SDG Updates | ‘สันติภาพ’ แบบไหน ที่จะนำสังคมและเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับจากโรคระบาดโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน

ไม่มีใครอยากเผชิญกับความหวาดกลัวและความรุนแรง ทุกคนต่างต้องการความมั่นคงในทุกมิติ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิต โดยที่ภูมิหลังของตน ครอบครัว และความเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนา ความคิดการเมือง และเพศที่หลากหลายของประชาชน จะต้องไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้เผชิญกับความเสี่ยงหรือภัยอันตรายถึงแก่ชีวิต สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างถ้วนหน้าและเสมอภาค โดยที่สถาบันและระบบในทุกระดับมีความรับผิดรับชอบ ตาม #SDG16 Peace, Justice, and Strong Institutions

ดัชนีสันติภาพโลก 2564 (Global Peace Index 2021) โดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics and Peace – IEP) ซึ่งจัดอันดับระดับการมีสันติภาพของ 163 ประเทศและเขตแดนทั่วโลกในแต่ละปี ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลที่ช่วยฉายภาพให้เราเข้าใจและเห็นประเด็นความสัมพันธ์ของการมีสันติภาพและ ‘ความเป็นอยู่ในชีวิตที่ดี’ โดยไทยเองก็ได้ใช้ดัชนีนี้ประเมินการที่ ‘ประชาชนมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับเพิ่มขึ้น’ ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ (1) ความมั่นคง ด้วย

SDG Updates ฉบับนี้จึงขอชวนผู้อ่านที่ติดตามประเด็นการพัฒนามาสำรวจความเป็นไปของ #SDG16 ให้มากขึ้นผ่านเลนส์ดัชนีสันติภาพโลก 2564 ว่า กว่าจะได้มาซึ่งสันติภาพมีปัจจัยใดบ้าง, เครื่องมือที่แตกต่างกัน สุดท้ายนำไปสู่การมีสันติภาพเหมือนกันหรือไม่, ภาพรวมสันติภาพและมุมมองของประชาชนในเรื่อง ‘สันติภาพ’ เป็นอย่างไร, เมื่อสันติภาพและความมั่นคงของแต่ละประเทศ ‘มีไม่เท่ากัน’, ไปจนถึงผลกระทบของปัจจัยเหล่านี้ที่มีต่อเศรษฐกิจและการมีงานทำ, ประเด็นยุทธาภิวัฒน์/การขยายอิทธิพลทางทหารและความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ, โควิด-19 ในฐานะตัวเร่งปฏิกิริยาของการประท้วงและความไม่พอใจของประชาชน, รวมถึงระดับสันติภาพและความมั่นคงของไทยที่ยังคงอยู่ในจุดวิกฤติที่ต้องเร่งลงมือทำเพื่อไปถึงเป้าหมาย 1 ใน 75 ประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุดตามแผนแม่บทฯ ด้านความมั่นคง

และในท้ายที่สุด สันติภาพและความผาสุกที่แท้จริงของประชาชนควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อนับจากก้าวของมาตรการล็อคดาวน์เพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 นี้


01 กว่าจะได้มาซึ่งสันติภาพ

ไม่ได้มาจากความมั่นคงทางการทหารหรือสังคมสงบสุขแบบไร้ซึ่งอาชญากรรมแต่เพียงเท่านั้น ดัชนี Global Peace Index หรือ GPI แสดงให้เห็นว่าจำต้องมองจาก 3 มุมของกลุ่มปัจจัยบ่งชี้เหล่านี้

