หลักการความเท่าเทียม (equality) และไม่เลือกปฏิบัติ (non-descrimination) เป็นหลักสำคัญของสิทธิมนุษยชน ตามที่ปรากฏใน UN Universal Declaration of Human Rights หรือ คำประกาศสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 1986 ที่ว่า
“มนุษย์ทุกคนเกิดมามีอิสระเสรีและเสมอภาคกันทั้งในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ”
“All human beings are born free and equal in dignity and rights. They are endowed with reason and conscience and should act towards one another in a spirit of brotherhood.”
การเลือกปฏิบัติ หรือ ‘discrimination’ คือ การปฏิบัติที่แตกต่าง การกีดกัน การจำกัด หรือความพึงพอใจที่ไม่เท่ากัน ต่อคน/กลุ่มคนที่เหมือนกันและที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงการปฏิบัติที่เหมือนกันแต่ส่งผลให้เกิดความเสียเปรียบต่อบางกลุ่มด้วย ซึ่งการปฏิบัติเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อหลักการความเท่าเทียมของมนุษย์
การปฏิบัติที่แตกต่างกันนั้น เกิดขึ้นบน ‘เหตุแห่งการเลือกปฏิบัติ’ (Ground of Discrimination) ซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะของกลุ่มคนซึ่งมักเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางและเป็นคนชายขอบ (Vulnerable and Marginalized Groups) ครอบคลุมทั้ง เชื้อชาติ สีผิว เพศ รสนิยมทางเพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สถานะทางเศรษฐกิจ ชาติกำเนิด ความพิการ สถานะสุขภาพ หรือสถานะอื่น ๆ และจะเกิดขึ้นในทุกย่างก้าวของการดำรงชีวิต โดย ‘มิติของการเลือกปฏิบัติ’ (Area of Discrimination) นั้นครอบคลุมถึงการทำงาน การศึกษา การจ้างงาน บริการภาครัฐ/เอกชน การประกอบธุรกิจ การประกอบวิชาชีพ การเป็นสมาชิกองค์กร กิจกรรมสาธารณะ เป็นต้น
รูปแบบการเลือกปฏิบัติ แบ่งออกเป็น
- การเลือกปฏิบัติโดยตรง (Direct Discrimination) คือ การปฏิบัติที่แยกความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มคน ทำให้คนบางกลุ่มใช้สิทธิของตนได้น้อยกว่าคนกลุ่มอื่น เช่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้ผู้หญิงเท่านั้นต้องแสดงหลักฐานการศึกษาเพื่อคงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยตรงด้วยเหตุแห่งเพศ
- การเลือกปฏบัติโดยอ้อม (Indirect Discrrimination) คือ เมื่อมีการกำหนดกฎหมาย นโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่มีเงื่อนไขเป็นกลาง (neutral) ไม่มีการแบ่งแยกแตกต่างชัดเจน แต่กลับทำให้กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งเสียเปรียบอย่างชัดเจน เช่น กฎหมายที่กำหนดให้ทุกคนต้องแสดงหลักฐานการศึกษาเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง ก็จะมีผลเป็นการเลือกปฏิบัติทางอ้อมต่อกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่า เช่น คนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ด้อยโอกาสและผู้หญิง
- การเลือกปฏิบัติแบบทับซ้อน (Intersectional Discrimination) คือ เมื่อรูปแบบการเลือกปฏิบัติหลายรูปแบบเกิดขึ้นพร้อมกัน ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น เช่น การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงส่งผลให้ผู้หญิงได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายในงานเดียวกัน เช่นกันกับการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย ทำให้คนกลุ่มนี้ได้ค่าจ้างน้อยกว่ากลุ่มคนอื่น ดังนั้น ในกรณีที่ผู้หญิงที่มาจากชนกลุ่มน้อยก็จะได้เงินค้าจ้างน้อยกว่าชายชนกลุ่มน้อยด้วยกัน และจากผู้หญิงด้วยกันอีกชั้นหนึ่ง
การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการมีอคติบนแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ (identity) นำมาซึ่งความแตกแยก ความเกลียดชัง และแม้กระทั่งการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นเพียงเพราะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งอคติเหล่านี้นำมาซึ่งการกำหนด ‘กฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติที่มีการเลือกปฏิบัติ’ (discriminatory laws, policies and practice) ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะทำให้ความไม่เท่าเทียมกันคงอยู่ในสังคมต่อไป
คำว่า ‘การเลือกปฏิบัติ’ ปรากฏอยู่ใน‘ #SDG10 เป้าประสงค์ที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการกระทำที่เหมาะสมในเรื่องนี้
Target 10.3 : Ensure equal opportunity and reduce inequalities of outcome, including by eliminating discriminatory laws, policies and practices and promoting appropriate legislation, policies and action in this regard
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา :
รายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง กฎหมายว่าด้วยความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติ
UNOHCHR
Amnesty
Unstat Metadata 10.3