ความโดดเดี่ยว (loneliness) สามารถกระทบจิตใจของทุกคนได้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่อาศัยเพียงลำพังหรือไม่ก็ตาม เพราะความโดดเดี่ยวคือความรู้สึก มิใช่เพียงแค่การใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Thomas et al. (2021) พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังมีโอกาสที่จะเผชิญกับความโดดเดี่ยวมากกว่า และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่าผู้คนที่อาศัยอยู่เพียงลำพังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ
จากการสำรวจจำนวนประชากรในปี 2559 โดยสถาบันสุขภาพและสวัสดิการแห่งประเทศออสเตรเลีย (Australian Institute of Health and Welfare) พบว่า 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศออสเตรเลีย อาศัยอยู่เพียงลำพัง
ซึ่งการที่ความโดดเดี่ยวส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า (depression) โรคหัวใจ โรคภาวะสมองเสื่อม (Dementia) โรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ (inflammation) หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ดังนั้น ความพยายามในการลดและป้องกันความโดดเดี่ยวจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน
โดยพื้นที่สีเขียวอาจเป็นหนึ่งในทางออก . . .
งานวิจัยของ Thomas et al. (2021) ได้ระบุว่า กลุ่มผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับพื้นที่สีเขียว อาทิ สวนสาธารณะ เขตอนุรักษ์ และป่าไม้ มีโอกาสที่จะเผชิญกับความโดดเดี่ยวน้อยลง โดยหากละแวกที่อาศัยบริเวณนั้น ๆ มีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ โอกาสที่ผู้อาศัยจะเผชิญกับความโดดเดี่ยวจะลดลง 26 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และหากผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีพื้นที่สีเขียวนั้นใช้ชีวิตเพียงลำพัง โอกาสที่จะเผชิญกับความเหงาจะลดลงถึง 52 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
อาจกล่าวได้ว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติไม่เพียงเป็นการลดปัญหาภาวะโลกรวน (climate change) เท่านั้น แต่ยังจะช่วยให้สุขภาพกายรวมไปถึงสุขภาพจิตดีขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะพื้นที่สีเขียวเหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้คนมีอารมณ์ที่ดีและสงบมากขึ้นจากการที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันกับทุก ๆ คนในชุมชนได้ ซึ่งพื้นที่ในเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวเป็นจำนวนน้อยนั้นไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและการใช้ธรรมชาติมาช่วยในการบำบัดนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวให้ได้มากที่สุด
อ่านบทความเกี่ยวกับการใช้ธรรมชาติในการรักษาและความเหลื่อมล้ำทางพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมได้ที่: SDG Updates | Nature Prescription เมื่อแพทย์เขียนใบสั่งยาให้ธรรมชาติช่วยบำบัด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสภาวะที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อและสนับสนุนการมีสุขภาพจิตที่ดี
#SDG11 การตั้งถิ่นฐานและชุมชนอย่างยั่งยืน
– (11.1) การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับทุกกลุ่ม ยกระดับชุมชนแออัด
– (11.7) เพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียว (green public spaces) ที่ปลอดภัย ครอบคลุม และเข้าถึงได้สำหรับทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ ความพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวยังเป็นการสนับสนุน #SDG13 (ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน) และ #SDG15 (ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก) ด้วย
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG11 #SDG13 #SDG15
แหล่งที่มา:
People’s odds of loneliness could fall by up to half if cities hit 30% green space targets (the conversation)
Mental health: why green spaces are vital for reducing loneliness (World Economic Forum)
Social isolation and loneliness (Australian Institute of Health and Welfare)
K. D. M. Snell (2017). “The rise of living alone and loneliness in history”. Social History, 42:1, 2-28.
Thomas Astell-Burt, Terry Hartig, Simon Eckermann, Mark Nieuwenhuijsen, Anne McMunn, Howard Frumkin, Xiaoqi Feng. “More green, less lonely? A longitudinal cohort study”. International Journal of Epidemiology, 2021.