  1. ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม (Societal safety and security) ได้แก่ ระดับความผิดทางอาญาที่เป็นที่รับรู้กันในสังคม, จำนวนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศต่อจำนวนประชากรทั้งหมด (%), การเมืองมีเสถียรภาพ/ไม่มีเสถียรภาพ, ระดับการสร้างความหวาดกลัวที่กระทำโดยรัฐ (Political Terror Scale อาทิ หลักนิติรัฐ การคุมขังผู้ที่ทำกิจกรรมทางการเมือง การบังคับให้สูญหาย), ผลกระทบจากการก่อการร้าย, จำนวนฆาตรกรรมต่อประชากร 100,000 คน, ระดับอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง/อุกฉกรรจ์, ความเป็นไปได้ของการประท้วงที่จะใช้ความรุนแรง, จำนวนการจำคุกคุมขังต่อประชากร 100,000 คน, และจำนวนเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงภายในประเทศและตำรวจต่อประชากร 100,000 คน – ทั้งนี้ ยังมีองค์ประกอบที่นับรวมความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) และการฆ่าตัวตาย เป็นต้น
  2. ความขัดแย้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ยังดำเนินอยู่ (Ongoing domestic and international conflict) ได้แก่ จำนวนและระยะเวลาของความขัดแย้งภายในประเทศ, จำนวนการเสียชีวิตจากและความเข้มข้นของความขัดแย้งที่จัดตั้ง (organized conflict) ภายในประเทศ, จำนวน ระยะเวลา และบทบาทของความขัดแย้งจากภายนอก, และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
  3. ยุทธาภิวัฒน์/การขยายอิทธิพลทางทหาร (Militarization) ได้แก่ ค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อ GDP (%), จำนวนเจ้าหน้าที่ติดอาวุธต่อประชากร 100,000 คน, ปริมาณการถ่ายโอน/นำเข้า/ส่งออกอาวุธตามแบบ (conventional weapons), การผ่อนคลายมาตรการเข้าถึงอาวุธเล็กและอาวุธเบา, ศักยภาพของอาวุธหนักและอาวุธนิวเคลียร์, และภาระทางการเงินที่มีกับ UN Peacekeeping Mission

02 เครื่องมือที่แตกต่างกัน ไม่สามารถนำไปสู่การมีสันติภาพเหมือนกันได้:
สันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) กับ สันติภาพเชิงลบ (Negative Peace)

GPI เน้นย้ำมาเสมอถึงแนวคิดว่าด้วยเรื่องสันติภาพเชิงบวกและสันติภาพเชิงลบ ขณะที่สันติภาพเชิงลบเป็นภาพสะท้อนที่เพียงทำให้ความรุนแรงหรือความหวาดกลัวความรุนแรงหายไปแล้วเรียกว่าสังคมมี ‘สันติภาพ’ แล้วนั้น ‘สันติภาพเชิงบวก’ สะท้อนสันติภาพที่ ‘ยั่งยืน’ และเป็นสิ่งที่ GPI สนับสนุนให้โลกมี เพราะมาจากที่ทัศนคติ สถาบัน และโครงสร้างทางสังคมค้ำจุนความสงบสุขเอาไว้ อันประกอบไปด้วย 8 เสาหลักที่มีความเชื่อมโยงกัน ดังนี้

  1. รัฐบาลที่ปฏิบัติงานได้ดีตามหน้าที่ (well-functioning government)
  2. ระดับการทุจริตคอร์รัปชันที่ต่ำ (low levels of corruption)
  3. สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก (strong business environment)
  4. การยอมรับสิทธิของผู้อื่น (acceptance of the rights of others)
  5. การกระจายทรัพยากรอย่างถ้วนหน้าและเสมอภาค (equitable distribution of resources)
  6. การแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี (free flow of information)
  7. การมีทุนมนุษย์อยู่ในระดับที่สูง (high levels of human capital) และ
  8. มิตรไมตรีอันดีกับเพื่อนบ้าน (good relationships with neighbours)

นั่นหมายความว่า ประเทศต่าง ๆ สามารถใช้ 8 เสาหลักนี้เป็นกรอบของเป้าหมายที่ถูกที่ควรไปสู่สันติภาพที่แท้จริง อนึ่ง หากประเทศนั้นสร้างสังคมสู่สันติภาพเชิงบวก ก็จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของประเทศในการปรับตัวและฟื้นตัวจากความผันผวนหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทางการเงิน ระบบนิเวศ หรือสังคมได้

03 ภาพรวมสันติภาพและมุมมองของประชาชนในเรื่อง ‘สันติภาพ’

