WHO เตือน ผู้ติดเชื้อ HIV มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปเกือบ 25% เมื่อติดเชื้อโควิด-19

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกรายงาน ‘Clinical features and prognostic factors of COVID-19 in people living with HIV hospitalized with suspected or confirmed SARS-CoV-2 infection’ ซึ่งเก็บข้อมูลจาก 37 ประเทศ ว่าด้วยการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยร่วมสำคัญของการติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้เสียชีวิต โดยรายงานกล่าวว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล 

จากรายงานพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีความเสี่ยงของอาการโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเพศชายอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยร่วมที่ทำให้อาการโรคโควิด-19 มีความรุนแรงจนนำไปถึงการเสียชีวิตมากขึ้น

แม้ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การติดเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาด้านสุขภาพระดับโลกซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 34 ล้านคนทั่วโลก  ดังนั้น ปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีจึงควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนหากต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 โดยการส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงยาต้านรีโทรไวรัส (ARV) ให้มากขึ้นและจัดการอาการโรคประจำตัวที่มีอย่างเหมาะสม รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรถูกจัดลำดับเป็นหนึ่งในกลุ่มสำคัญสำหรับการรับวัคซีนโควิด-19  ซึ่งจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกอย่างไม่เป็นทางการใน 100 ประเทศ กล่าวว่ามี 40 ประเทศที่ให้ความสำคัญกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการได้รับวัคซีนเป็นลำดับต้นๆ

ผู้อำนวยการโครงการ Global HIV, Hepatitis และ STI ขององค์การอนามัยโลก Dr. Meg Doherty ได้กล่าวว่า “รายงานที่ได้เผยแพร่ในวันนี้มีความสำคัญในเชิงนโยบาย โดยให้ข้อมูลที่สำคัญว่าการติดเชื้อเอชไอวีคือความเสี่ยงต่อการเกิดผลลัพธ์[ด้านสุขภาพ]ที่ย่ำแย่จากโควิด-19 และเพิ่มความเร่งด่วนในการดูแลรักษาและฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี”

ทั้งนี้ องค์กรอนามัยโลกได้ออกคู่มือ ‘Consolidated guidelines on HIV prevention, testing, treatment, service delivery and monitoring: recommendations for a public health approach’ ซึ่งคู่มือนี้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันและตรวจสอบการติดเชื้อเอชไอวี และการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีบนหลักฐานสนับสนุนมากกว่า 200 ชิ้น โดยทาง WHO คาดหวังว่าคู่มือฉบับนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ทำให้การรักษามีความล่าช้า เพราะบุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญหน้ากับโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดอย่างไม่สิ้นสุด

อ่านรายงานฉบับเต็มที่ : https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/342697/WHO-2019-nCoV-Clinical-HIV-2021.1-eng.pdf


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDG
#SDG 3 มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
3.3 ยุติการแพร่กระจายของโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และยับยั้งการแพร่เชื้อ โรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆภายในปี 2573

ที่มา : WHO

Author

  • Itthiporn Teepala

    Knowledge Communication [Intern] สนใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความรวดเร็ว มีผลกระทบต่อความยั่งยืนหรือมั่นคงในด้านต่าง ๆ อย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น