Site icon SDG Move

แนวคิด “Sponge City – เมืองฟองน้ำ” รับมือน้ำท่วม ด้วยการพัฒนาเมืองให้ ‘คนและน้ำอยู่ร่วมกัน’

แนวคิด ‘Sponge city’ หรือ ‘เมืองฟองน้ำ’ ได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2013 เพื่อจัดการกับปัญหาการจัดการน้ำท่วมในเขตเมืองในประเทศจีน และพัฒนารูปแบบของการอยู่ร่วมกันของผู้คน น้ำ และเมืองที่ยั่งยืน

แนวคิดเมืองฟองน้ำ หมายถึง การบริหารจัดการเมืองเพื่อแก้ปัญหาน้ำขังในเมือง ทำให้ทำให้เขตเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สวนสาธารณะ ถนน และอาคาร ‘ทำตัวเหมือนฟองน้ำ’ ที่สามารถดูดซับน้ำ กักเก็บ และกรองน้ำฝนได้ตามธรรมชาติ พัฒนาศักยภาพในการกักเก็บและปล่อยน้ำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ และบรรเทาผลกระทบของปรากฏการณ์เกาะความร้อน (heat island)

ในปี 2015 คณะมนตรีแห่งรัฐของจีนได้ออก Guideline on Promoting the construction of Sponge Cities เพื่อเป็นแนวทางให้เมืองต่างๆ ได้พัฒนาเขตเมืองเพื่อรับมือกับน้ำท่วมตามเป้าหมายที่กำหนด คือ ภายในปี 2020 จะต้องมีพื้นที่เขตเมือง 20% ที่พัฒนาขึ้นตามมาตรฐานการเป็นเมืองฟองน้ำในความสามารถการดูดซับน้ำ และใช้ประโยชน์จากน้ำฝนให้ได้ถึง 70% และภายในปี 2030 จะต้องมีเขตเมืองที่พัฒนาตามมาตรฐานเมืองฟองน้ำกินพื้นที่ให้ได้ถึง 80%

เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ การพัฒนาเมืองและการก่อสร้างจะต้องคำนึงถึง 6 เกณฑ์ ได้แก่ การซึมลงดิน (Infiltration) การกักน้ำ (retention) การเก็บน้ำ (storage) การบำบัดน้ำ (purification) การใช้ประโยชน์น้ำ (utilization) และ การระบายน้ำ (drainage) เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

โดยหนึ่งในเมืองที่เป็นโปรเจกต์นำร่อง คือ หวู่ฮั่น (Wuhan)

หวู่ฮั่น ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศจีน เป็นเมืองที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์และมีระบบการจัดการน้ำที่ครอบคลุม อย่างไรก็ตาม หวู่ฮั่นประสบปัญหาน้ำท่วมขังมานานหลายปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มและช่วงที่ฝนตกแต่ละปีกระจายไม่เท่ากัน คือ 70% ของฝนทั้งปีตกในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทำให้สถานการณ์น้ำท่วมขังในเมืองรุนแรงขึ้น อีกทั้งการขยายพื้นที่ที่ดินทำให้ทะเลสาบธรรมชาติมีขนาดเล็กลง ซึ่งทำให้ความสามารถในการกักเก็บน้ำลดลงไปด้วย นอกจากนั้นระบบท่อน้ำเสียและท่อน้ำฝนที่เชื่อมต่อกันอย่างไม่มีประสิทธิภาพส่งผลให้เกิดมลพิษทางน้ำในเขตเมืองด้วย

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมืองหวู่ฮั่นที่ทำหน้าที่เป็นฟองน้ำ ใช้ทั้งแนวทางการแแก้ปัญหาด้วยสิ่งก่อสร้าง (grey solutions) และด้วยแนวทางธรรมชาติ (nature-based solutions) ซึ่งได้แก่ การสร้างสวนพิรุณ (rain garden) การปลูกหญ้าแฝก ระบบกักเก็บนํ้าด้วยพืชพรรณ (bio-retention facilities) ทางเท้าที่ปูด้วยแอสฟัลต์ที่น้ำซึมผ่านได้ รางตื้นซับน้ำ (Infiltration trenches) และพื้นที่กักเก็บน้ำฝน โดยมีเป้าหมาย คือ ดูดซับปริมาณน้ำฝนทั้งปีให้ได้ถึง 60%-85%

โครงการเมืองฟองน้ำในหวู่ฮั่น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง และทำให้เห็นศักยภาพของการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่อยู่บนพื้นฐานธรรมชาติ โดยในฤดูร้อนปี 2020 ที่ผ่าน เมืองหวู่ฮั่นต้องเผชิญกับปริมาณฝนตกหนักที่ทำลายสถิติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขังในเมืองที่รุนแรง

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แนวคิด ‘เมืองฟองน้ำ’ ของ หวู่ฮั่น ที่รายงาน Using Nature to Reshape Cities and Live with Water: An Overview of the Chinese Sponge City Programme and Its Implementation in Wuhan โดย IUCN for GrowGreen

การพัฒนาเมืองเพื่อรับมือน้ำท่วม เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG1 ขจัดความยากจน ในประเด็น สร้างภูมิต้านทานต่อเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศและภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสภาวะเปราะบาง (1.5)
- #SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน ในประเด็น ลดความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งปกป้องคนจนและคนเปราะบาง (11.5)
- #SDG13 ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น การปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ (13.1)

ที่มา : Oppla

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version