ยุโรป ยังคงมีพัฒนาการไปในทางที่ดีและเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทนำในการคงไว้ซึ่งสันติภาพมากที่สุดของโลก โดยเฉพาะจากการก่อการร้ายและอาชญากรรมที่มีสัญญาณดีขึ้น แม้ว่าการไร้เสถียรภาพทางการเมือง การประท้วงที่ใช้ความรุนแรง ค่าใช้จ่ายทางการทหาร การนำเข้าอาวุธ และศักยภาพของอาวุธหนักและอาวุธนิวเคลียร์ จะเป็นตัวการถ่วงสันติภาพลงบ้าง

ขณะที่ทางฝากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle Eastern and North African – MENA) มีสัญญาณดีขึ้นมากที่สุดจากเหตุที่ความขัดแย้งซึ่งมีอยู่แต่เดิมระงับลงได้บ้าง แต่กระนั้นก็ยังถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพน้อยที่สุดอยู่ดี

นอกจากนั้น กลับพบว่าภูมิภาคที่ระดับสันติภาพตกต่ำลงมากที่สุดคือ อเมริกาเหนือ จากเหตุของการประท้วงที่ใช้ความรุนแรงและการไร้เสถียรภาพทางการเมืองเนื่องมาจากความไม่สงบในสังคม และ อเมริกาใต้ จากเหตุที่ระดับการไร้เสถียรภาพทางการเมือง ฆาตรกรรม และการประท้วงที่ใช้ความรุนแรงมีเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ความขัดแย้งใหม่ ๆ ในภูมิภาค แอฟริกาแถบซาเฮล แหลมแอฟริกา และแอฟริกาซับซาฮารา ยังคงปะทุขึ้น ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 65% ของความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงทั้งหมดของ GPI ปี 2564

ส่วนภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก มีระดับสันติภาพที่ตกลงเพียงเล็กน้อยที่ประมาณ 1.8% โดยมากเป็นเพราะความขัดแย้งภายในประเทศ การประท้วงที่ใช้ความรุนแรง และการไร้เสถียรภาพทางการเมือง ทว่าปัจจัยอย่างผลกระทบจากการก่อการร้ายมีพัฒนาการดีขึ้นเช่นเดียวกับทางยุโรป

ทั้งนี้ ‘เมียนมา’ ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีระดับสันติภาพตกต่ำลงมากที่สุดและมีสันติภาพน้อยที่สุดของเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะจากเหตุรัฐประหารเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่นำมาซึ่งความไม่สงบในสังคม การฆาตรกรรม การทรมาน และการบังคับให้สูญหายโดยรัฐ เป็นต้น

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่ :
SDG Updates | ข้อสังเกตต่อ SDGs ของเมียนมา ในวันที่แผนพัฒนาประเทศที่วางไว้อาจหยุดชะงัก
วิกฤติทางการเมืองในเมียนมาทำให้ประชากรอีก 3.4 ล้านคนต้องเผชิญกับ ‘ความหิวโหย’

อย่างไรก็ดี ระดับสันติภาพในภาพรวมทั่วโลกที่ลดลง 0.07% ซึ่งดูเหมือนเล็กน้อยนั้น ยังคงเป็นจำนวนที่มีความเข้มข้นและมีนัยสำคัญอยู่ โดยมี 87 ประเทศที่มีสันติภาพมากขึ้นซึ่งปัจจัยหลักมาจากด้านความขัดแย้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ยังดำเนินอยู่ รวมถึงผลกระทบจากการก่อการร้าย ขณะที่ประเทศที่มีสันติภาพลดลง มี 73 ประเทศ ด้วยสาเหตุด้านค่าใช้จ่ายทางการทหาร และความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม

10 ประเทศแรกที่มีสันติภาพ ‘มากที่สุด’ ในโลกปี 2564
1) ไอซ์แลนด์ 2) นิวซีแลนด์ 3) เดนมาร์ก 4) โปรตุเกส 5) สโลวีเนีย 6) ออสเตรีย 7) สวิตเซอร์แลนด์ 8) ไอร์แลนด์ 9) สาธารณรัฐเช็ก และ 10) แคนาดา

10 ประเทศสุดท้ายที่มีสันติภาพ ‘น้อยที่สุด’ ในโลกปี 2564
163) อัฟกานิสถาน 162) เยเมน 161) ซีเรีย 160) ซูดานใต้ 159) อิรัก 158) โซมาเลีย 157) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) 156) ลิเบีย 155) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และ 154) รัสเซีย

