คณะกรรมมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป เผยแพร่ ข้อเสนอชุดนโยบายด้านกฎหมายพลังงานและสภาพภูมิอากาศ ‘Fit 55’ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทั้งหมด 27 ประเทศสหภาพยุโรปลงให้ได้ 55% จากระดับในปี 1990 ให้สำเร็จภายในปี 2030 ที่จะถึงนี้ และมุ่งมั่นที่จะเป็นภูมิภาคแรกของโลกที่เป็นกลางทางด้านสภาพภูมิอากาศ (climate neutral) หรือ การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ชุดข้อเสนอนี้ ประกอบด้วยแผนการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่แล้วและกำหนดกฎหมายใหม่ รวมทั้งหมด 13 ฉบับ โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้
การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเดิมที่บังคับใช้อยู่แล้วในสหภาพยุโรป
- การแก้ไขมาตรการตลาดคาร์บอนเครดิตในสหภาพยุโรป (Emission Trading Scheme: (EU ETS)
ETS เป็นกลไกการตลาดที่กำหนดราคาคาร์บอนที่ปล่อยเกินกำหนดจากภาคพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต รวมไปถึงการบินภายในสหภาพยุโรป ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในภูมิภาคด้วยการค่อยๆ ลดเพดานลงเรื่อย ๆ โดยมีเป้าหมายเดิมที่การลดคาร์บอน 40% ภายในปี 2030 สำหรับการแก้ไขมาตรการใหม่มีเป้าหมายใหม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 55% ภายในปี 2030 - การแก้ไขกฎระเบียบการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการทำป่าไม้ (Land Use, Land-Use Change and Forestry: LULUCF)
คณะกรรมมาธิการจะปรับปรุงกฎระเบียบที่ควบคุมการใช้ที่ดินการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการทำป่าไม้ เนื่องจากเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปในครั้งนี้ พิจารณาถึงการเพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนให้ได้ถึง 300 ล้านตัน จากเป้าหมายปัจจุบันที่ 225 ล้านตัน - การแก้ไขกฎระเบียบว่าด้วยการกําหนดสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิก (Effort Sharing Regulation: ESR)
ESR เป็นกลไกที่ทำงานควบคู่ไปกับ ETS โดยกําหนดสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิกซึ่งครอบคลุม ภาคการเกษตร การขนส่ง อาคาร และการปล่อยของเสีย หรือประมาณ 60% ของการปล่อยคาร์บอนในยุโรป ระเบียบนี้จะครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ ที่เหลือจาก ETS และกำหนดเป้าหมายที่มีผลผูกพันสำหรับแต่ละประเทศในสหภาพยุโรปโดยขึ้นอยู่กับ GDP ของประเทศนั้นๆ - การแก้ไขข้อกำหนดด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Directive : RED)
เป้าหมายของสหภาพยุโรปที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้น ในปี 2018 สหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานของยุโรปไว้ที่ 32% ภายในปี 2030 จะมีการปรับเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า เป็น 38-40% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศใหม่นี้ - การแก้ไขข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency Directive : EED)
ข้อกำหนดนี้มีการแก้ไขล่าสุดเมื่อปี 2018 โดยมีเป้าหมายเพื่อประหยัดการใช้พลังงานให้ได้อย่างน้อย 32.5% ภายในปี 2030 ปัจจุบันเป้าหมายนี้ไม่มีผลผูกพัน แต่คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังวางแผนที่จะทำให้เป็นภาระผูกพันทางกฎหมายของทุกประเทศสมาชิก - การแก้ไขคำสั่งการใช้โครงสร้างพื้นฐานเชื้อเพลิงทางเลือก (Alternative Fuels Infrastructure Directive : AFID)
สหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จและการเติมเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ ให้เพียงพอ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศจะเพิ่มจำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าเป็น 1 ล้านจุดภายในปี 2025 และให้มากถึง 3 ล้านจุดภายในปี 2030 - การแก้ไขระเบียบกำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับรถยนต์และรถตู้ (CO2 emission standards for cars and vans)
คณะกรรมาธิการเสนอให้ปรับปรุงกฎระเบียบกำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ใหม่ที่ขายในยุโรปให้ได้ 55% ภายในปี 2030 และเพิ่มเป็น 100% ภายในปี 2035 และมีบทลงโทษหนักสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่ไม่ทำตามเป้าหมาย - การแก้ไขข้อกำหนดการจัดเก็บภาษีพลังงาน (Energy Taxation Directive : ETD)
การจัดเก็บภาษีพลังงานมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับปรุงการใช้พลังงาน ข้อกำหนดใหม่จะเชื่อมโยงอัตราภาษีกับปริมาณพลังงานและประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมของเชื้อเพลิงและไฟฟ้า แต่อัตราภาษีนี้ไม่ได้รับการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อมาตั้งปี 2003
ข้อเสนอกฎหมายใหม่
- ยุทธศาสตร์ป่าไม้ใหม่ของสหภาพยุโรป
คณะกรรมาธิการวางแผนที่จะใช้กฎการกำกับดูแลที่เข้มงวดและโปร่งใสมากขึ้นสำหรับการทำป่าไม้ รวมถึงมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการปลูกต้นไม้ ส่งเสริมการติดตามดูแลป่าไม้ให้ดีขึ้น และเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ไม้ทดแทนคอนกรีตในการก่อสร้าง - ข้อเสนอการแก้ไขแนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)
มาตรการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมภาคธุรกิจในยุโรปจากการขนส่งของเสียข้ามพรมแดนและป้องกันปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน (carbon leakage) เมื่อมีการย้ายฐานการผลิตหรือโรงงานใหม่ไปต่างประเทศเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง - มาตรการช่วยเหลือเชิงสังคมต่อการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ
คณะกรรมาธิการยุโรปวางแผนจัดตั้งกองทุนเพื่อสังคมเพื่อการดำเนินการด้านภูมิสภาพอากาศ (Climate Action Social Facility) เพื่อจัดการกับผลกระทบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นกับครัวเรือน เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงขึ้น - ReFuelEU Aviation – เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน
เพื่อเพิ่มอุปทานเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAFs) สหภาพยุโรปถูกกำหนดให้เครื่องบินทุกลำที่ออกจากสนามบินในสหภาพยุโรปจะต้องเติมเชื้อเพลิง SAFs ซึ่งทำจากเชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูงและเชื้อเพลิงไฟฟ้าหมุนเวียน ปัจจุบันมีการใช้เชื้อเพลิงการบินนี้ในสหภาพยุโรปน้อยกว่า 1% - FuelEU Maritime – ทำให้พื้นที่ทางทะเลของยุโรปเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คณะกรรมาธิการมุ่งมั่นที่จะลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการเดินเรือ โดยเพิ่มการใช้และการผลิตเชื้อเพลิงทางเลือกที่ยั่งยืน โดยคาดว่าจะมีการสนับสนุนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในส่วนผสมเชื้อเพลิงของการขนส่ง โดยระบุว่า LNG เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ข้อเสนอกฎหมายและนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกี่ยวข้องกับ #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ (13.2)
ที่มา :
Europe’s ‘Fit for 55’ climate package: What to expect (EURActive)
Q&A: How ‘Fit for 55’ reforms will help EU meet its climate goals (CarbonBrief)