ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การศึกษา Probabilistic forecasting of maximum human lifespan by 2100 using Bayesian population projections เผยแพร่ใน Demographic Research โดยมหาวิทยาลัย Washington ประเมินความเป็นไปได้ว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ มนุษย์ผู้ที่มีอายุมากกว่า 110 ปี หรือที่เรียกว่า ‘อภิศตวรรษิกชน’ (supercentenarians) ดูเหมือนว่าจะค่อย ๆ มีจำนวนมากขึ้น โดยอาจจะมีอายุขัยถึง 125 ปี หรือ 130 ทำลายสถิติเดิมสูงสุดที่ 122 ปี แม้ว่าประชากรซึ่งมีอายุขัยยืนยาวสุดขั้ว (extreme longevity) กลุ่มนี้ในโลกจะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอายุอื่น
การศึกษานี้ถือเป็นการสำรวจระยะเวลาการมีชีวิตของมนุษย์ ความสูงวัย และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ รวมถึงข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องอายุขัยที่มากที่สุดที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ถึง กับคำถามว่าโรคภัยและความเสื่อมโทรมของเซลล์ในร่างกายนำไปสู่ข้อจำกัดเรื่องอายุขัยยืนยาวหรือไม่ เหตุใดอภิศตวรรษิกชนถึงมีอายุยืนยาว?
ในทางหนึ่ง อายุขัยที่ยืนยาวขึ้นยังเป็นภาพสะท้อนของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล การสาธารณสุข ความเป็นไปของสังคมในทุกระดับ ตลอดจนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคน ๆ นั้นด้วย
โดยการศึกษาได้สำรวจอายุขัยของมนุษย์ในแต่ละที่ทั่วโลก ใช้ฐานข้อมูล International Database on Longevity (Max Planck Institute for Demographic Research) ที่เก็บข้อมูลอภิศตวรรษิกชนจากประเทศในยุโรป 10 ประเทศ แคนาดา ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ และใช้วิธีการทางสถิติแบบ Bayesian เพื่อประเมินอายุขัยของคนใน 13 ประเทศที่จะอยู่ได้ยืนยาวจนกระทั่งเสียชีวิตในท้ายที่สุดภายในปี 2100 ทว่าการที่คนจะมีอายุอยู่ถึง 135 ปีนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้
อย่างไรก็ดี อายุขัยที่ยืนยาวจะทำลายสถิติเดิมได้ก็ขึ้นอยู่กับการเติบโตของจำนวนประชากรกลุ่มอภิศตวรรษิกชนที่อายุมากกว่า 110 ปีด้วย เพราะแม้โลกจะมีพัฒนาการทางการแพทย์ แต่
ในช่วงอายุหนึ่ง ๆ มนุษย์ย่อมเผชิญกับช่วงของ ‘ความเป็น-ความตาย’ ที่เป็นอัตราการตายปกติ กล่าวคือ ‘ไม่ว่าจะอายุเท่าไร เมื่ออายุผ่านเลข 110 ไปแล้ว เขาก็จะเสียชีวิตในอัตราเช่นเดิม’ และอาจจะไม่ใช่ด้วยเหตุผลเดียวกันกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตในคนหนุ่มสาว
ทั้งนี้ ตัวอย่างของอภิศตวรรษิกชนที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกในอดีต คือ Jeanne Calment อายุ 122 ปี จากฝรั่งเศส เสียชีวิตเมื่อปี 1997 ส่วนปัจจุบัน คือ Kane Tanaka อายุ 118 ปี จากญี่ปุ่น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี ในทุก ๆ เป้าประสงค์ที่นำไปสู่เป้าหมายของการมีชีวิต มีสุขภาพที่ดี ลดจำนวน/อัตราการตาย ตั้งแต่ลดอัตราการตายของมารดา การตายของโรคที่ป้องกันได้ต่อทารกแรกเกิด การตายจากโรคติดต่อและไม่ติดต่อ การตายจากมลพิษและสารเคมี การตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จนถึงการสร้างหลักประกันถ้วนหน้าและส่งเสริมบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
โดยปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามที่ปรากฏใน SDGs เป้าหมายอื่น ๆ ยังส่งผลต่อการมี ‘อายุขัยที่ยืนยาว’ ด้วย
แหล่งที่มา:
How long can a person live? The 21st century may see a record-breaker (University of Washington)