ปัจจัยบ่งชี้ที่มีผลทำให้ระดับสันติภาพ ‘ตกต่ำ’ มากที่สุด
ค่าใช้จ่ายทางการทหาร (105 ประเทศ)
การนำเข้าอาวุธ (90 ประเทศ)
การไร้เสถียรภาพทางการเมือง (46 ประเทศ)
การประท้วงที่ใช้ความรุนแรง (25 ประเทศ)

ปัจจัยบ่งชี้ที่มีผลทำให้ระดับสันติภาพ ‘ดีขึ้น’ มากที่สุด
การก่อการร้าย (115 ประเทศ) – เพราะเป็นเหตุของการเสียชีวิตที่ลดน้อยลงเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน
ความขัดแย้งภายในประเทศ (21 ประเทศ)
จำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งภายในประเทศ (33 ประเทศ)

ถึงกระนั้น ความรู้สึกและมุมมองของประชาชนที่มีต่อสันติภาพ ความมั่นคง และความปลอดภัยก็ต่างกัน ซึ่งในภาพรวม ทั่วโลกยังคงหวาดกลัวความรุนแรงอยู่มาก โดยมี 1 ใน 7 คนที่มองว่าความรุนแรง อาชญากรรม และการก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามมากที่สุดต่อความปลอดภัยของตนในแต่ละวัน เฉกเช่นที่ประชากรเกินครึ่งของประเทศอัฟกานิสถาน บราซิล แอฟริกาใต้ เม็กซิโก และสาธารณรัฐโดมินิกันมีความกังวลในข้อนี้ ขณะที่ 60% ของคนทั่วโลกกลัวอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ (violent crime) ทั้งยังมีในมิติทางเพศเช่นว่า ผู้หญิงรู้สึกกลัวความรุนแรงมากกว่าผู้ชาย 5% (ในรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ) ในทางตรงกันข้าม ราว 75% ของประชากรโลกกลับรู้สึกว่าสังคม ‘ปลอดภัย’ มากกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน

04 โลกมีสันติภาพหรือยัง? เมื่อสันติภาพและความมั่นคงของแต่ละประเทศ ‘มีไม่เท่ากัน’

ด้วยความที่แต่ละประเทศมีพัฒนาการด้านสันติภาพที่ดีขึ้นและตกต่ำลงที่แตกต่างกัน นั่นจึงเป็นจุดหนึ่งที่เราควรตระหนักเมื่อตั้งคำถามว่าตอนนี้สันติภาพของโลกเราอยู่ ณ จุดใด ซึ่ง GPI ก็ได้จัดทำข้อมูลช่วยชี้ให้เห็นว่าช่องว่างของประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุดกับที่มีสันติภาพน้อยที่สุดยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา  

ทั้งนี้ ยังเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดของประเทศที่เผชิญกับสงคราม เพราะการจะหลุดพ้นออกจาก ‘กับดัก’ และวังวนของความขัดแย้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และกับดักของความขัดแย้งนั้นยังเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาประเทศให้มีสันติภาพขึ้น อันจะนำไปสู่รากฐานของการพัฒนาในมิติอื่นต่อไปด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
SDG Updates | โลกไม่อาจยุติความหิวโหยได้ หากไม่สามารถยุติความขัดแย้ง และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น

05 ความมั่นคงและสันติภาพไม่ได้ตัดขาดจากหลักประกันสร้างความเป็นอยู่ที่ดี
เมื่อปัจจัยสร้างสันติภาพ ความขัดแย้ง และความรุนแรง มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจและการมีงานทำ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมีอย่างเช่น ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกลุ่ม 10 ประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุด อาทิ ซีเรีย ซูดานใต้ อัฟกานิสถาน และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักราว 81%, 42%, 40% และ 37% ของ GDP ประเทศตามลำดับ โดยหากเทียบความแตกต่างกับ 10 ประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุดหรือมีปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงน้อยที่สุด ปัญหาความขัดแย้งที่พบในประเทศเหล่านี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่า 4% ของ GDP โดยเฉลี่ยเท่านั้น

