ภาคีความตกลงนาอูรู (Parties to the Nauru Agreement :PNA) คือ ความตกลงระหว่างแปดประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ทำหน้าที่จัดการการทำประมงอวนปลาทูน่าที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุด และควบคุมอุปทานปลาทูน่าท้องแถบ ซึ่งใช้ทำทูน่ากระป๋องมากที่สุดถึงประมาณ 50% ของทั่วโลก
Sean Dorney นักข่าวของ Australian Broadcasting Corporation ซึ่งได้ร่วมสังเกตการก่อตั้งของ PNA ในปี 1982 กล่าวว่า “PNA คือ ความสำเร็จที่โดดเด่นที่สุดของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา”
PNA เป็นความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่กำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 1982 เมื่อกลุ่มประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและแปซิฟิกกลางต้องเผชิญกับกองเรือขนาดใหญ่จากต่างชาติที่เข้ามาทำประมงทูน่า ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่ ดังนั้น 8 ประเทศ ได้แก่ สหพันธรัฐไมโครนีเซีย คิริบาส หมู่เกาะมาร์แชลล์ นาอูรู ปาเลา ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และตูวาลู จึงรวมตัวกันเพื่อปกป้องน่านน้ำ สิทธิในการทำประมง และความเป็นอยู่ของผู้คนนับไม่ถ้วนที่พึ่งพาการทำประมงเพื่อหารายได้
ประเทศสมาชิก PNA ได้ตกลงร่วมกันเพื่อมีมาตรการกําหนดจํานวนวันทําประมง (Vessel Day Scheme : VDS) ที่เหมาะสมต่อจำนวนปลาทูน่าในมหาสมุทรบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และจะขายสิทธิในการจับปลาให้กับเรือประมงต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าถึงน่านน้ำ โดยสิทธิในการจับปลาจะถูกขายให้กับผู้ให้ราคาสูงสุดตามจำนวนวันที่ทำการประมง เงินที่ระดมได้นี้จะทำการแจกจ่ายระหว่างประเทศสมาชิก PNA
ราคาขายสิทธิในการจับปลากำหนดขั้นต่ำต่อวันไว้ที่ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2,500 ดอลลาร์ในตอนเริ่มต้น และเนื่องจากมีความต้องการสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบางครั้งจึงมีผู้ให้ราคาสูงถึง 12,000 – 14,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน
PNA ยังเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรปลาทูน่าอย่างยั่งยืน นอกจากจะต้องจ่ายเงินค่าสิทธิในการจับปลาแล้ว กองเรือที่เข้ามาทำการประมงในน่านน้ำนี้จะต้องทำตามมาตรการที่กำหนดไว้ทั้ง การกำหนดเขตพื้นที่ห้ามทำประมงในทะเลหลวง การควบคุมอุปกรณ์จับปลา (FADs) การห้ามวางอวนจับฉลามวาฬ ต้องมีผู้สังเกตการณ์บนเรือครอบคลุมเรือประมงอวนทั้งหมด และต้องไม่มีการจับโลมาในน่านน้ำประเทศสมาชิก PDA ทั้งนี้ เพื่อลดผลระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และสามารถรักษาสัดส่วนขอปริมาณปลาในน่านน้ำที่ล้อมรอบเกาะต่างๆ ได้มากขึ้น
ระบบของ PNA ยังช่วยให้ชาวประมงในพื้นที่สามารถปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น เช่น อนุญาตประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญจนไม่มีปลาทูน่าในน่านน้ำชั่วคราว สามารถขายจํานวนวันทําประมงให้กับประเทศสมาชิกประเทศอื่นที่มีปลา และนำสิทธิในการจับปลาไปขายต่อให้เรือประมงอีกทอดได้ เพื่อรักษาปริมาณรายได้จากการขายสิทธิในของแต่ละประเทศในแต่ละปีไว้ได้
PNA เป็นตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือของประเทศขนาดเล็กในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ และแสดงให้เห็นว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินั้นสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้
อ่านรายงานประจำปี 2020 ของ PNA – PNA Yearbook 2020
ศึกษาเพิ่มเติม การดำเนินงานของ PNA ที่ www.pnatuna.com
การประมงที่ยั่งยืน เกี่ยวข้องกับ SDGs ใน #SDG14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัยพยากรทางทะเล
- (14.4) กำกับการประมงและยุติการ ประมงที่ผิดกฎหมายการจับสัตว์น้ำที่เกินศักยภาพโดยไม่มีการรายงานและควบคุม รวมทั้งนำแผนการบริหารจัดการเชิงวิทยาศาสตร์มาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดที่จะเป็นไปได้อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
- (14.6) ยับยั้งรูปแบบการอุดหนุนที่ส่งเสริมให้เกิดการประมงที่เกินขีดจำกัด ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมายที่ไม่มีการรายงานและที่ไม่มีการควบคุม และระงับการริเริ่มการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าว
ที่มา :
These Pacific islands have an innovative scheme to prevent overfishing in their waters (World Economic Forum)
How Eight Pacific Island States Are Saving the World’s Tuna (Foreign Policy)
The mice that roared: how eight tiny countries took on foreign fishing fleets (The Guardian)