หลังจากที่ SDG Index ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ราว 2 สัปดาห์ต่อมา โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาแถลงเรื่องนี้เช่นกัน (โปรดดู ที่นี่) การแถลงดังกล่าวเป็นการแถลงเกี่ยวกับอันดับของประเทศไทยในระดับโลก เอเชีย และอาเซียน และเป้าหมายใดอยู่สถานะใดบ้างเท่านั้น (แม้ว่าจะเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เป็นผู้ดำเนินการและเผยแพร่ก็ตาม) อย่างไรก็ดี การแถลงดังกล่าวเป็นการแถลงในช่วงเวลาที่สังคมกำลังไม่พอใจรัฐบาลอย่างหนักเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการโควิด 19 และนโยบายด้านวัคซีน ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างยิ่ง จึงทำให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า จริงหรือที่ประเทศไทยได้อันดับ 1 ของอาเซียน ประเทศอย่างสิงคโปร์ได้อันดับต่ำกว่าเราจริงหรือ? รัฐบาลใช้อันดับเหล่านี้มาเป็นการอ้างว่ารัฐบาลทำงานได้ดีแล้วหรือไม่? ความท้าทายของการขับเคลื่อน SDGs ที่แท้จริงคืออะไร?
บทความ Inside SDG Index ฉบับนี้มุ่งไขข้อข้องใจบางประการที่สืบเนื่องมาจากการแถลงของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้น และตอบคำถามหลัก 2 ข้อคือ (1) ประเทศไทยยั่งยืนกว่าสิงคโปร์จริงหรือ? (2) อันดับ SDG Index สามารถนับว่าเป็นผลงานของรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้หรือไม่ สำหรับท่านที่เพิ่งมาอ่านบทความนี้เป็นครั้งแรกและยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับ SDG Index โปรดย้อนกลับไปอ่านที่ Inside SDG Index : เจาะลึก SDG Index 2021 ของประเทศไทย ก่อนเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับ SDG Index ข้อโดดเด่นและข้อจำกัดของมัน ทั้งนี้ หากต้องอธิบายส่วนนั้นด้วยโดยละเอียดจะเป็นการอธิบายซ้ำซากและใช้พื้นที่มากเกินไป ถึงกระนั้นในบทความนี้ก็จะให้ข้อมูลเบื้องต้นบางประการเพื่อประกอบการทำความเข้าใจบทความนี้เท่าที่จำเป็นไปด้วย
ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ SDG Index โดยสรุป
SDG Index เป็นดัชนีที่จัดทำโดยมูลนิธิ Bertelsmann และเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ดัชนีนี้ไม่ได้จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ Cambridge University Press ดัชนีนี้ไม่ได้ครอบคลุมทุก Targets ของ SDGs และไม่ได้ใช้ตัวชี้วัดทั้งหมดของตัวชี้วัด SDG ระดับโลก ด้วยเหตุผลเรื่องของความสมบูรณ์ของข้อมูลตัวชี้วัดระดับโลกที่ยังไม่สมบูรณ์นัก อย่างไรก็ดี การจัดทำดัชนีนี้ได้รับการตรวจสอบคุณภาพจาก European Commission Joint Research Centre (JRC) แล้ว
SDG Index เป็นดัชนีเดียวในโลกที่แปลงค่าตัวชี้วัดของ 17 เป้าหมายออกมาเป็นคะแนนและจัดอันดับทุกประเทศเท่าที่มีข้อมูล โดยใช้ทั้งค่าเป้าหมายระดับโลก หลักการทางวิชาการ และการเปรียบเทียบระหว่างประเทศมาเป็นเครื่องมือในการระบุสถานะตัวชี้วัด นั่นหมายความว่าการจัดสถานะของตัวชี้วัดของแต่ละประเทศนั้น มิได้ดูตามเกณฑ์ขององค์กรระหว่างประเทศหรือหลักวิชาการเท่านั้น (อิงเกณฑ์) แต่เปรียบเทียบกับสถานะตัวชี้วัดของประเทศอื่น ๆ ทั้งหมดด้วย (อิงกลุ่ม)
สิ่งที่ต้องตระหนักร่วมกันคือ SDG Index หรือดัชนีใด ๆ ในโลกก็ตาม ไม่ได้แสดงสถานการณ์ของประเทศนั้น ๆ ณ เวลาที่ประกาศ หรือ ในปีที่มีการประกาศ แต่เป็นการแสดงสถานะของประเทศนั้น ๆ ตามชุดข้อมูลที่มี “ล่าสุด” ในปี 2021 ซึ่งข้อมูลล่าสุดเท่าที่มีของบางตัวชี้วัดอาจเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในปี 2020, 2019, 2018 หรือปีใด ๆ ก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้จัดทำรายงานตระหนักดีว่า ความจำกัดและความทันการณ์ของข้อมูลเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่งของการจัดทำ SDG Index และนี่เป็นสิ่งที่ผู้อ่านก็ควรตระหนักด้วยเช่นกัน
● ตอบคำถามข้อที่ (1) ประเทศไทยยั่งยืนกว่าสิงคโปร์จริงหรือ?