ซึ่งในภาพรวมปี 2563 ผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นคิดเป็น 14.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 11.6% ของ GDP โลก โดยสาเหตุอันดับหนึ่งมาจาก ‘ค่าใช้จ่ายทางการทหารในโลก’ ที่สูงขึ้น 3.7% และส่งผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุดที่ 42.9% ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ 31.3% ค่าใช้จ่ายของบริษัทให้การรักษาความปลอดภัย (7.9%) ฆาตกรรม (6.7%) การฆ่าตัวตาย (4.6%) อาชญากรรมอุกฉกรรจ์ (3.1%) ความขัดแย้ง (3.0%) และอื่น ๆ (0.6%)

นอกจากนี้ หากมองในแง่ความสัมพันธ์ของการมีและคงไว้ซึ่งสันติภาพเชิงบวกกับมิติทางเศรษฐกิจ จะพบว่า ประเทศในกลุ่ม OECD ซึ่งมีระดับสันติภาพสูง มีเศรษฐกิจที่ ‘มั่นคง’ และยืดหยุ่นพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าประเทศที่มีระดับสันติภาพต่ำกว่า ทั้งยังมีอัตราการว่างงานน้อยกว่า 7% เมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 23% ในประเทศที่มีระดับสันติภาพเชิงบวกต่ำ และประเทศที่มีระดับสันติภาพสูงยังจะสามารถบรรลุการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth per Annum) ได้มากถึง 3 เท่า มากกว่าประเทศที่ระดับสันติภาพย่ำแย่ลง และเป็นไปได้ว่าจะฟื้นตัวจากโรคระบาดกลับมาได้ดีด้วย

06 โควิด-19: ตัวเร่งปฏิกิริยาการประท้วงและความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มขึ้น

GPI ซึ่งเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม 2563 – เมษายน 2564 พบว่าจากต้นเหตุที่เศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพในหลาย ๆ ประเทศ ไม่มีมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และความรู้สึกอัดอั้นจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อตอบสนองต่อโควิด-19 ล้วนนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนหรือการต่อต้านรัฐบาล จนเกิดการประท้วงราว 15,000 ครั้ง รวมทั้งการประท้วงที่ใช้ความรุนแรง การก่อจลาจล หรือเหตุความรุนแรงอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับโรคระบาดกว่า 5,000 ครั้ง ใน 158 ประเทศคิดเป็น ‘การประท้วง’ เพิ่มขึ้นทั่วโลก 10% – และในจำนวนนี้ นับรวมถึงการประท้วง Black Lives Matter, การประท้วงของชาวนาอินเดีย, และนโยบายด้านเศรษฐกิจในอเมริกาใต้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การประท้วงถือเป็นภาพสะท้อนของ ‘การไร้เสถียรภาพทางการเมือง’ ในอีกทางหนึ่ง ยังเป็นเทรนด์ของการประเมินสันติภาพ จากเดิมที่ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง (violent conflicts) เคยเป็นความกังวล แต่ขณะที่ประเด็นนี้มีพัฒนาการดีขึ้น ‘การประท้วงที่ใช้ความรุนแรง’ (violent demonstrations) กลับมีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงของโรคระบาดยังมีจำนวนข้อกล่าวหาชาวเอเชียที่สูงขึ้นด้วย ตามดัชนีนี้ระบุว่า ในปี 2563 85% ของชาวเอเชียน-ออสเตรเลียนประสบกับการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาด ขณะที่ในเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา พบว่ามีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime) เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจที่ 717% นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลและความรุนแรงภายในครอบครัวยังมีเพิ่มขึ้น และคาดว่าการกักตัวและความตึงเครียดทางการเงินอาจจะมีผลกระทบต่ออัตราการฆาตรกรรมด้วยเช่นกัน

