อาการ ‘Doomscrolling’ มีมาพร้อมกับการเสพติดโทรศัพท์มือถือและแอปพลิเคชั่น และยิ่งฮอตฮิตขึ้นกับการใช้อธิบายภาวะความซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล ความรู้สึกไร้ซึ่งหนทางออกและความรู้สึกสูญเสียบางสิ่งบางอย่างร่วมกันของผู้คนที่มีมากขึ้นในช่วง 2 ปีมานี้จากการติดตามข่าวร้ายของสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน หรือกระทั่งใช้เวลากับโทรศัพท์มือถืออย่างลืมวันเวลา จนคำนี้ถูกบัญญัติไว้ในศัพท์ประจำปี 2563 ของพจนานุกรม Oxford
ซึ่งพฤติกรรม Doomscrolling นี้ เกี่ยวข้องกับทั้งอัลกอรึทึ่มของแอปพลิเคชันและความต้องการเสพข่าวอย่างหยุดยั้งไม่ได้ของเราเอง ที่สามารถกระทบกับเวลานอนและคุณภาพของการนอน และกระทบกับสุขภาพจิต
Kelly McCain หัวหน้าโครงการ Shaping the Future of Health and Healthcare สภาเศรษฐกิจโลก ระบุว่า ‘แม้ว่าเวลาที่เราใช้ไปกับโทรศัพท์มือถือไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ปัญหาทางสุขภาพจิตมีมากขึ้น ทว่าการที่เราเข้าถึงข้อมูลปัจจัยทางสังคมได้อย่างไม่จำกัด อาทิ โรคระบาด การจ้างงาน/ว่างงาน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นส่วนที่ทำให้เกิดความเครียดและกระวนกระวายใจ’ ทั้งนี้ การที่เสพข้อมูลอย่างล้นเกินยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพและสุขภาวะทางจิตโดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติด้วย
ด้าน Jeffrey Hall ศาสตราจารย์ด้านวิชาการสื่อสารประจำมหาวิทยาลัย Kansas ในเมือง Lawrence ที่ทำการศึกษาเรื่องความเชื่อมโยงของการใช้เทคโนโลยีและความสัมพันธ์ของคน ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNN อธิบายปัจจัยหลักของการเกิด Doomscrolling เอาไว้ว่า มี 3 ประการด้วยกัน ประการแรกเป็นเรื่องของบริษัทสื่อโซเชียลมีเดียที่ออกแบบสินค้าและประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ (user experience) และอัลกอริทึมของสินค้า/แอปพลิเคชัน และประการที่สองคือปัจเจกบุคคลที่มักจะเสพติดกับข้อมูลด้านลบ
เพราะบริษัทสื่อโซเชียลมีเดียเป็น ‘ธุรกิจ’ ที่มีเป้าหมายของการเก็บข้อมูลพฤติกรรมและนิสัยการใช้งานของผู้ใช้ เพื่อนำมาออกแบบและ ‘ยื่น’ เนื้อหาตอบโจทย์เรื่องที่เราสนใจ โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่การตั้งพาดหัวข่าวที่ล่อตาล่อใจ เพื่อผู้ใช้งานมีส่วนร่วมเข้ามาใช้ (engagement) สินค้า/แอปพลิเคชันของบริษัทนั้นยาวนานขึ้น อันจะเป็นการสร้างรายได้จากทั้งผู้ใช้และการโฆษณาสินค้าระหว่างนั้น
ส่วนตัวเราเอง นอกจากเรื่องความสงสัยใครรู่ ยังมักจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘อคติด้านลบ’ (negativity bias) เมื่อรับสารใด ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับวิวัฒนาการของมนุษย์เองที่จะต้องตื่นตัวพร้อมตอบสนองต่อภัยคุกคามใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตน ดังนั้น สิ่งที่มองว่าเป็นภัยคุกคามที่เป็นไปได้ (potential threats) ก็จะยิ่งทำให้เราติดตามข่าวสารและสถานการณ์นั้นมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัจจัยสองข้อนั้นนำมาซึ่งการเสพติด เป็นอาการ Doomscrolling ที่ทำให้ผู้คนนอนดึก นอนไม่เต็มที่ เสียสุขภาพกาย และเสียสุขภาพจิตเพราะความสิ้นหวัง สูญเสีย หรือหดหู่ จนอาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมการเสพติดข่าวร้ายโดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียลเดีย สัมพันธ์กับการมีหรือไม่มีสุขภาวะที่ดี โดย Dr. Ariane Ling ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางคลินิกของภาคจิตเวชและจิตวิทยาคลินิกประจำ Steven A. Cohen Military Family Center, NYU Langone Health ระบุว่า พฤติกรรม Doomscrolling เกิดขึ้นมาก่อนแล้วกับกลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตแต่เดิม
ทั้งนี้ คำแนะนำจาก Jeffrey Hall และ Dr. Ariane Ling ที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน หากท่านใดที่มีอาการนี้ และตั้งใจจะลดอาการ Doomscrolling สามารถลองทำตามคำแนะนำนี้ได้
- การติดตามสถานการณ์ความเป็นไปของโลกนั้นสำคัญ แต่เราไม่จำเป็นจะต้องติดตามอยู่ทุกห้วงขณะเวลา โดยเราสามารถเลือกที่จะเข้าไปตามข่าวสักครู่หนึ่ง และพักจากการใช้งานไปเลย หรือแบ่งเวลาเพื่อตามข่าวในช่วงเช้าสักประมาณครึ่งชั่วโมง และบางช่วงเวลาตอนกลางวัน และอีกครั้งอาจจะเป็นในตอนกลางคืน อย่างไรก็ดี การเสพข่าวตอนกลางคืนมักจะทำให้รู้สึกอ่อนไหวหรือมีอารมณ์ร่วมกับข่าวร้ายมากกว่า
- เราต้องเป็นนายอัลกอริทึม เพราะในฐานะผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม/สื่อโซเชียลมีเดียสามารถเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับสารใด และไม่จำเป็นต้องกดเข้าไปอ่านทุกข่าว โดยเลือกอ่านเฉพาะที่สนใจ และแม้แต่ที่สนใจก็ควรจะเลือกรับสาร อาจจะพิจารณากดเลิกติดตาม ปิดเสียงแจ้งเตือน หรือ Log Out ที่สำคัญควรตระหนักว่าเนื้อหาประเภทใดที่กระทบต่อสุขภาพจิตของตนเอง เพื่อที่จะได้ให้อัลกอริทึมรับรู้และเปลี่ยนแปลง/จัดรูปแบบเนื้อหาให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น
- หากการเสพข่าวในช่วงกลางวันทำให้สะดุ้งตื่นยามกลางคืนที่นอนหลับ ให้เปลี่ยนจากความรู้สึกกระวนกระวายต้องจับโทรศัพท์มือถือมาเช็กข่าวที่จะกระตุ้นความรู้สึกของเรา ด้วยการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หรือระบายความรู้สึกผ่านการเขียนแทนที่ รวมทั้งตั้งมั่นว่าการนอนหลับอย่างมีคุณภาพเป็นนิสัยที่ต้องหาวิธีหมั่นฝึกฝน ไม่ใช่ Doomscrolling
ประเด็น Doomscrolling เกี่ยวข้องกับ #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.4) ในด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายใน ปี 2573
แหล่งที่มา:
https://edition.cnn.com/2021/02/26/health/doomscrolling-prevention-tips-wellness/
https://www.weforum.org/agenda/2021/07/doomscrolling-mental-health-covid19-sleep/
Last Updated on กรกฎาคม 11, 2021