SDG Index รายงานสถานะประเทศไทยว่า ได้คะแนน 74.2 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน แปลว่า หากนับคะแนน 100 คะแนนคือปลายทางที่ต้องเดิน 100 ก้าวถึงจะไปถึง ประเทศไทยได้เดินทางมาถึงก้าวที่ 74.2 ก้าว ซึ่งคะแนนดังกล่าว นับเป็นอันดับที่ 43 จาก 165 ประเทศ และหากเปรียบเทียบอันดับกับประเทศในเอเชีย ประเทศไทยเป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่น (อันดับ 18 ด้วยคะแนน 79.8 คะแนน) และประเทศเกาหลีใต้ (อันดับ 28 ด้วยคะแนน 78.6) และหากเปรียบเทียบกับชาติสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงที่สุด ตามมาด้วยเวียดนาม (อันดับ 51 ด้วยคะแนน 72.8) มาเลเซีย (อันดับ 65 คะแนน 70.9) และสิงคโปร์ (อันดับที่ 76 ด้วยคะแนน 69.9) ซึ่งข้อนี้นี่เองที่เป็นที่สงสัยกันมาก
โดยทั่วไปการพิจารณาแค่ตัวเลขตัวเดียว อาจไม่ทำให้เกิดความเข้าใจเท่าไร การพิจารณาในรายละเอียดจะทำให้เราเกิดความเข้าใจมากขึ้น เมื่อเราเข้าไปดู Country Profile ของไทยและสิงคโปร์ สิ่งที่เราพบก็คือ สิงคโปร์มีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะสีเขียว ถึง 4 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 1 No Poverty เป้าหมายที่ 4 Quality Education เป้าหมายที่ 7 Affordable and Clean Energy และเป้าหมายที่ 9 Infrastructure, Industry and Innovation ในขณะที่ประเทศไทยบรรลุเพียงเป้าหมายเดียวคือเป้าหมายที่ 1 No Poverty นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมีเป้าหมายในสถานะสีเหลืองมากกว่าไทย โดยสิงคโปร์มีเป้าหมายสถานะสีเหลือง 3 เป้าหมาย คือเป้าหมายที่ 3 Good Health and Wellbeing เป้าหมายที่ 5 Gender Equality และ เป้าหมายที่ 11 Sustainable Cities and Communities ในขณะที่ไทยมีเป้าหมายสถานะสีเหลืองเพียง 1 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 4 Quality Education เป้าหมายสีส้มของสิงคโปร์มีเพียง 4 เป้าหมาย ส่วนของไทยมีถึง 10 เป้าหมาย ในขณะที่มีเป้าหมายสีแดงจำนวนเท่ากันคือ 5 เป้าหมาย ที่น่าสังเกตคือสิงคโปร์ไม่มีคะแนนของเป้าหมายที่ 10 Reduced Inequality
คำถามคือ เมื่อดูสถานะรายเป้าหมายแล้ว ดูเหมือนว่าสิงคโปร์จะมีสถานะของเป้าหมายที่ดีกว่าประเทศไทย ทำไมประเทศไทยถึงมีคะแนนและอันดับสูงกว่าสิงคโปร์? คำถามนี้จริง ๆ สามารถขยายไปถึงการเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นด้วย เช่น จีน มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต เป็นต้น การจะตอบคำถามนี้ได้ จำเป็นจะต้องขยับไปดูในระดับของคะแนนดิบของแต่ละประเทศและนำมาเปรียบเทียบกันให้ชัด
ดังที่ได้อธิบายในวิธีการคำนวณในบทความก่อนหน้านี้ ตัวชี้วัดแต่ละตัวจะมีค่าที่ดีที่สุด (Upper Bound) และต่ำที่สุด (Lower Bound) แตกต่างกัน โดยค่าเหล่านี้หากมีการกำหนดโดยมาตรฐานระหว่างประเทศก็จะใช้ค่าเหล่านั้น หากไม่มีจะใช้ค่าที่ได้จากการศึกษาทางวิชาการ หากไม่มีการศึกษาระบุไว้จะใช้ค่าเฉลี่ยของประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด/ต่ำสุด 5 ประเทศ จากนั้นนำคะแนนเหล่านั้นมาปรับให้มีมาตรฐานเดียวกัน (Normalization) คือแปลงค่าตัวชี้วัดให้เป็นค่าคะแนนเต็ม 100 คะแนน