ในรายงาน GPI ยังได้ประเมินว่าหากสภาพเศรษฐกิจหรือสภาพการณ์อื่นดังที่กล่าวไว้ยังคงเป็นเช่นเดิมต่อไป มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความวุ่นวายในสังคมและการประท้วงเพิ่มขึ้น และอาจจะรุนแรงขึ้นเป็นรูปแบบเหมือนกับระดับก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ในทางกลับกัน เพื่อที่จะหาทางออกให้กับปัญหานี้ ก็ต้องกลับมาที่ ‘การฟื้นฟูเศรษฐกิจ’ ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก กล่าวคือ เป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ที่จะเกิดความวุ่นวายในสังคมหรือไม่

07 ‘ยุทธาภิวัฒน์’ (Militarization) ยังคงเดินหน้า พร้อมกับความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจ (major powers)

อันที่จริงกลุ่มปัจจัยบ่งชี้ ‘ยุทธาภิวัฒน์’ หรือการขยายอิทธิพลทางการทหารเคยพัฒนาดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2551 แต่กลับมามีระดับสูงขึ้นในช่วงมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากการที่หลายประเทศเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการทหารและเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ ตั้งแต่ช่วง 2 ปีก่อน สหรัฐฯ จีน เยอรมัน และเกาหลีใต้ได้เพิ่มค่าใช้จ่ายทางการทหารสูงที่สุดในโลก ส่วนในปี 2563 พบว่ามีถึง 97 ประเทศด้วยกันที่ขยายอิทธิพลทางการทหารมากขึ้น มีถึง 105 ประเทศที่เพิ่มค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อ GDP ของประเทศ ขณะที่ในภาพรวมของโลก ค่าใช้จ่ายทางการทหารที่เพิ่มสูงขึ้นมากยังเป็นสาเหตุหลักของผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจมากที่สุดอีกด้วย

นอกจากนี้ ทางผู้จัดทำ GPI ประเมินว่าการที่โลกมีความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย องค์การนาโต และสหรัฐฯ และกลุ่มที่สอง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และประเทศเอเชียอื่น ๆ จะทำให้เทรนด์ของการคงไว้ซึ่งยุทธาภิวัฒน์มีอยู่ต่อไป และอาจจะย่ำแย่ลงในอนาคต

จนอาจกล่าวได้ว่า ในปีนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีสันติภาพหรือไม่มีสันติภาพที่เด่นชัดมากที่สุด คือ 1) การประท้วงของประชาชน/ความไม่สงบในสังคม/การไร้เสถียรภาพทางการเมือง และ 2) ยุทธาภิวัฒน์/การขยายอิทธิพลทางการทหาร

08 หันมามองไทย เรามีสันติภาพและความมั่นคงหรือไม่ตามการประเมินของ GPI

ประเทศไทยได้ใช้ดัชนี GPI เป็นตัวประเมินเป้าหมายหลัก ‘ประเทศชาติมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับเพิ่มขึ้น’ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ‘เป้าหมายหลัก’ (เป้าหมายระดับประเด็น) ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ประเด็นที่ (1) ความมั่นคง โดยเป้าหมายของประเทศคือการมุ่งไปสู่การถูกจัดอันดับเป็น 1 ใน 75 ของโลกภายในปี 2565 จากการ…

‘บริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ปัญหาภัยคุกคามด้านความมั่นคง ส่งผลกระทบต่อการบริหารและการพัฒนาประเทศ และเอื้อต่อการดำเนินการของยุทธศาสตร์ชาติด้านอื่น ๆ ให้ขับเคลื่อนไปตามทิศทางและเป้าหมายที่กำหนดได้ ภายใต้หลักความมั่นคงแบบองค์รวม (comprehensive security)’

อย่างไรก็ดี ผลงานที่ผ่านมาของไทยตามการจัดอันดับของ GPI พบว่า

  • ปี 2557 – ไทยอยู่ในอันดับที่ 126 / 162 ประเทศที่ทำการสำรวจ
  • ปี 2558 – ไทยอยู่ในอันดับที่ 126 / 162 ประเทศที่ทำการสำรวจ
  • ปี 2559 – ไทยอยู่ในอันดับที่ 125 / 163 ประเทศที่ทำการสำรวจ
  • ปี 2560 – ไทยอยู่ในอันดับที่ 120 / 163 ประเทศที่ทำการสำรวจ
  • ปี 2561 – ไทยอยู่ในอันดับที่ 113 / 163 ประเทศที่ทำการสำรวจ
  • ปี 2562 – ไทยอยู่ในอันดับที่ 116 / 163 ประเทศที่ทำการสำรวจ
  • ปี 2563 – ไทยอยู่ในอันดับที่ 114 / 163 ประเทศที่ทำการสำรวจ
  • ปี 2564 – ไทยอยู่ในอันดับที่ 113 / 163 ประเทศที่ทำการสำรวจ

