กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั้ง คำประกาศสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ปี 1948 (United Nations Universal Declaration of Human Rights 1948) และใน สัตยาบันระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมปี 1966 (International Covenant of Economic, Social and Cultural Rights 1966) ได้รับรองการมีมาตรฐานการดำรงชีพที่พอเพียง และการมี ‘ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ‘ หรือ ‘adequate housing’ เป็นสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน
ที่อยู่อาศัยที่ [มีมาตรฐาน] เพียงพอ ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นสถานที่พักที่มีผนังสีด้านและหลังคากันแดดกันฝนเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปตามองค์ประกอบที่อธิบายไว้ใน ข้อคิดเห็นทั่วไปที่ 4 ของของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ว่าด้วย สิทธิในการมีที่อยู่อาศัยที่พอเพียง (General Comment No. 4, of the Committee on Economic, Social and Cultural Rights, on the Right to Adequate Housing) ทั้ง 7 ประการ ดังต่อไปนี้
- มีความมั่นคงตามกฎหมาย ซึ่งรับประกันความคุ้มครองทางกฎหมายของผู้อยู่อาศัยจากการถูกบังคับขับไล่ การล่วงละเมิด และภัยคุกคามอื่น ๆ
- มีความพร้อมของบริการพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเข้าน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย สุขาภิบาลที่เพียงพอ เชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร การให้ความร้อน แสงสว่าง การจัดเก็บอาหารหรือการกำจัดขยะ
- มีราคาที่สามารถในการจ่ายได้ โดยต้นทุนของการมีที่อยู่ศัยต้องไม่ทำให้ผู้อยู่อาศัยลำบากจนไม่สามารถใช้สิทธิอันพึงมีด้านอื่นๆ ได้
- มีความเป็นอยู่อาศัยที่มีคุณภาพ โดยต้องสามารถรับประกันความปลอดภัยทางกายภาพของผู้อยู่อาศัยหรือจัดให้มีพื้นที่เพียงพอ เช่นเดียวกับการป้องกันความหนาวเย็น ความชื้น ความร้อน ฝน ลม ภัยคุกคามอื่นๆ ต่อสุขภาพและอันตรายด้านโครงสร้าง
- มีความสามารถในการเข้าถึงได้ ด้วยการคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ และกลุ่มคนต่างๆ เช่น คนยากจน คนที่ถูกเลือกปฏิบัติ ผู้พิการ ผู้ประสบภัยธรรมชาติ
- มีที่ตั้งที่เหมาะสม ไม่ถูกตัดขาดจากการเข้าถึงโอกาสในการจ้างงาน สถานที่ให้บริการด้านสุขภาพ โรงเรียน ศูนย์ดูแลเด็ก และสิ่งอำนวยความสะดวกทางสังคมอื่น ๆ และต้องไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่อันตรายหรือมีการปนเปื้อนหรือใกล้กับแหล่งมลภาวะ
- มีความพอเพียงทางวัฒนธรรม ต้องเคารพและคำนึงถึงการแสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนกลุ่มต่างๆ
โดยในเกณฑ์ทั้ง 7 ประการนี้ ‘ความสามารถในการจ่ายได้’ หรือ (Housing Affordability) ไม่เพียงเป็นเกณฑ์ที่บอกถึง ‘ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ’ เท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีในการประเมินความเพียงพอของที่อยู่อาศัยในลักษณะที่ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากประเด็นความสามารถในการจ่ายได้นี้ยังคงเป็นความท้าทายจากการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในระดับรายได้ใดก็ตาม และเป็นประเด็นที่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในเมือง (Urban Inequality) ให้กว้างมากขึ้นอีกด้วย
การใช้จ่ายของครัวเรือนเพื่อการมีที่อยู่อาศัย ไม่ควรทำให้ผู้อาศัยเสียโอกาส หรือไม่สามารถเข้าถึงความต้องการพื้นฐานอื่นๆ ในการใช้ชีวิตได้ เช่น ความสามารถใจการซื้อหาอาหารที่ดี ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา การเข้าถึงสุขภาพ การเดินทางขนส่ง เป็นต้น หรือภาระด้านค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ควรสูงเกินไป จนสุดท้ายผลักให้หลายคนกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด โดย ตามข้อมูลของ UN-Habitat ระบุว่า ‘ที่อยู่อาศัยในราคาที่สามารถจ่ายได้‘ หรือ ‘affordable housing’ คือเมื่อค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่เรียกว่าอยู่ในระดับจ่ายได้ จะต้องไม่เกิน 30% ของรายได้รวมของครัวเรือนต่อเดือน
อ่านเพิ่มเติม SDG Updates | พรุ่งนี้เรายังจะมี ‘ที่อยู่’ ไหม? เมื่อราคาที่อยู่อาศัยไม่สัมพันธ์กับรายได้ และจำนวนไม่น้อย ‘เช่า’ เขาอยู่
‘ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอและในราคาที่สามารถจ่ายได้’ ปรากฏใน ‘#SDG11 – (11.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและ การบริการพื้นฐานที่เพียงพอ ปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด ภายใน ปี 2573’
Target 11.1: By 2030, ensure access for all to adequate, safe and affordable housing and basic services and upgrade slums
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา :
Metada Indicator 11.1.1 (UNStats)
The Right to Adequate Housing (UN Habitat)