สำหรับค่าคะแนนของแต่ละเป้าหมายจะนำค่าคะแนนที่ปรับแล้วของทุกตัวชี้วัดมาหาค่าเฉลี่ย จะได้มาเป็นคะแนนของเป้าหมายนั้น สำหรับเป้าหมายที่ไม่มีข้อมูล (เช่น เป้าหมายที่ 10 ของสิงคโปร์) จะใช้ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคแทน จากนั้นเพื่อให้ได้คะแนนของประเทศ คะแนนของเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายจะถูกนำมาหาค่าเฉลี่ยแบบเลขคณิตโดยน้ำหนักของแต่ละเป้าหมายจะเท่ากัน ท่านสามารถดาวน์โหลด database excel ได้ที่ https://dashboards.sdgindex.org/downloads
จากการนำข้อมูลของทั้งสองประเทศมาคำนวณตามระเบียบวิธีที่ระบุไว้ในเอกสาร Methodology ทำให้ได้ผลการคำนวณมาดังภาพที่ 4 จากภาพ เป้าหมายที่มีกราฟแท่งสีแดงคือเป้าหมายที่สิงคโปร์ได้คะแนนมากกว่าไทย ในขณะที่เป้าหมายที่มีกราฟแท่งสีน้ำเงินคือเป้าหมายที่ไทยได้คะแนนมากกว่าสิงคโปร์
จากภาพจะเห็นว่าเป้าหมายด้านสังคม เศรษฐกิจ และธรรมาภิบาลส่วนใหญ่ของสิงคโปร์จะมีสถานะที่ดีกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 2 No hunger, เป้าหมายที่ 3 Good health and wellbeing, เป้าหมายที่ 4 quality education, เป้าหมายที่ 5 Gender equality, เป้าหมายที่ 7 Affordable and clean energy, เป้าหมายที่ 9 Infrastructure, industry and Innovation, เป้าหมายที่ 11 Sustainable cities and communities และเป้าหมายที่ 16 Peace, justice and strong institution ส่วนเป้าหมายที่ 1 No poverty, เป้าหมายที่ 8 Decent work and economic growth และ เป้าหมายที่ 10 Reduced inequality ที่ไทยมีคะแนนมากกว่านั้น มากกว่าเพียงเล็กน้อย
ตัวชี้วัดที่ไทยเป็นรองสิงคโปร์อย่างมาก 5 ประเด็น ประกอบด้วย
- อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน (SDG 3)
- สัดส่วนของน้ำเสียจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ได้รับการบำบัด (SDG 6)
- บทความวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคที่ถูกตีพิมพ์ต่อประชากร 1,000 คน (SDG 9)
- ดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) (SDG 16)
- สถานะของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (Property Rights) (SDG 16)
อย่างไรก็ดี เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือระหว่างประเทศของสิงคโปร์มีสถานะที่แย่กว่าประเทศไทยมาก โดยเป้าหมายในกลุ่ม Planet คือ เป้าหมายที่ 6 Clean water and sanitation, เป้าหมายที่ 12 Sustainable Consumption and Production, เป้าหมายที่ 13 Climate action, เป้าหมายที่ 14 Life under water, เป้าหมายที่ 15 Life on land ส่วนเป้าหมายด้านความร่วมมือ (Partnership) คือ เป้าหมายที่ 17 Partnership for the Goals ในเป้าหมายเหล่านี้สิงคโปร์คะแนนน้อยกว่าไทยมากดังที่แสดงในภาพที่ 4
ตัวชี้วัดที่ไทยมีสถานะดีกว่าสิงคโปร์อย่างมาก 5 ประเด็นประกอบด้วย
- การบริโภคน้ำที่ขาดแคลนที่แฝงอยู่ในการนำเข้าสินค้าและบริการต่อหัวประชากร (ลูกบาศก์เมตรต่อหัวประชากร) (SDG 6)
- อุบัติเหตุอันตรายถึงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่แฝงอยู่ในการนำเข้าสินค้าและบริการต่อประชากร 100,000 คน (SDG 8)
- การปลดปล่อย NO2 ที่แฝงอยู่ในการนำเข้าสินค้าและบริการต่อหัวประชากร (กิโลกกรัมต่อหัวประชากร) (SDG 12)
- ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลที่ถูกคุกคามที่แฝงอยู่ในการนำเข้าสินค้าและบริการต่อประชากร 100,000 คน (SDG 14)
- ความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและในน้ำจืดที่ถูกคุกคามที่แฝงอยู่ในการนำเข้าสินค้าและบริการต่อประชากร 100,000 คน (SDG 15)
จากข้อมูลข้างต้น เราอาจสรุปได้ว่า สิงคโปร์มีความยั่งยืนทางด้านสังคมและเศรษฐกิจมากกว่าประเทศไทย ซึ่งส่วนนี้ก็สอดคล้องกับการรับรู้ของสาธารณะ ส่วนประเด็นที่สิงคโปร์ทำได้แย่กว่าไทยนั้นเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และสิ่งที่ทำได้แย่ที่สุดนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศสิงคโปร์ แต่แฝงอยู่ในการนำเข้าสินค้าและบริการของสิงคโปร์ ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การที่ประเทศหนึ่งมีสถานะความยั่งยืนที่ดีไม่จำเป็นว่าจะต้องยั่งยืนกับประเทศอื่นด้วยเสมอไป ความยั่งยืนของประเทศหนึ่งอาจแลกมาด้วยความไม่ยั่งยืนของประเทศอื่นก็เป็นได้ และจากตัวชี้วัดเหล่านี้ก็สะท้อนว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่อาจสร้างความไม่ยั่งยืนในประเทศอื่นผ่านห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นเกาะและเป็นเมืองท่า ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีจำกัดและอยู่ในสถานะที่ไม่ดีโดยเปรียบเทียบกับประเทศไทย
‘การที่ประเทศหนึ่งมีสถานะความยั่งยืนที่ดีไม่จำเป็นว่าจะต้องยั่งยืนกับประเทศอื่นด้วยเสมอไป ความยั่งยืนของประเทศหนึ่งอาจแลกมาด้วยความไม่ยั่งยืนของประเทศอื่นก็เป็นได้… ผ่านห่วงโซ่อุปทาน’
เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง? (1)
ประการแรก คะแนนดัชนีที่เป็นเลขตัวเดียวที่ใช้ในการจัดอันดับนั้น อาจมีประโยชน์ในการทำให้แต่ละประเทศเห็นว่าอีกไกลเพียงใดกว่าจะถึงปลายทางของความยั่งยืน และใช้เป็นเครื่องมือในการเฉลิมฉลองกันได้ แต่หากไม่มองให้ลึกลงไปในรายละเอียดของเนื้อหาสาระ อาจทำให้เข้าใจผิดและนำตัวเลขดัชนีและผลการจัดอันดับไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง และลดความสำคัญของความยั่งยืนที่เสมือนว่าเราจะทำอันดับได้ดีแล้ว
ประการที่สอง การที่ดัชนีหนึ่ง ๆ จะสะท้อนค่าเป็นเท่าไรและส่งผลต่ออันดับของแต่ละประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดที่ใช้ในดัชนีและวิธีการคำนวณล้วน ๆ หากเราเปลี่ยนชุดตัวชี้วัด ค่าดัชนีและอันดับของประเทศย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ การไม่เรียนรู้ในรายละเอียดอาจทำให้เกิดความประมาทในการขับเคลื่อนก็เป็นได้
ประการที่สาม การเรียนรู้ในระดับตัวชี้วัดของประเทศไทย ช่วยให้เราเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า จุดอ่อนและจุดแข็งของประเทศคืออะไร และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของประเทศอื่นเป็นคู่เทียบ ยิ่งทำให้ได้บทเรียนมากยิ่งขึ้นว่าประเทศของเราควรจะทำอะไรให้ดีขึ้นกว่าเดิมบ้าง หรือประเด็นใดที่เป็นข้อดีที่เราควรรักษาเอาไว้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น
● ตอบคำถามข้อที่ (2) อันดับ SDG Index เป็นผลงานรัฐบาล คสช. และ พปชร. หรือไม่ เพียงใด?
