SDG Updates | เปิดรายงาน WIR 2021 การลงทุนที่ยั่งยืนยังเป็นไปได้หรือไม่? ในยุคหลังโควิด

การลงทุนเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการเติบโตของศรษฐกิจและทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากร ถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมไปถึงสร้างการแข่งขันระหว่างผู้เล่นภาคส่วนต่าง ๆ นับแต่การระบาดของโควิด-19  ในปี 2020 (พ.ศ. 2563)  มูลค่าการลงทุนทั่วโลกหดตัวลง แต่เมื่อเผชิญกับโรคระบาดเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปี เริ่มมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายนำมาสู่การผ่อนคลายมาตรการทำให้ภาคการลงทุนค่อยฟื้นตัว หลายจึงประเทศเริ่มพูดคุยถึงแนวทางการฟื้นตัวกลับมา สอดคล้องกับรายงาน World Investment Report 2021 โดยองค์กรการประชุม สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD : อังค์ถัด) ที่ได้ระบุประเด็นดังกล่าวเอาไว้เป็นธีมหลักของงาน ซึ่งไม่เพียงแต่การฟื้นตัวในระดับปกติเท่านั้น แต่ยังพูดถึงการฟื้นตัวที่ทำให้ภาคธุรกิจและภาคการลงทุนกลับมาดี ยิ่งกว่าเดิม (Build back better)  บนหลักการของความยั่งยืนและยืดหยุ่น

คอลัมน์ SDG Updates วันนี้ขอนำเสนอภาพรวมของสถานการณ์การลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) และชวนอัปเดตว่าเพราะเหตุใดที่ทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ถึงขนาดมองว่าเป็น ‘เทรนด์’ ที่โลกต้องหมุนตามกันด้วย        

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศคืออะไร?

ก่อนจะนำเสนอรายละเอียดอยากชวนทุกคนทำความรู้จักคำที่จะถูกกล่าวถึงในคอลัมน์นี้นั่นคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือที่คุ้นเคยในชื่อ  ‘FDI’  ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งโดยเจ้าของทุนยังมีอำนาจในการดูแลกิจการที่ มีการนำทรัพยากรการผลิต แรงงานและเทคโนโลยีเข้าไปยังประเทศที่ลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระยะยาว           

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลก เนื่องจากมีการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชากรโลก และทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลที่ประเทศต่างๆ ผลักดันนโยบายดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการทั้งเงินทุน เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ และพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สูงขึ้นด้วย

ยิ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งต้องการการลงทุน

ด้วยประสบการณ์ในอดีตที่หลายประเทศเผชิญส่งผลให้สังคมส่วนหนึ่งยังคงมีความรู้สึกในเชิงลบต่อ ‘การลงทุนต่างชาติ’  
‘การลงทุนข้ามชาติ’  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีศักยภาพทางการเงินน้อย และจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื้อฟื้นฟูความบอบช้ำของภาคธุรกิจจากการระบาดของโควิด-19   ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเมื่อตัวเลขจากรายงาน World Investment Report 2021 ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าการลงทุนในประเทศทางการพัฒนาในปี 2020 ลดลงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี  2021 โดย จำนวนการลงทุนในรูปแบบ Greenfield (การลงทุนแบบใหม่ 100%) ลดลงร้อยละ 42 และจำนวนข้อตกลงทางการเงินโครงการระหว่างประเทศ ส่วนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานลดลง 14%

มูลค่าการลงทุน FDI ในโครงการใหม่ (กรีนฟิลด์) ในแต่ละภูมิภาค (พันล้านดอลลาร์และร้อยละ)

สถานการณ์การลงทุนหลังโควิด – 19

ในปี 2020 (พ.ศ. 2563) มูลค่าการลงทุนทั่วโลกลดลงถึง 35% จากรายงาน World Investment Report 2021 ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (The United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) คาดการณ์ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment: FDI) ของโลก จะลดลงจนถึงระดับต่ำสุดในปี 2021 ก่อนที่จะค่อยฟื้นตัว และมีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นประมาณ 10% – 15% รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า การที่ FDI ของโลกลดลงถึง 35% ในปี 2020 (พ.ศ. 2563) นั้นมีมูลค่ารวมเหลือ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากเดิมที่มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา            

