ความรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนวหน้าที่เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การขาดแคลนกำลังคนในภาคสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนายังถูกซ้ำเติมด้วยการย้ายถิ่นของบุคลาการทางแพทย์เพื่อไปทำงานในต่างประเทศจำนวนมาก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย ทำให้หลายประเทศเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าความรุนแรงของการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ได้คร่าชีวิตบุคลากรทางการแพทย์ไปแล้วอย่างน้อย 115,000 ราย เฉพาะภายในเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา
การเสียชีวิตและการย้ายถิ่นฐานของบุคลากรทางการแพทย์ แม้เพียงหนึ่งคนสำหรับในประเทศที่มีระบบสุขภาพมีความเปราะบางมากอยู่แล้ว เช่น ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ย่อมก่อให้เกิดช่องว่างทางความรู้ที่สามารถช่วยรักษาชีวิตคนไว้ได้ โดยปัจจัยที่ทำให้กำลังคนภาคสุขภาพไหลออกจากภูมิลำเนาไปทำงานในประเทศที่ร่ำรวย คือ เพื่อแสวงหาสภาพแวดล้อมในการทำงานและค่าตอบแทนที่ดีกว่า
ในประเทศพัฒนาแล้ว สัดส่วนของแพทย์และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมจากต่างประเทศ หรือเกิดที่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ตามข้อมูลสรุปจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม พบว่า แพทย์เกือบ 25% และพยาบาล 16% ในกลุ่มประเทศสมาชิกมีภูมิลำเนาจากประเทศอื่น และรายงานยังพบความพยายามของประเทศร่ำรวยในการดึงดูดกำลังคนจากประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศตนมากขึ้น
ข้อมูลของ OECD แสดงให้เห็นว่า จำนวนพยาบาลที่ทำงานในประเทศชั้นนำมาจากฟิลิปปินส์มากที่สุด ในขณะที่แพทย์และพยาบาลจากอินเดียมีการย้ายถิ่นไปยังประเทศร่ำรวยมากเป็นอันดับสอง และด้วยอัตราการย้ายถิ่นของแพทย์และพยาบาลจากประเทศในแอฟริกาและละตินอเมริกาบางประเทศสูงถึง 50% อาจหมายความว่าแพทย์ที่เกิดในประเทศเหล่านี้กำลังทำงานในประเทศกลุ่ม OECD มากกว่าในประเทศภูมิลำเนา
ในระบบสุขภาพที่เปราะบาง การสูญเสียองค์ความรู้เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนหรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีเสียชีวิตอาจส่งผลกระทบในระยะยาว และการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการย้ายถิ่นของแพทย์สร้างต้นทุนให้ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อยมากถึง 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั่วโลกจึงเร่งหาทางเพื่อปกป้องการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปกับการระบาดใหญ่ และสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่ย้ายไปทำงานประเทศอื่น โดยเฉพาะผู้หญิง ที่เป็นกำลังสำคัญในภาคบริการด้านสุขภาพและการดูแลทั่วโลก
Women in Global Health เครือข่ายระหว่างประเทศที่สนับสนุนความเท่าเทียมได้ร่วมกันเปิดตัวสิ่งที่เรียกว่า “สัญญาทางสังคมฉบับใหม่สำหรับบุคลากรหญิงในภาคสุขภาพและการดูแล” หรือ ‘Gender Equal Health and Care Workforce Initiative’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง WHO Women in Global Health และรัฐบาลฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างนโยบายในการปกป้องกำลังคนด้านสาธารณสุข
ทางกลุ่มได้เรียกร้องให้มีการตั้งคำถามถึงสภาพแวดล้อมการทำงานและความเท่าเทียมกันระหว่างบุคลากรด้านสุขภาพหญิงชายในที่ทำงาน การได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม การเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการให้คุณค่าและการตอบแทนบุคลากรหญิงในภาคสุขภาพและการดูแลอย่างเป็นรูปธรรม
การย้ายถิ่นฐานของกำลังคนด้านการแพทย์ เกี่ยวข้องกับ SDGs ใน - #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ใน ส่งเสริมเพิ่มการใช้งบประมาณด้านสุขภาพ การสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน การรักษา ‘กำลังคน’ ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (3.c) - #SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ ใน ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง (5.1) - #SDG8 งานที่ดีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ใน การบรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมและมีผลตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน (8.5) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม (8.8)
ที่มา : Migration and Covid deaths depriving poorest nations of health workers (The Guardian)