘การจ่ายค่าแรงเท่ากันในงานที่เท่ากัน’ (equal pay for equal work) และเร่งกระจายความมั่งคั่ง อาทิ ด้วยการเก็บภาษีสินทรัพย์และภาษีกำไรจากเงินลงทุน (capital gains taxes) ให้มากขึ้น เพื่อที่ได้สามารถนำไปสนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรไม่แสวงผลกำไรในการดำเนินการต่อสู้กับประเด็นอย่างความยากจน เป็นต้น
นอกจากนี้ การศึกษากับการลดความเหลื่อมล้ำหรือถมช่องว่างความเหลื่อมล้ำก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยอาจนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงโอกาสของการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น
02 – หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพและได้รับการสนับสนุนทางการเงิน จากบทเรียนของโควิด-19 ที่ก็ได้สะท้อนว่าการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างถ้วนหน้ากันทุกคนเป็นสิ่งที่ชี้ความเป็นความตาย แต่ข้อเท็จจริงคือ แม้แต่ช่วงก่อนหน้าโรคระบาด กลับมีคนหลักหมื่นที่เสียชีวิตต่อวันเพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้
อย่างไรก็ดี การได้มาซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นไปได้ คำแนะนำจากบทความนี้ระบุว่าสามารถใช้ระบบเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและเป็นธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้มีกลุ่มคนร่ำรวยกระจุกที่ 10% และเงินจำนวนนี้นำไปกระตุ้นการคลังได้ หรือจะเป็นการเก็บภาษีเพิ่ม 0.5% จากผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในกลุ่ม 1% นั้น ก็จะสามารถนำไปกระจายเงินทุนสร้างรบบสาธารณสุขที่มีความสามารถในการตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (resilience) ได้แล้ว เป็นต้น
03 – สนับสนุน-ดูแลกายและใจของแรงงาน เพราะว่าในยุคที่ผู้คนต่างทำงานจากที่บ้าน (work from home) เราย่อมเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของคนทำงานในแต่ละครอบครัวนั้นแตกต่างกัน บางคนอาจมีเครื่องมือดิจิทัลและที่อยู่อาศัยที่ครบครันและพร้อมกับการปรับตัวนี้ บางคนอาจจะต้องคอยสับเปลี่ยน ‘ความรับผิดชอบ’ ตามแต่ละบทบาทของความเป็นแรงงานและ ‘งานดูแล’ สมาชิกในครอบครัวทั้งเด็กและผู้สูงอายุ บางคนอาจอยู่คนเดียวและไม่มีโอกาสที่จะได้พบปะใครเลยตลอดทั้งสัปดาห์ ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจหรือความเหงา ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ก็เพื่อจะชี้ว่าการสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและดิจิทัลสำหรับการทำงานนั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงการสนับสนุนอื่น ๆ ในยามที่เราไม่มีตัวเลือกเรื่องสถานที่ทำงานด้วย
04 – ส่งเสริมให้มีระบบที่มีความรับผิดรับชอบและโปร่งใสมากขึ้น กล่าวคือ แม้ #SDG10 จะเป็นการพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศที่โฟกัสไปที่ประชากรกลุ่มเปราะบางและที่ถูกเบียดขับเป็นชนชายขอบ ทว่าอันที่จริงแล้วเราจะต้องพูดถึงประเด็นปัญหาทางระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาขยายถ่างความเหลื่อมล้ำในแนวดิ่ง (vertical inequality) ซึ่งหมายถึงเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างปัจเจกบุคคลและครัวเรือนไม่ใช่ระหว่างกลุ่มคนหรือกลุ่มชาติพันธุ์-ศาสนา-วัฒนธรรม หรือความเหลื่อมล้ำในแนวระนาบ (horizontal inequality)
จึงต้องหาหนทางที่จะลดอิทธิพลทางการเมืองของบรรดาชนชั้นนำ (elites) ที่เข้ามามีส่วนสร้างและผลักดันนโยบายสาธารณะ เพื่อเป้าหมายของการมีระบบที่โปร่งใสและรับผิดรับชอบมากขึ้น
05 – ว่าด้วยเรื่องมาตรการสำหรับผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน หนึ่งในประเด็นของการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งมิติด้านการให้ความคุ้มครองทางสังคม การปรับลดค่าธรรมเนียมการส่งเงินกลับบ้าน เป็นต้น อีกประเด็นที่ควรมี โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา คือการให้มีการศึกษา ทำวิจัย ออกแบบและประเมินโซลูชั่นต่าง ๆ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้ได้ และเมื่อมีข้อมูล-องค์ความรู้ อาทิ ความต้องการของกลุ่มคนที่ถูกเบียดขับเป็นชายขอบ ก็จะสามารถนำไปสู่การวางแผนลดความเหลื่อมล้ำในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
06 – เพิ่มการลงทุนภาครัฐ/สาธารณะในเศรษฐกิจในระบบและนอกระบบของงานด้านการดูแล (care work) มุมมองนี้ว่าด้วยเรื่องภาระของงานภาคการดูแล อาทิ ดูแลผู้ป่วย ที่ส่วนใหญ่แล้วตกเป็นงานของเพศหญิง และอย่างในกรณีของอินเดียนั้น พบว่าผู้หญิงทำงานดูแลนี้โดยไม่ได้รับค่าจ้างในแต่ละวัน ทั้งนี้ หากไม่มีการแก้ไข ย่อมจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและยิ่งส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศถือเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญของการระงับช่องว่างของความเหลื่อมล้ำไม่ให้ขยายกว้างขึ้นไปกว่านี้ และทำได้ด้วยการเพิ่มการลงทุนในภาคสาธารณะในงานการดูแลทั้งในระบบและนอกระบบ ในแง่หนึ่ง คือการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานภายใต้เศรษฐกิจด้านการดูแล (care economy)
07 – อย่าใช้โรคระบาดเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมที่จะเลือกปฏิบัติและกันคนออก จากระบบ ยกตัวอย่างของการตั้งคำถามต่อการออก vaccine passports ว่าถือเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ในระยะยาว? โดยผู้อำนวยการด้านการณรงค์จาก Access Now มองว่าจะต้องเน้นย้ำการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านบวกในการฟื้นฟูจากโรคระบาด กล่าวคือ เป็นการคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บนฐานของสิทธิมนุษยชน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
– (10.3) หลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค โดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการกระทำที่เหมาะสมในเรื่องนี้
– (10.4) รับนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้างและการคุ้มครองทางสังคม และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยมุมมองต่าง ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 การยุติความยากจน ในด้าน (1.3) การคุ้มครองทางสังคม
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี ในด้าน (3.8 ) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ในด้าน (4.5) ขจัดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในด้าน(5.4) ยอมรับและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดเตรียมบริการสาธารณะโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคมให้และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว
#SDG8 เศรษฐกิจและงาน ในด้าน (8.8) สิทธิแรงงาน
#SDG16 สังคมที่มีสันติสุข ครอบคลุม ยุติธรรม ในด้าน (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบและโปร่งใสในทุกระดับ
แหล่งที่มา:
https://www.weforum.org/agenda/2021/07/how-can-we-mitigate-inequality-7-experts-explain/
Last Updated on มกราคม 12, 2022