การปิดเมือง (Lockdown) ในหลายพื้นที่ทั่วโลกทำให้การลงทุนในหลายโครงการมีความล่าช้า และการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยทำให้บริษัทข้ามชาติต้องกลับมาประเมินโครงการที่จะลงทุนใหม่อีกครั้ง การปรับตัวลดลงของ FDI ครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีมูลค่า FDI ลดลงถึง 58% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างของบริษัทและการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างบริษัทในเครือ

ในขณะที่ FDI ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า (ลดลงเพียง 8%) โดยหลักเป็นเพราะการไหลเวียนของเม็ดเงินลงทุนในเอเชียค่อนข้างเสถียร ส่งผลให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีมูลค่า FDI คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่า FDI ของโลก เพิ่มขึ้นจากระดับเดิมในปี 2562 ที่มีมูลค่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ FDI ของทั่วโลก

 อย่างไรก็ดี การลงทุนในโครงการใหม่กลับสวนทางกับทิศทางการปรับตัวของ FDI อย่างสิ้นเชิง กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับสภาวะการลงทุนที่ตกต่ำลง ทำให้จำนวนโครงการลงทุนใหม่ (greenfield project) ที่ถูกเผยแพร่ออกมา ลดลงถึง 42% และโครงการที่ใช้แหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ (ซึ่งสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน) ลดลง 14%

สถานการณ์ด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนให้การเติบโตของ FDI ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น ภายหลังจากการระบาดโควิด-19 พบว่าเกิดการหดตัวของ FDI ถึง 25% ทำให้มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 136 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่า FDI ของแต่ละประเทศล้วนมีแนวโน้มลดลง ดังนี้

  • สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มี FDI ขาเข้าสูงที่สุดในภูมิภาคตามลำดับนั้น
    ล้วนมีมูลค่า FDI ลดลง โดยมูลค่า FDI ขาเข้าในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ลดลง 21% (มีมูลค่ารวม 91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)  22% (มีมูลค่ารวม 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และ 2% (มีมูลค่ารวม 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ
  • ในเมียนมาร์ FDI ลดลงลงถึง 34% ทำให้มีมูลค่ารวมที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • มาเลเซีย FDI ลดลงถึง 55% ทำให้มีมูลค่ารวมที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ในกัมพูชาซึ่งได้รับแรงหนุนจากเงินทุนขาเข้า ทำให้มี FDI คงที่ ณ ระดับ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ส่วนประเทศไทยนั้น รายงานระบุว่าผลของมาตรการปิดเมืองจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และภาวะขาดตอนหรือหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้รายได้ของธุรกิจลดลง เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และแผนการลงทุนที่ถูกชะลอ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการหดตัวของ FDI ในไทย ร่วงลงจนมีมูลค่าติดลบที่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาค อันเป็นผลมาจากการถอนการลงทุนของ Tesco (United Kingdom) โดยขายกิจการให้ผู้ลงทุนไทยเป็นมูลค่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ต้องทำอย่างไรภาคการลงทุนจึงจะฟื้นตัวกลับมาได้ดีกว่าเดิม

ผลจากความบอบช้ำที่ทุกฝ่ายได้รับทำให้การฟื้นตัวกลับมาสู่สภาวะที่พร้อมแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ก็เป็นทั้งบทเรียนและโอกาสที่เหมาะสมในการพยายามจัดสมดุลของภาคการลงทุนและภาคธุรกิจให้เติบโตไปโดยคำนึงถึงผลกระทบในมิติสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีแผนรองรับการปรับตัว เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกิจการมากขึ้น  รายงานฉบับนี้ได้มีการนำเสนอแผนการลงทุน ที่เน้นยึดหลักความยืดหยุ่นและความยั่งยืน  รายงานมีการเสนอให้เน้นที่แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลิตภาพ

ปัจจุบันแผนการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายประเทศ ส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ทางดิจิทัล และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดลำดับความสำคัญเช่นนี้ถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว ด้วยเหตุผลดังนี้

  • สอดรับกับการลงทุนที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)  
  • เป็นสาขาที่การลงทุนภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ทำให้ภาครัฐสามารถเข้ามาร่วมดำเนินการได้โดยง่าย
    นั่นหมายความว่า หากภาครัฐจัดทำแผนได้มีประสิทธิภาพก็มีโอกาสสูงที่การฟื้นตัวจะเป็นไปตามหลักความยั่งยืนและยืดหยุ่น และ

มีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค หากมองประเด็นด้านการให้ความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพื้นฟูอย่างยั่งยืนในองค์รวม นอกจากจะมีขอบเขตครอบคลุมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว จะครอบคลุมไปถึงภาคอุตสาหกรรมในสาขาสำคัญที่จะทำให้เกิดการเติบโตของผลิตภาพด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นหากแผนฟื้นฟูเหล่านี้เป็นจริง

รายงานคาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าแผนการลงทุนขนาดใหญ่หรือมูลค่าสูงที่ถูกผลักดันขึ้นเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการลงทุนทั่วโลก คาดว่ามูลค่าสะสมของเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในรูปแบบการลงทุนระยะยาวทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังมีโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการที่ยังอยู่ในแผนที่จะจัดทำ (pipeline) หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการใช้เงินทุนเหล่านี้ดึงดูด กระตุ้นให้เกิดเงินทุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชนร่วมด้วยแล้ว มูลค่าเม็ดเงินโดยรวมของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะสูงกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของเงินทุนที่ยังขาดแคลนสำหรับการลงทุนเพื่อให้บรรลุ SDGs (จากการประมาณการในช่วงที่เริ่มนำ SDGs มาใช้)

มูลค่าดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่าทั้งภาครัฐและเอกชนมีศักยภาพที่จะสร้างแหล่งเงินทุนมูลค่ามหาศาล ซึ่งหากรวมกับการลงทุนรายปีด้วยแล้ว มูลค่าโดยรวมทั้งหมดจะสูงกว่า 3 เท่าของมูลค่าเงินลงทุนที่สูงที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการจัดหาเงินทุนจากต่างประเทศมาไว้ใช้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะสามารถช่วยให้การลงทุนของภาครัฐเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ แต่ก็ก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ ในการรับมือกับความท้าทายไปพร้อมกับการดำเนินงานเพื่อให้การลงทุนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในมิติของความยั่งยืนและความครอบคลุม จะต้องมีการผสานความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนทั้งในแบบทวิภาคีและพหุภาคีจากผู้ให้กู้และหน่วยงานที่จะช่วยค้ำประกันหรือให้การการันตี ต่อความเสี่ยงและแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อต้นทุนของการจัดหาเงินทุนสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อย

นโยบายสำหรับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนควรมีหน้าตาอย่างไร

รายงานนเสนอว่า การลงทุนเพื่อความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ทุกประเทศต้องมีนโยบายที่สอดรับกับกรอบแนวที่ส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างต่อไปนี้

  • สร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัว
  • สร้างสมดุลของการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรม และ
  • รับมือกับความท้าทายในช่วงการดำเนินงานตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ในระดับกลยุทธ์ นโยบายด้านอุตสาหกรรมจะจูงใจให้บริษัทปรับสมดุลของเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น นอกจากนี้ นโยบายด้านอุตสาหกรรมยังช่วยผลักดันให้เกิดการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพ

อ่านรายงาน World Investment Report 2021 ฉบับเต็มได้ที่นี่

อ้างอิง
World Investment Report 2021
https://unctad.org/webflyer/world-investment-report-2021

Last Updated on กรกฎาคม 17, 2021

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น