คำถามอีกประการหนึ่งที่ตามมาหลังจากโฆษกรัฐบาลประกาศอันดับ SDG Index ของไทย ก็คือ อันดับที่ดีของไทยนั้นเป็นผลงานของรัฐบาลหรือไม่ คำถามนี้เกิดขึ้นเพราะสังคมตั้งคำถามกับการดำเนินการของรัฐบาล คสช. และ พปชร. มาตลอด ว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ เมื่อ SDG Index บอกว่าไทยมีสถานะความยั่งยืนเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไร และ SDG Index นี้น่าเชื่อถือเพียงใด
ในหัวข้อนี้เราจะพยายามตอบคำถามข้อนี้ จากข้อมูลใน SDG Index
วิธีการที่เป็นไปได้ที่สุดคือการดูข้อมูลแนวโน้มของแต่ละตัวชี้วัด ที่ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปีล่าสุดของตัวชี้วัด ซึ่งจะทำให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2000 สถานะของตัวชี้วัดแต่ละตัวนั้นมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร และหลังจากปี 2014 ที่รัฐบาล คสช. เข้ามามีอำนาจ จนกระทั่งปีล่าสุด สถานะของตัวชี้วัดนั้นมีแนวโน้มเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ดี หากเราพิจารณาจนถึงที่สุดแล้ว การตอบว่าสถานะของตัวชี้วัดและแนวโน้มที่เกิดขึ้นหลังปี 2014 เป็นผลมาจากรัฐบาล คสช. และ พปชร. หรือไม่ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถฟันธงไปได้อย่างชัดเจนหากไม่มีการศึกษาเชิงลึก ทั้งนี้ เพราะหากเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มไม่ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง อาจจะสามารถตีความได้หลายแบบ เช่น อาจตีความเข้าข้างตนเองว่าเป็นผลจากรัฐบาล คสช. และ พปชร. หรือ อาจจะตีความว่าเป็นเหตุมาจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ทั้งในและต่างประเทศก็ได้โดยที่อาจจะไม่เกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าเราจะเห็นว่าแนวโน้มของตัวชี้วัดนั้นแย่ลง แต่เราก็ฟันธงลงไปไม่ได้อยู่ดี ว่ามันเป็นเพราะการดำเนินงานของรัฐบาลที่ทำให้แย่ลง มันอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้หากรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการ หรือแนวโน้มที่ดีขึ้นของตัวชี้วัดก็ฟันธงไม่ได้เช่นกัน เพราะมันอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ หากรัฐบาลไม่ดำเนินนโยบายอย่างที่ทำหรือมีการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมอย่างจริงจัง เป็นต้น
สิ่งที่เราพอจะตอบได้อย่างชัดเจนก็คือ ตัวชี้วัดใดบ้างมีสถานะที่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังจากปี 2014 ที่รัฐบาล คสช. เข้าสู่อำนาจ ซึ่งหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มเหล่านั้น
จากการสำรวจตัวชี้วัดทุกตัวของประเทศไทย จำนวน 90 ตัวชี้วัด เราพบว่า มีตัวชี้วัด 14 ตัวที่สถานะดีขึ้นหลังจากปี 2014 (พิจารณาจากสถานะที่ดีขึ้นหลังปี 2014 หรือตัวชี้วัดที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง จะพิจารณาจากอัตราเร่งของแนวโน้มนั้น) ประกอบด้วยตัวชี้วัดต่อไปนี้ (ภาพที่ 5)
- สัดส่วนคนจนที่เส้นความยากจน 3.20 USD ต่อวัน (SDG 1)
- อัตราการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้น (SDG 4)
- การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าและความร้อนต่อผลผลิตไฟฟ้า (SDG 7)
- สัดส่วนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ต (SDG 9)