และด้วยเหตุนี้ รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2562 และ 2563 จึงสรุปภาพรวมให้เห็นว่า สถานะของเป้าหมาย ‘ประเทศชาติมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับเพิ่มขึ้น’ โดยใช้ดัชนี GPI นั้น ไทยเรายังอยู่ในขั้นวิกฤติติดต่อกันถึง 2 ปี (สีแดง)

โดยที่ล่าสุด รายงานดัชนี GPI ในปีนี้ได้ระบุถึงไทยว่า ส่วนหนึ่งที่เป็นที่มาของอันดับที่ 113 จาก 163 ประเทศ เพราะ ‘มีการประท้วงในลักษณะที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นจากการประท้วงของมวลชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2557, และเพื่อตอบโต้การประท้วงนี้ รัฐบาลได้หันกลับมาใช้กฎหมายหมิ่นประมาท ม. 112 ที่ห้ามไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ เป็นการตอบโต้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักกิจกรรม… ต่อเนื่องจากนั้น ยังมีการประท้วงเป็นระลอกเพราะความไม่พึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการจัดการการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล’

09 สันติภาพและความผาสุกที่แท้จริงของประชาชนหน้าตาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะนับจากก้าวของมาตรการล็อคดาวน์เพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด-19

Steve Killelea ผู้ก่อตั้งสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics and Peace – IEP) ซึ่งจัดทำดัชนีสันติภาพโลก หรือ GPI นี้ อธิบายว่า ขณะที่คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าการจะได้มาซึ่งสันติภาพ คือ จะต้องไม่มีความขัดแย้งหรือความรุนแรงเลย (สันติภาพเชิงลบ – Negative Peace) แต่สิ่งนี้เป็นสันติภาพที่ไม่สมบูรณ์และไม่ยั่งยืน ‘เพราะเพียงเสียงปืนที่หยุดยิง ไม่ได้หมายความว่าเราได้มาซึ่งสันติภาพแล้ว’ หากมันยังทำให้ผู้คนยังคงรู้สึกหวาดกลัวกับภัยอันตรายหรืออาชญากรรมอยู่

และสันติภาพเชิงลบที่ว่านั้น เป็นวิธีการที่ปิดกระบวนการสร้างสันติภาพและการพัฒนา ปิดช่องทางการรื้อโครงสร้างสังคมเสียใหม่ให้มีศักยภาพ สันติภาพเชิงลบไม่ได้อธิบายต่อว่า จะสามารถสร้างสันติภาพที่พร้อมรับกับความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งแกร่งได้อย่างไร (resilient peace) และไม่ได้อธิบายว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของคน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้อย่างไร

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ‘สันติภาพ’ เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าไม่มีสันติภาพ ก็ไม่อาจนำมาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือ คำถามสำคัญคือสันติภาพต้องเป็นแบบใด สันติภาพเชิงลบที่ไม่สามารถอธิบายถึงการสร้างสังคมที่ครอบคลุมทุกคนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ หรือสันติภาพเชิงบวกที่เสนอ 8 เสาหลักเพื่อค้ำจุนความสงบสุขและครอบคลุมเอาไว้ และเมื่อประเทศนั้น ๆ เลือกทางใดทางหนึ่ง นั่นหมายถึงการเลือกวิธีการพัฒนา การใช้นโยบาย และการนำทรัพยากรมาใช้เพื่อสร้างสังคมเช่นนั้น

