รายงาน UN ระบุ ความหิวโหยในแอฟริกาทวีคูณในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และอาจคงอยู่แม้โรคระบาดจบแล้ว

รายงานจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ระดับความหิวโหยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกมีส่วนมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งข้อมูลจากรายงานที่จัดทำร่วมกันของ 5 หน่วยงาน (WHO, WFP, UNICEF, FAO, IFAD) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ พบว่าในปี ค.ศ. 2020 โลกกำลังเผชิญหน้ากับความหิวโหยที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งมีการประมาณว่า 21% ของประชากรในภูมิภาคนี้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ในขณะที่การประมาณจำนวนผู้ขาดสารอาหารเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่เกือบ 10% ของประชากรโลกทั้งหมด

หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติได้กล่าวเสริมว่า “ผู้ใหญ่และเด็กจำนวนกว่า 3 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงอาหารเพื่อการมีสุขภาพดีได้เนื่องมาจากค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป” โดยเด็กเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากการประเมินว่ามีเด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 149 ล้านคนมีการเติบโตที่อยู่ในภาวะแคระแกร็น (Stunted) และยังมีรายงานตัวเลขที่ดูย้อนแย้งกันของจำนวนเด็กอีก 39 ล้านคนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) อีกด้วย

โดยรายงานฉบับนี้ยังได้สรุปว่า ในปี ค.ศ. 2020 ความหิวโหยได้พุ่งสูงขึ้นแซงหน้าการเติบโตประชากรทั้งในแง่การเปรียบเทียบโดยตรงหรือใช้สัดส่วนเป็นเกณฑ์ (absolute and proportional terms) โดยพบว่ามีประชากรโลกประมาณ 9.9% ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอเมื่อเทียบจากปี ค.ศ. 2019 ที่มีเพียงแค่ 8.4% ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราความหิวโหยเพิ่มจากปี ค.ศ. 2019 ถึง 1.5 จุดเปอร์เซนต์

ทั้งนี้ รายงานชิ้นนี้ได้ถือว่าเป็น ‘รายงานการประเมินครั้งแรกในยุคของการระบาดใหญ่’

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ : The State of Food Security and Nutrition in the World 2021

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน #SDG2 ขจัดความหิวโหย เกิดความล่าช้าที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าในปีเป้าหมาย คือ ค.ศ. 2030 จะยังมีคนทั่วโลกถึง 660 ล้านคนประสบกับความหิวโหย ซึ่งในตัวเลขดังกล่าวนี้ จำนวน 30 ล้านคนอาจเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน

องค์การสหประชาชาติได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความหิวโหย โดยให้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจสูง และมีการช่วยเหลือต่างๆ เช่น โครงการช่วยลดราคาอาหาร ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1)
ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กทารก เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย อุดมไปด้วยสารอาหารและเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
(2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาภาวะการขาดสารอาหารของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573รวมถึงบรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2568

ที่มา : nbcnews.com


Author

  • Itthiporn Teepala

    Knowledge Communication [Intern] สนใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความรวดเร็ว มีผลกระทบต่อความยั่งยืนหรือมั่นคงในด้านต่าง ๆ อย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น