- จำนวนบทความด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตีพิมพ์ต่อประชากร 1000 คน (SDG 9)
- สัดส่วนรายจ่ายด้านการวิจัยต่อ GDP (SDG 9)
- สัดส่วนของประชากรในเขตเมืองที่อาศัยอยู่ในสลัม (SDG 11)
- ค่าเฉลี่ยรายปีของความเข้มข้นของ PM2.5 (SDG 11)
- การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและการผลิตซีเมนต์ต่อหัวประชากร (SDG 13)
- การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แฝงอยู่ในการนำเข้า (SDG 13)
- สัดส่วนของปลาที่จับด้วยเครื่องมือทำลายล้าง (อวนลาก/อวนรุน) (SDG 14)
- ดัชนีสุขภาพมหาสมุทร: คะแนนน้ำสะอาด (SDG 14)
- ผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดี (Unsentenced detainees) (SDG 16)
- การเข้าถึงและความสามารถในการจ่ายได้เพื่อเข้าถึงความยุติธรรม (SDG 16)
ในทางตรงข้าม เราพบว่า มีตัวชี้วัดจำนวน 8 ตัวที่ไม่มีการพัฒนาหรือมีสถานะแย่ลงหลังจากปี 2014 ที่รัฐบาล คสช. เข้าสู่อำนาจ ประกอบด้วยตัวชี้วัดต่อไปนี้ (ภาพที่ 6)
- ความชุกของภาวะทุพโภชนาการ (SDG 2)
- สัดส่วนของทารกที่รอดชีวิตที่ได้รับวัคซีน 2 ชนิดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (SDG 3)
- อัตราการตายบนท้องถิ่น ต่อประชากร 100,000 คน (SDG 3)
- คะแนนสุขภาวะเชิงอัตวิสัย (SDG 3)
- สัดส่วนของผู้หญิงที่ครอบครองที่นั่งในสภา (SDG 5)
- อัตราการว่างงาน (SDG 8)
- ดัชนีเสรีภาพสื่อ (SDG 16)
- ดัชนีสมรรถนะทางสถิติ (SDG 17)
สำหรับตัวชี้วัดที่เหลืออีก 69 ตัวนั้น มีแนวโน้มที่ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2000 และในจำนวนนี้มีแนวโน้มที่คงที่ในลักษณะที่แย่ลงหรือไม่ดีพัฒนาขึ้น (แม้ว่าสถานะจะอยู่ในเกณฑ์ที่บรรลุแล้วก็ตาม) จำนวน 9 ตัวชี้วัด (ตามภาพที่ 7) ประกอบด้วย
- ความชุกของโรคอ้วน BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 (SDG 2)
- สิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานได้รับการรับประกันอย่างมีประสิทธิผล (SDG 8)
- ดัชนีสมรรถนะด้านการขนส่งสินค้า: คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการค้าและการคมนาคม (SDG 9)
- ความพอใจต่อการขนส่งสาธารณะ (SDG 9)
- สัดส่วนของพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการคุ้มครองในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล (SDG14)
- สัดส่วนของพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการคุ้มครองในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศน้ำจืด (SDG 15)
- ดัชนีบัญชีแดงสำหรับการอยู่รอดของพันธุ์พืชและสัตว์ (SDG 15)
- ดัชนีการรับรู้การคอรัปชั่น (SDG 16)
- สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐด้านสุขภาพและการศึกษา (SDG 17)
เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง? (2)
ประการแรก การอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสังคมเป็นผลงานของใครเป็นเรื่องที่ยืนยันได้ยาก เว้นแต่ว่าจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุและเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าเป็นผลมาจากนโยบายหรือการกระทำของผู้เล่นนั้น จากแนวโน้มข้างต้น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายจ่ายภาครัฐ เราอาจจะสามารถบอกได้ว่าเป็นผลงานของนโยบายภาครัฐจริง เช่น การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรายจ่ายด้านการวิจัยต่อ GDP อาจเป็นตัวอย่างในไม่กี่ตัวอย่างที่บอกได้ว่าเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐ เป็นต้น
ประการที่สอง ในทางตรงข้าม การที่ตัวชี้วัดบางตัวที่อยู่ในสถานะที่แย่ลง ไม่ว่าจะก่อนที่รัฐบาลจะเข้าสู่อำนาจหรือระหว่างที่รัฐบาลจะเข้าสู่อำนาจ แม้ว่าจะไม่สามารถบอกได้ว่ารัฐบาลเป็นเหตุของสถานะที่แย่ลงเหล่านั้นหรือไม่ แต่ก็เป็นความรับผิดรับชอบของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเพื่อให้สถานะของตัวชี้วัดเหล่านั้นดีขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
ประการที่สาม จากแนวโน้มของตัวชี้วัดส่วนใหญ่ ราว 60 ตัวที่มีแนวโน้มดีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ชี้ให้เห็นว่า คะแนนของ SDG Index ซึ่งสะท้อนความยั่งยืนของประเทศนั้น แม้จะไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าภาคส่วนใดมีส่วนเพียงใดในการขับเคลื่อน แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าผลคะแนนและอันดับของ SDG Index ของประเทศไทยเป็นผลลัพธ์ของความพยายามในการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รัฐบาลทุกรัฐบาลตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา
สรุป
บทเรียนจากสองหัวข้อข้างต้นที่ผู้เขียนอยากจะทิ้งท้ายเอาไว้คือ การพิจารณาดัชนีใด ๆ ก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเจาะลงไปดูในรายละเอียดของตัวชี้วัดของดัชนีนั้น ๆ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากดัชนีนั้นได้อย่างเต็มที่ ไม่ควรดูดัชนีเพียงผิวเผิน การดูในรายละเอียดของตัวชี้วัดทำให้เราเห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็ง และแนวโน้มของประเด็นที่เกี่ยวข้องที่สะท้อนอยู่ในตัวชี้วัด ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราทราบว่ามีประเด็นอะไรอีกบ้างที่ต้องดำเนินการให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป
นอกจากนี้ ค่าของดัชนีต่าง ๆ ที่แสดงผลการดำเนินงานระดับชาตินั้น มิได้เป็นผลมาจากการดำเนินงานของรัฐบาลหรือของภาครัฐอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากความพยายามของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การที่ดัชนีต่าง ๆ ประกาศผลว่าประเทศไทยทำได้ดี หรือทำได้ไม่ดี ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอ้างผลงานเป็นของตนเองแต่ฝ่ายเดียว เพราะการกระทำดังกล่าวไม่เป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วนที่ร่วมขับเคลื่อนในประเด็นเหล่านั้นมา ในทางกลับกันหากผลงานจากดัชนีนั้นไม่ดีนักก็ไม่ควรลงเอยด้วยการโทษกัน สิ่งที่ควรทำก็คือ มองสิ่งที่แสดงในดัชนีว่าเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ของประเทศ หากดัชนีสะท้อนออกมาว่าดี รัฐบาลในฐานะตัวแทนของประเทศก็ควรจะให้เครดิตเหล่านั้นกับคนทำงานในทุกภาคส่วน หรือหากดัชนีสะท้อนออกมาว่าไม่ดี รัฐบาลก็ควรทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชวนภาคส่วนต่าง ๆ มาหาทางขับเคลื่อนร่วมกัน
หากทำได้ดังนี้ ก็จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างภาคส่วนได้มากขึ้น ซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจนี่เองที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการที่สังคมไทยจะเตรียมรับความเสี่ยงในอนาคตที่ผันผวนรุนแรงได้