เช่นเดียวกันกับมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการฟื้นฟูจากโควิด-19 Steve Killelea ระบุว่า รัฐบาลต่าง ๆ ควรจะตั้งคำถามถึงสันติภาพ – สันติภาพเชิงบวก กับ สันติภาพเชิงลบ – ว่าควรจะเลือกสันติภาพแบบไหนเพื่อสร้างสังคมให้กลับมามั่งคั่งและมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อเราทราบว่าปัจจัยที่นำไปสู่จำนวนการประท้วงและความไม่พึงพอใจของประชาชนทั่วโลกมาจากมาตรการต่าง ๆ ที่ในปีที่ผ่านมานานาประเทศใช้ ขณะเดียวกันในหลาย ๆ ประเทศแม้กระทั่งประเทศตะวันตกซึ่งดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตย นอกจากกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่มีเสถียรภาพ ประชาชนยังได้ตั้งคำถามถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เสรีภาพของสื่อมวลชน การมีประชาธิปไตย และความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นนั้น เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งต้องเร่งแก้ไขในระยะยาว มิเช่นนั้นเทรนด์ของสันติภาพอย่างที่เราเห็นในวันนี้ ก็จะมีต่อไป

Steve Killelea และสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ มองว่า สันติภาพเชิงบวกกับ 8 เสาหลักในการรื้อสร้างระบบระเบียบในสังคมเสียใหม่ เป็นทางออกที่จะนำไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องในช่วงเวลาที่มีแต่ความผันผวนและไม่แน่นอนเช่นนี้


องค์การสหประชาชาติอธิบายความสำคัญของ #SDG16 ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเอาไว้ว่า

รัฐบาล ภาคประชาสังคม และชุมชน ต้องทำงานร่วมกันในการหาโซลูชันเพื่อลดความรุนแรง โซลูชันที่จะนำมาซึ่งความยุติธรรม ต่อสู้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างหลักประกันให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมในทุกเวลา สถาบันระดับท้องถิ่นและระดับชาติจะต้องมีความรับผิดรับชอบ และจะต้องจัดหามาซึ่งบริการขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคนอย่างเสมอภาค และต้องไม่มีการจ่ายใต้โต๊ะหรือติดสินบน

อนึ่ง ความรุนแรงโดยใช้อาวุธและความไม่มั่นคงมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการพัฒนาของประเทศ กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดความสูญเสียในชุมชน ความรุนแรงกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ความเป็นอยู่ที่ดี และความสามารถ ความรุนแรงสร้างบาดแผลและทำให้สังคมอ่อนแอ ขณะที่การที่ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ สะท้อนว่าความขัดแย้งยังไม่ถูกแก้ไข และประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง สถาบันที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามหน้าที่ เกิดจากการที่กฎหมายถูกนำไปใช้ตามอำเภอใจ มีการใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ และมีศักยภาพที่ต่ำในการให้บริการสาธารณะกับประชาชนทุกคน

ส่วนการที่กีดกันคนอื่นออกไปจากสังคมและการเลือกปฏิบัติ ไม่เพียงแต่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่มักนำมาซึ่งความไม่พอใจและความเกลียดชัง และอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้

ดังนั้น การใช้และคงไว้ซึ่ง ‘สิทธิ’ ให้เจ้าหน้าที่ (ที่ได้รับการเลือกตั้งมา) ต้องรับผิดรับชอบในการกระทำเป็นสิ่งที่ต้องทำ ประชาชนต้องใช้สิทธิในด้านเสรีภาพของข้อมูลและการแลกเปลี่ยนความเห็น ต่อผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง พร้อมกับจะต้องส่งเสริมสังคมให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ รสนิยมทางเพศ และความคิดเห็น

และหากเราทำได้เช่นนั้น ก็จะสามารถนำไปสู่การมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน

แหล่งที่มา:
PEACE, JUSTICE, AND STRONG INSTITUTIONS: WHY THEY MATTER (UN)
Global Peace Index 2021 (Institute for Economics & Peace)
Global Peace Index 2021 Briefing (Institute for Economics & Peace)
Global Peace Index 2021 — A Year of Civil Unrest (visionofhumanity.org)
World less peaceful as civil unrest and political instability increases due to COVID-19 (visionofhumanity.org)
Why we need a new definition of peace (visionofhumanity.org)
รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจําปี 2562 (สภาพัฒน์)
รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจําปี 2563 (สภาพัฒน์)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น