สัปดาห์แรกของการหารือในเวทีประชุม HLPF ได้ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน กับ 9 เป้าหมาย SDGs ที่โฟกัสในปีนี้ (#SDG1, #SDG2, #SDG3, #SDG8, #SDG10, #SDG12, #SDG13, #SDG16 และ #SDG17) แบ่งเป็น 3 เซสชั่นของการหารือที่ได้ส่งสัญญาณว่านานาประเทศจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ ผู้มีส่วนได้เสียและภาคประชาสังคม ได้เรียกร้องประเด็นสำคัญที่เราต้องเร่งดำเนินการ ทั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573 และเพื่อยุติโควิด-19 ลงในเร็ววัน
ซึ่งสามารถสรุปโดยสังเขปเป็น 20 ข้อ take away ไดัดังนี้ …
● ‘ยุติความยากจนและความหิวโหย และเปลี่ยนแปลงจากฐานรากไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม’ (#SDG1, #SDG2, #SDG8, และ #SDG17)
- ที่ประชุมเรียกร้องให้มีหลักประกันการคุ้มครองทางสังคม (universal social protection) โดยสอดคล้องกับความต้องการของระดับพื้นที่
- เรียกร้องปรับให้แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานในระบบ
- บางความเห็นระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นความท้าทายต่อการยุติความยากจนและความหิวโหย
- บางความเห็นชี้ต่อที่ประชุมว่า จะต้องใช้งบประมาณถึง 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อที่จะบรรลุ #SDG2 ได้
- ความยากจนอีกประการคือ ‘ความยากจนทางยา’ (pharmaceutical poverty) ตามที่พระสันตะปาปาฟรานซิสได้เรียกสถานการณ์เช่นที่โลกกำลังเผชิญ โดยผู้เชี่ยวชาญฝากแอฟริกาย้ำเตือนว่า การกระจายวัคซีนที่ไม่เพียงพอผ่านโครงการ COVAX จะนำมาซึ่งช่องว่างที่ห่างขึ้นระหว่างประเทศซีกโลกเหนือ (ประเทศพัฒนาแล้ว) และประเทศซีกโลกใต้ (ประเทศกำลังพัฒนา) ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้เร่งใช้ความร่วมมือพหุภาคีจัดการถมช่องว่างเหล่านี้
- ขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมในที่ประชุมหลายท่านต่างตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของภาคเอกชนในการจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน
- เช่นเดียวกับที่ตระหนักว่าสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาผสมรวมกับปัญหาเดิมของการแสวงประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรของกลุ่มชนพื้นเมือง ที่ทำให้ความยากจนและความหิวโหยของชนพื้นเมืองรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ ตัวอย่างประเทศที่แสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินการมีอาทิ ไทยกับการชี้แจงความก้าวหน้าของการพัฒนาดัชนีความยากจนหลากมิติเพื่อลดความยากจนในด้านการศึกษา คุณภาพชีวิต และความมั่นคงทางการเงิน, อินโดนีเซียกับความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรวมถึงการจัดการขยะอาหาร (food waste) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และการนำพื้นที่ที่ถูกละเลยมาใช้เพาะปลูก ในฐานะความสำคัญลำดับต้นของประเทศ, และฟินแลนด์กับการสนับสนุนโภชนาการอาหารในโรงเรียน
● ‘การเปลี่ยนแปลงการผลิตและการบริโภคจากฐานราก จัดการกับและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ (#SDG12, #SDG13, และ #SDG17)
- ที่ประชุมเรียกร้องให้มีงบประมาณในการฟื้นฟูที่ใช้คาร์บอนต่ำและส่งผลทางบวกต่อสิ่งแวดล้อม
- องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ชี้แจงว่าเกษตรกรรมและการป่าไม้มีส่วนเพิ่มก๊าซเรือนกระจกและเป็นสาเหตุ 80% ของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ภาครัฐสงวน 10% ของงบประมาณในการตอบสนองต่อโควิด-19 ไว้ให้กับการดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติด้วย
- ในที่ประชุมยังมีความเห็นให้นำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ควบคุมวัตถุดิบ พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง และขยะอาหาร โดยอาจจะมีการสร้างวงหารือว่าด้วยมลพิษพลาสติก
- กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้การสนับสนุนการศึกษาด้านการบริโภคและวิถีการผลิตที่ยั่งยืนสำหรับคนหนุ่มสาว
- ตลอดจนการที่ภาครัฐระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อบรรลุเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะว่าองค์ความรู้ของคนในท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนระดับพื้นที่นั้น มีคุณค่าและมีความสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงจากฐานรากที่แท้จริง
- จีนได้เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาทั้งหลายใช้งบประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
● ‘สร้างสังคมที่มีสันติสุข เท่าเทียม และครอบคลุมมากขึ้น’ (#SDG3, #SDG10, #SDG16, และ #SDG17)
- ที่ประชุมส่งเสียงย้ำอีกครั้งว่าการจะยุติโควิด-19 ได้ จะต้องจัดการกับ ‘การผูกขาดยาและวัคซีน’ เช่นที่แอฟริกายังคงรั้งท้ายในการฉีดวัคซีน
- พร้อมกับเร่งให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการคุ้มครองทางสังคม เพราะสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันยิ่งส่งผลให้มีอัตราการติดต่อโรคที่สูง
- ขณะเดียวกันกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังได้เรียกร้องให้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติเจรจาผลักดันสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยภาษีด้วย
- โดยที่ One Health approach เป็นสิ่งที่ที่ประชุมให้การสนับสนุนผลักดันทางนโยบาย ไปพร้อมกับการตระหนักถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงการสาธารณสุขในห้วงยามวิกฤตินี้
- ทว่าประเด็นสุขภาพอื่น ๆ อาทิ สุขภาวะของมารดา อัตราการตายในวัยเด็ก โรคไม่ติดต่อ และมลพิษซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับความเปราะบางนั้น กลับได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อย
- สำหรับประเด็น #SDG16 เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งระบุว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เด็กและเยาวชนในสังคมที่ยากจนกว่าและเป็นชนชายขอบ ยิ่งเปราะบางต่อความรุนแรง
- กลุ่มขององค์กรภาคประชาสังคม 180 แห่งสนับสนุน Rome Civil Society Declaration on SDG16+ เรียกร้องให้มีการลงมือทำในประเด็นที่เกี่ยวกับ #SDG16 และเป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
แหล่งที่มา:
HLPF Reviews Progress Towards Nine SDGs (IISD)
Last Updated on มกราคม 12, 2022